สรุปผลการดำเนินงานกระทรวงศึกษาธิการ ในรอบ 4 ปี (2558-2561) ของ 5 องค์กรหลัก

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงานแถลงผลการดำเนินงานกระทรวงศึกษาธิการในรอบ 4 ปี (2558-2561) ในงานวันครู ครั้งที่ 63 เพื่อสร้างการรับรู้ผลการดำเนินงานการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาต่อสาธารณชน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม 2562 ณ หอประชุมคุรุสภา โดยมีผู้บริหาร 5 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการร่วมแถลง คือ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และนางอรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา

สรุปผลการดำเนินงานกระทรว

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้สนองนโยบายรัฐบาลภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของประเทศที่มุ่งยกระดับคุณภาพ เสริมสร้าง ความเสมอภาคทางการศึกษา และมุ่งเน้นประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ดังนี้ 1) ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง 2) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

หน่วยงานหลักสังกัด สป.ศธ. มี 3 หน่วยงานหลัก คือ สำนักงาน กศน. สำนักงาน สช. และสำนักงาน ก.ค.ศ. โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ดังนี้

สำนักงาน กศน.
“ยกระดับการศึกษาตลอดชีวิต
นำพาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน”

ผลงานที่สำคัญของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในห้วงปีที่ผ่านมามีโครงการ กิจกรรมสำคัญตามยุทธศาสตร์ชาติ อาทิ

1 ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
– เรื่องศาสตร์พระราชา ได้เผยแพร่ความรู้ให้กับนักศึกษาและประชาชนใน 2 ส่วน ได้แก่ อบรมให้ความรู้กับประชาชน จำนวน 580,888 คน ภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และอบรมให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ชาติไทยให้กับผู้บริหารและ ครู กศน. จำนวนกว่าหมื่นคน เพื่อขยายผลไปยังนักศึกษาและประชาชน
– ดำเนินการร่วมกับ กกต. จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย สิทธิหน้าที่และพลเมือง ให้กับประชาชน ซึ่งปัจจุบัน กศน.ตำบล 7,424 แห่งมีสถานะเป็นศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตยประจำตำบล และมีอาสาสมัคร ศส.ปชต. จำนวน 81,660 คน
– แก้ปัญหากลุ่มเป้าหมายประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยได้นำผู้เรียน 38,501 คน เข้าสู่ระบบการศึกษา จากกลุ่มเป้าหมาย 45,289 คน ซึ่งในส่วนที่เหลือจะติดตามเพื่อให้เข้าสู่การศึกษาตามความต้องการของผู้เรียนต่อไป
– การส่งเสริมการอ่านในสถาบันศึกษาปอเนาะ มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 52,727 คน
– กิจกรรมลูกเสือชายแดนใต้ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือในเหตุการณ์ต่าง ๆ สร้างความเข้าใจ สร้างความสามัคคี สร้างวินัยให้กับประชาชนในพื้นที่

2 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
– จัดฝึกอาชีพให้กับประชาชน เน้นสนองตอบต่อความต้องการของพื้นที่และชุมชน ในปีที่ผ่านมามีผู้เข้ารับการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างอาชีพเสริม เริ่มอาชีพใหม่ กับ กศน.จำนวน 849,914 คน นอกจากนี้ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สำนักงาน กศน.ยังได้ส่งต่อผู้ที่จบการฝึกอาชีพพื้นฐาน กับ กศน. ไปฝึกทักษะอาชีพที่สูงขึ้น กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 4,000 คน เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่พิเศษ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

3 ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
– ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยสำนักงาน กศน.ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อบรมให้ประชาชนมีความรู้เรื่องเกี่ยวกับทักษะดิจิทัล ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานการใช้แอพต่าง ๆ ในมือถือ ไปจนถึงเรื่องการค้าขายออนไลน์ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 และในปีที่ผ่านมา มีประชาชนเข้ารับการอบรมถึงจำนวน 113,675 คน โดยผู้ผ่านการอบรมเหล่านี้สามารถค้าขายออนไลน์ได้จริง นอกจากนี้ กศน.อำเภอทุกอำเภอ ยังได้จัดตั้งเพจชุมชนค้าขายออนไลน์ กศน. เพื่อเป็นแหล่งการค้าขายออนไลน์ของดีประจำอำเภอ

