จรรยาบรรณวิชาชีพครูและวินัย

จรรยาบรรณวิชาชีพครูและวินัย

จรรยาบรรณวิชาชีพครูและวิ

วิชาชีพชั้นสูงใดๆก็ตาม  ไม่ใช่เป็นการรวมกลุ่มของบุคคลซึ่งประกอบด้วยอาชีพเดียวกันหรือปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิกในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น  แต่ยังต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องความสามรถและคุณภาพของสมาชิกในวิชาชีพนั้นๆด้วย  จึงมักมีการกำหนดข้อห้ามมิให้สมาชิกระทำหรือประพฤติ  อันจะก่อให้เกิดความเสียหาย  เสื่อมเสียต่อวิชาชีพโดยส่วนรวมสิ่งที่ช่วยยับยั้งเตือนสติการกระทำนี้  คือ จรรยาบรรณของวิชาชีพ

อาชีพครูซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูงอาชีพหนึ่ง  จึงต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพครูด้วย  ในฐานะครูด้วย  ในฐานะครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์  ต้องมีกิริยามารยาทที่งดงาม  ครูต้องมีจรรยาบรรณและวินัยในตนเอง  เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการปฏิบัติตน

ความหมายและลักษณะของจรรยาบรรณวิชาชีพครู

พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน  พุทธศักราช  2525  ให้ความหมายของคำว่า  “จรรยาบรรณ” ไว้ว่าเป็นคำนาม หมายถึง  ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น  เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ  ชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก  อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้

สำนักงานก.พ.  กล่าวว่า “จรรยาบรรณ” หมายถึงประมวลคลวามประพฤติเพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและส่งเสริมชื่อเสียงเกียรติคุณ  เกียรติฐานะของข้าราชการพลเรือน  อันจะยังผลให้ผู้ประพฤติเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาและยกย่องของบุคคลทั่วไป

ไกรนุช  ศิริพูล (2531 : 113 )  กล่าวว่า  จรรยาบรรณของครู คือ  หนังสือหรือเอกสารที่ว่าด้วยกิริยา  ที่ครูควรประพฤติปฏิบัติ

ยนต์  ชุ่มจิ ต (25334 : 200)  กล่าวว่า  จรรยาบรรณของครู หมายถึง  ประมวลความประพฤติ  หรือกิริยาอาการที่ผู้ประกอบวิชาชีพครูควรประพฤติปฏิบัติ  เพื่อรักษา  ส่งเสริมเกียรติคุณ  และฐานะของความเป็นครู

กล่าวโดยสรุป  จรรยาบรรณของครู หมายถึงความประพฤติหรือกิริยาอาการที่ผู้ประกอบวิชาชีพครู  ควรประพฤติปฏิบัติ  เพื่อให้เกิดความดีงามขึ้นแก่ตนเองและวิชาชีพครู มาตรฐานวิชาชีพครู

แนวทางการดำเนินงานที่กล่าวมาแล้วโดยเฉพาะ การควบคุม และรักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพ เป็นเรื่องที่เพิ่มจะกำหนดให้มีการดำเนินงานครั้งแรกในวิชาชีพครู โดยกำหนดให้มีการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพ

มาตรฐาน วิชาชีพครู เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับ คุณลักษณะและคุณภาพที่พึงประสงค์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในการประกอบวิชาชีพครู โดยผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องนำมาตรฐานวิชาชีพเป็นหลักเกณฑ์ในประกอบวิชาชีพคุรุสภาซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพครู ตาม พ.ร.บ. ครู พ.ศ. 2488 ได้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพครู ไว้ 3 ด้าน กล่าวคือ

1.  มาตรฐาน ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ

2.  มาตรฐาน ด้านการปฏิบัติงาน

3.  มาตรฐาน ด้านการปฏิบัติตน

มาตรฐานด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ กำหนดไว้ ดังนี้

1) วุฒิปริญญาตรีทางการศึกษาที่สภาวิชาชีพรับรอง หรือ

2) วุฒิปริญญาตรีทางวิชาการหรือวิชาชีพอื่น และได้ศึกษาวิชาการศึกษาหรือฝึกอบรม วิชาชีพทางการศึกษา มาไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต

3)  ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาที่สภาวิชาชีพรับรอง และผ่านการประเมินกาปฏิบัติการสอนตามเกณฑ์ที่สภาวิชาชีพกำหนด

มาตรฐานด้านการปฏิบัติงาน ได้แก่เกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู ที่สภาวิชาชีพ (คุรุสภา) กำหนด ประกอบด้วย 12 เกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้

มาตรฐานที่ 1  ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครูอยู่เสมอ

มาตรฐานที่ 2  ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน

มาตรฐานที่ 3  มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพ

มาตรฐานที่ 4  พัฒนาแผนการสอนให้สามารถปฏิบัติให้เกิดผลจริง

มาตรฐานที่ 5  พัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ

มาตรฐานที่ 6  จัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเน้นผลถาวรที่เกิดแก่ผู้เรียน

มาตรฐานที่ 7  รายงานผลการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างมีระบบ

มาตรฐานที่ 8  ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน

มาตรฐานที่ 9    ร่วมมือกับผู้อื่นในสถานศึกษาอย่างสร้างสรรค์

มาตรฐานที่ 10  ร่วมมือกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ในชุมชน

มาตรฐานที่ 11  แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา

มาตรฐานที่ 12  สร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ทุกสถานการณ์

มาตรฐานวิชาชีพครู  จะเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิ   ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานวิชาชีพครู ดังกล่าวข้างต้น

บทบาทของครูตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ

ในการประกอบวิชาชีพครู นอกจากจะมีมาตรฐานวิชาชีพครู  เป็นแนวทางการดำเนินงานแล้ว พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางจัดการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานของผู้มีหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้ไว้ด้วย  ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพครูจะต้องยึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติ เช่นเดียวกัน ซึ่งมีดังนี้

1.  จัดการเรียนการสอน  โดยยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตน
เองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด รวมถึงจะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติ และเต็มตามศักภาพ (ม.22)

2.   จัดสาระการเรียนรู้  โดยเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และ
บูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา กล่าวคือ (ม.23)

1)  ความรู้เกี่ยวกับตนเอง และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชนชาติ สังคมโลก รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของสังคมไทย และระบบการเมือง การปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2)  ความรู้และทักษะ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน

3) ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา  ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา

4)  ความรู้ และทักษะด้านคณิตศาสตร์ ด้านภาษา เน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง

5)  ความรู้ และทักษะในการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

3. จัดเนื้อหาสาระ  และกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจ และความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (ม.24 (1) )

4.  ฝึกทักษะ  กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้  มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา (ม.24 (2) )

5.  จัดกิจกรรม  ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติ ให้ทำได้ คิดเป็น  ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง (ม.24 (3) )

6.  จัดการเรียนการสอน  โดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา (ม. 24(4) )

7.  จัดบรรยากาศ  สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และมีความรอบรู้  รวมทั้งสามารถใช้การวิจัย เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกัน จากสื่อการเรียนการสอน และวิทยากรประเภทต่าง ๆ (ม. 24(5) )

8. จัดการเรียนรู้ ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดา มารดา  ผู้ปกครอง  และบุคลากรในชุมชน ทุกฝ่าย  เพื่อร่วมกันพัฒนาการเรียน  ตามศักยภาพ (ม. 24(6) )

9.  จัดการประเมินผู้เรียน  โดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน  ความประพฤติ สังเกตพฤติกรรมการเรียน  การร่วมกิจกรรม  และการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอน ตามความเหมาะสมของแต่ละระดับและรูปแบบการศึกษา (ม.26)

10.  จัดทำสาระ ของหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชน และสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมทั้งคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ โดยสาระของหลักสูตร ทั้งที่เป็นวิชาการและวิชาชีพ ต้องมุ่งพัฒนาคน ให้มีความสมดุล  ทั้งด้านความรู้ ความคิด ความสามารถ ความดีงาม และความรับผิดชอบต่อสังคม (ม.27,28)

11.  ร่วมกับบุคคล  ครอบครัว  ชุมชน  องค์กรชุมชน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน
องค์กรเอกชน  องค์กรวิชาชีพ  สถาบันศาสนา  สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ส่งเสริมความ    เข้มแข็งของชุมชน โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ ภายในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีการจัดการศึกษา  อบรม มีการแสวงหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และรู้จักเลือกสรรภูมิปัญญาและวิทยากรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการ รวมทั้งหาวิธีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การพัฒนา ระหว่างชุมชน (ม.29)

12.  พัฒนากระบวนการเรียนการสอน ที่มีประสิทธิภาพ และดำเนินการวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน แต่ละระดับการศึกษา (ม.30)

13.  พัฒนาขีดความสามารถ  ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อกาศึกษาของผู้เรียน เพื่อให้มีความรู้ และทักษะเพียงพอที่จะใช้เทคโนโลยี เพื่อการศึกษาในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (ม.66)

14. ปฏิบัติงาน และประพฤติปฏิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ครู (ม.53) การดำเนินงานจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ขึ้นกับผู้เรียนและชุมชนตามแนวทางที่กล่าวมาแล้วเป็นบทบาทของครู ซึ่งถือว่าเป็นบุคลากรหลักในการปฏิรูปการศึกษา สามารถจะดำเนินได้เลยตลอดเวลา โดยไม่ต้องรอคำสั่งหรือทิศทางจากกระทรวง หรือ หน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด เนื่องจากสิ่งที่ปรากฎเป็นแนวทางจัดการศึกษาอยู่ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  ล้วนเป็นหลักวิชาครู ผู้ประกอบวิชาชีพครู  หรือ ครูมืออาชีพ ได้ศึกษาเล่าเรียน และฝึกอบรมแล้วทั้งสิ้น ถ้าครูได้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนเสียแต่บัดนี้ก็จะเป็นการเรียก  “ความเป็นมืออาชีพ” ของครูกลับคืนมา      คุณภาพและมาตรฐานการประกอบอาชีพของครูก็จะสูงขึ้น ทำให้ครูมีศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับนับถือและไว้ วางใจจากสาธารณชนโดยทั่วกัน
มาตรฐานด้านการปฏิบัติตน ได้แก่ตามจรรยาบรรณครู ที่สภาวิชาชีพ (คุรุสภา) กำหนด ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ ดังนี้

1)  ครูต้องรักและเมตตาศิษย์  โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือส่งเสริมกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า

2)  ครูต้องอบรมสั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะ และนิสัยที่ครูต้องดีงามให้เกิดแก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

3)  ครูต้องประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ ทั้งกาย วาจา และจิตใจ

4) ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์

5)  ครูต้องไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ

และไม่ใช้ศิษย์กระทำการใด ๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ

6)  ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ  เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ

7)  ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู

8)  ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครู และชุมชนในทางสร้างสรรค์

9)  ครูพึงประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์  และพัฒนาภูมิปัญญา

ขอบคุณข้อมูล https://educ105.wordpress.com/%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%