4 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
– จัดการศึกษาให้กับผู้ด้อย พลาด และขาดโอกาสทางการศึกษา ให้กับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ปีละประมาณ 1 ล้านคน ได้แก่ กลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กลุ่มประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบโรงเรียน, กลุ่มทหารกองประจำการ, กลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ, กลุ่มผู้พิการ, กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้นำท้องถิ่น เกษตรกร ชาวไทยภูเขา อสม. ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ ขณะที่การสำรวจข้อมูล พบว่ามีประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาและต้องดึงกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา จำนวน 470,591 คน ทั้งนี้สำนักงาน กศน.สามารถดึงเป้าหมายเหล่านี้กลับเข้าสู่การศึกษาได้ จำนวน 49,431 คน
– การรองรับสังคมผู้สูงอายุ ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ผลิตผู้ดูแลผู้สูงอายุเพื่อสนับสนุนระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว โดยได้จัดอบรมหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ ในห้วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ผ่านการอบรมไปแล้ว จำนวน 19,583 คน ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้แนวคิด “กระทรวงศึกษาธิการเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

5 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
– ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการคัดแยก แปรรูป และกำจัดขยะ ทำให้ชุมชนทั่วประเทศลดขยะได้ถึง 786 ตันต่อปี ขณะเดียวกัน ยังส่งเสริมให้หน่วยงานและสถานศึกษาลดการใช้ทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รณรงค์เรื่องการลดการใช้ถุงพลาสติก การประหยัดไฟฟ้า ที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 126,441 คน
– ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดทำหลักสูตรสื่อการเรียนรู้ด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน รวมทั้งได้อบรมแกนนำสมัชชาชุมชนคนรักษ์พลังงานให้กับนักศึกษา และครู และสร้างกลุ่มสมัชชาชุมชนคนรักษ์พลังงาน ใน 11 จังหวัด รวม 80 กลุ่ม

6 ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
– บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กอ.รมน. กกต. ดีแทค ทรู ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อขับเคลื่อนงานในรูปแบบพลังประชารัฐให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดและพัฒนาการศึกษา ขณะเดียวกันยังได้ ปรับบทบาทและภารกิจ ของสถาบัน กศน.ภาค เพื่อร่วมสนับสนุนการบูรณาการการทำงานกันในพื้นที่ภาค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการจัดการศึกษา อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
“น้อมนำยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
มุ่งส่งเสริมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้”

นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า สำนักงาน สช. รับผิดชอบดูแลสถานศึกษารวมกว่า 12,000 แห่ง ทั้งในระบบและนอกระบบ มีนักเรียนจำนวนประมาณ 2 ล้านคน ที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน อย่างโดดเด่น คือ การจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นส่งเสริมการจัดการศึกษาให้มีความเข้มแข็ง ให้แก่ผู้เรียน โดยน้อมนำเอายุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาปรับใช้ ทั้งในด้านนักเรียน ครู ชุมชน และสถานศึกษา เช่น

– กิจกรรมลูกเสือ เพื่อส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและระเบียบวินัย ได้แก่ ลูกเสือจิตอาสา ช่วยเหลือประชาชนในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ลูกเสือต้านภัยยาเสพติด โดยอบรมลูกเสือแกนนำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา จำนวน 567 คน และจัดงานชุมนุมลูกเสือจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อฝึกประสบการณ์การดำรงชีพในการอยู่ค่ายพักแรมร่วมกับเพื่อนร่วมค่ายที่มาจากต่างพื้นที่ เกิดความสามัคคีบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม
– รณรงค์ให้โรงเรียนในสังกัดของสำนักงาน สช. ประดับธงชาติไทยในสถานศึกษา เคารพธงชาติไทย และร้องเพลงชาติไทยในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ครบ 100% จำนวน 3,184 แห่ง
– ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาแบบครบวงจร โดยบูรณาการร่วมกับ กองทัพภาคที่ 4 กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในสถานศึกษาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 945 แห่ง ถือเป็นนโยบายสำคัญอันดับแรกของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการพัฒนานักเรียนด้วยการสร้างระบบการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน
– การบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ โดยสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียน ใช้งบประมาณในการบริหารโรงเรียนอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
– ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ สามารถนำประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาในระดับภูมิภาค (Education) จำนวน 205 โรงเรียน นักเรียนจำนวน 53,295 คน ทำให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสเรียนหลักสูตรนานาชาติ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้โรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาสำหรับนักเรียนพิการ สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ และนักเรียนพิการได้รับโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ในรูปแบบที่เหมาะสมอย่างเต็มศักยภาพ โดยมีโรงเรียนเฉพาะความพิการ จำนวน 20 แห่ง ดูแลเด็ก 1,500 คน และโรงเรียนร่วม จำนวน 748 แห่ง

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
“สภาการศึกษา รุกงานใหญ่ปี’ 62
ยุทธศาสตร์ชาติ ตอบโจทย์คน’”

นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักในการบริการด้านการศึกษา มีนักเรียนทุกระดับ ทุกสังกัด รวมประมาณ 13 ล้านคน โดยในส่วนของ สกศ. ทำหน้าที่ในการเสนอนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษา ซึ่งช่วง 4 ปี ที่ผ่านมามีผลงานสำคัญ คือ การประเมินผลการจัดการศึกษา มีนโยบายปรับปรุงการประเมินให้กระชับและสะท้อนถึงคุณภาพอย่างแท้จริง ลดการจัดทำเอกสารที่ใช้ในการประเมิน รวมถึงเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. …. ที่ได้กำหนดมาตรฐานของสถานศึกษาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ผู้ปกครอง และผู้รับบริการด้านการศึกษา

 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่เสนอโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ช่วยเหลือเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัยให้มีโอกาสเรียนหนังสือ จนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากนั้นหากต้องการศึกษาต่อก็จะมีทุนให้กู้ยืม หรือออกไปทำงานตามทักษะความถนัดของตนได้ ตลอดส่งเสริมสถานศึกษาให้มีการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนตามความถนัดและศักยภาพของตน

ในอนาคตนักเรียนนักศึกษาอาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานศึกษาตลอดเวลา รวมถึงนักเรียนนักศึกษาสังกัด กศน. เนื่องจากการจัดการศึกษาต่อไปจะพัฒนาเป็นรูปแบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ซึ่งเป็นการเรียนเก็บหน่วยกิตของวิชาเรียนไปเรื่อย ๆ ทำให้ผู้เรียนมีสามารถเรียนและทำงานไปพร้อมกัน หรือเลือกเรียนเฉพาะหลักสูตรที่สนใจ ถือเป็นโอกาสของประชาชนไทยทุกช่วงวัยและทุกระดับ ในการพัฒนาตนเองทั้งในการศึกษา และการดำรงชีวิตจนตลอดชีวิตเพื่อเป็นอนาคตของประเทศชาติต่อไป

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
“เดินหน้าพัฒนาการทักษะวิชาการ
ควบคู่ทักษะการดำรงชีวิต และทักษะอาชีพ”

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สพฐ. ดูแลนักเรียนประมาณ 1,000,000 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ขับเคลื่อนทิศทางของประเทศไทยในอนาคต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะสำคัญที่อย่างน้อย 3 ด้าน คือ ทักษะด้านวิชาการ ทักษะการดำรงชีวิต และทักษะอาชีพ โดย สพฐ. จะต้องพยายามจัดกิจกรรม Active Learning ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ ครูพร้อมที่จะพานักเรียนออกจากหนังสือเรียน ให้นักเรียนค้นพบตัวตน ความสนใจ ความถนัดให้เร็วที่สุด เพื่อพัฒนาให้เป็นกำลังคนที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ เตรียมพร้อมเข้าสู่ Thailand 4.0 ภายใต้วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

 

ผลการดำเนินงานรอบ 4 ปี ของ สพฐ. แบ่งเป็น 4 เป้าหมาย ได้แก่ นักเรียน ครู การบริหารจัดการ และโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

– โครงการโรงเรียนประชารัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นลักษณะโรงเรียนประจำโดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีที่พัก มีอาหารฟรี เพื่อเปิดโอกาสให้ครอบครัวผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ที่อยู่ในทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษามากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ 1 อำเภอ มีโรงเรียนประจำ ระดับประถมศึกษา 1 โรงเรียน และระดับมัธยมศึกษา 1 โรงเรียน รวมจำนวนทั้งสิ้น 37 อำเภอ 73 โรงเรียน มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 5,277 คน
– โครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร มุ่งหวังให้ครูสามารถพัฒนาตนเองได้ตรงตามศักยภาพ สามารถนำความรู้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการประกอบอาชีพครู และยังเป็นการพัฒนาครูเพื่อเชื่อมโยงกับวิทยฐานะ ปัจจุบันมีหลักสูตรอบรมครูจำนวน 1,207 หลักสูตร มีข้าราชการครูที่ได้รับการพัฒนา 360,175 ที่นั่ง และมีครูที่ได้รับการพัฒนาแล้ว 274,264 คน
– โครงการศูนย์พัฒนาครูด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (Boot Camp) เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครูผู้สอนภาษาอังกฤษชาวไทย โดยพัฒนาความสามารถภาษาอังกฤษและเทคนิคการสอนของครูสอนภาษาอังกฤษ ด้วยการจัดค่ายภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการอบรมทั้งทักษะภาษาและเทคนิคการสอน ใช้วิทยากรชาวต่างประเทศที่เป็นเจ้าของภาษา
– การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DLTV เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู สร้างความเสมอภาคในการศึกษา รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ผ่านโทรทัศน์ทางช่องทีวีได้ตลอดเวลา ปัจจุบันได้ถ่ายทอดไปยังโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล จำนวนกว่า 15,369 แห่ง และศูนย์ดูแลเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า ๖,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ
– โครงการ “สานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการ รวมทั้งสิ้น 12 โรงเรียน ต่อมานายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ขยายผลการดำเนินงานออกไปทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน จึงได้เกิดเป็น “โครงการห้องเรียนกีฬา” ขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เยาวชนไทยที่มีความเป็นเลิศด้านกีฬา พัฒนาทักษะโดยใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาและโภชนาการเป็นฐาน เน้นการพัฒนาร่างกายให้สามารถแข่งขันทัดเทียมกับนักกีฬาต่างประเทศได้ ปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการห้องเรียนกีฬา ในทุกภูมิภาค จำนวน 9 โรงเรียน มีนักเรียนจำนวนรวม 1,155 คน นอกจากนี้ สพฐ. ได้จัดโครงการลานกีฬาเพื่อประชาชน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ได้ออกกำลังกาย โดยให้สถาบันทางการศึกษาทั่วประเทศเปิดสถานที่สำหรับให้ประชาชนในชุมชนออกกำลังกายและเล่นกีฬา
– การพัฒนาและส่งเสริมการคิดเลขเร็วแบบอินเดีย หรือ เวทคณิต ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนคิดเลขได้เร็ว ถูกต้องตามหลักคณิตศาสตร์ และสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาหรือหลักการทางคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวันได้ โดยนำเทคนิคการคิดเลขเร็วแบบอินเดีย (เวทคณิต) มาใช้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 – ม.3 และอบรมวิธีการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แนวทางของเวทคณิตแก่ศึกษานิเทศก์และครูผู้สอนคณิตศาสตร์อย่างต่อเนื่อง
– พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปัจจุบันได้ประกาศเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นำร่องใน 6 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดระยอง ศรีสะเกษ สตูล เชียงใหม่ กาญจนบุรี และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งความพิเศษของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ ลดข้อจำกัดโดยให้อิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการ รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถของครูและบุคลากรในโรงเรียน ให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบใหม่ อีกทั้งสร้างนวัตกรรมให้สอดคล้องหลักสูตรการจัดการเรียนรู้และการประเมิน และยังเชื่อมโยงทุกภาคส่วนโดยร่วมมือกันจัดการศึกษาระดมทรัพยากรจากภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจในพื้นที่
– โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาคุณภาพ และสร้างสรรค์นวัตกรรมการบริหารจัดการของสถานศึกษา ให้สามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตให้แก่ผู้เรียน ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 50 โรงเรียน ผู้สนับสนุน จำนวน 12 หน่วยงาน
– โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล เป็นการพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นระดับตำบลให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการและมีความพร้อมในการพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรม งานอาชีพ และการพัฒนาสุขภาพอนามัย สามารถให้บริการการศึกษาแก่นักเรียนและชุมชนได้ โดยในปีงบประมาณ 2562 จะเริ่มดำเนินการขับเคลื่อนโรงเรียนระดับประถมศึกษาในระดับตำบลก่อน แล้วพัฒนาไปสู่โรงเรียนมัธยมศึกษาในระดับอำเภอ และโรงเรียนพื้นที่พิเศษตามลำดับ

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
“เร่งพัฒนากำลังคนสายอาชีพ
ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ”
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สอศ. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการจัดอาชีวศึกษาโดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ และยกระดับคุณภาพวิชาชีพให้มีประสิทธิภาพตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีโครงการที่น่าสนใจ ดังนี้
– ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพประจำอำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาและฝึกอบรมอาชีพให้กับนักเรียนนักศึกษาและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและแนวชายแดน เป็นการสร้างโอกาสและลดความเลื่อมล้ำ รวมถึงเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายอาชีพจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเดิมร้อยละ 11.25 เป็น ร้อยละ 20
– แก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาท ของนักเรียน นักศึกษา มีการคัดกรอง นักเรียน นักศึกษา กลุ่มเสี่ยง สร้างภาคีเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาท ปัจจุบันมีสถิติเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
– ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 18 แห่ง ภายใต้โครงสร้าง 1 ศูนย์กลาง 6 ศูนย์ภาค 18 ศูนย์กลุ่มจังหวัด เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการในแต่ละพื้นที่
– อาชีวศึกษามาตรฐานสากล พัฒนาความร่วมมือการอาชีวศึกษากับประเทศที่มีศักยภาพสูง ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 9 ประเทศ และภูมิภาคอื่น ๆ 7 ประเทศ เพื่ออบรม พัฒนาทักษะทางภาษาและวิชาชีพให้กับครู และนักเรียน รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนร่วมให้มีมาตรฐานสากล
– การขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์ ส่งเสริมนวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่การแข่งขัน ส่งเสริมการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมให้ใช้งานได้จริง ผลักดันเข้าสู่ระบบพาณิชยกรรม ให้สถานประกอบการที่สนใจสามารถซื้อสิ่งประดิษฐ์ของอาชีวศึกษา ไปใช้งานในสายการผลิตและระบบอุตสาหกรรม
– Big Data System ใช้ในการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาทั้งระยะสั้นและระยะยาว, การวางแผนรับนักเรียน นักศึกษา ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด, การเปิดสาขาวิชาใหม่ ๆ เป็นต้น
– การพัฒนาครู ร่วมกับสถาบันคุรุพัฒนา ฝึกอบรมครูอาชีวศึกษา และจัดทำคู่มือแบบประเมินตนเองและแผนพัฒนาตนเอง ตลอดจนขึ้นทะเบียนครูพิเศษอาชีวศึกษาอุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง จำนวน 213 คน และจะขยายผลการขึ้นทะเบียนครูพิเศษอาชีวศึกษา ให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2562
– การเพิ่มปริมาณผู้เรียน มีการรณรงค์สร้างแรงจูงใจ ปรับภาพลักษณ์ สร้างค่านิยมให้ผู้เรียนสนใจศึกษาต่อสายอาชีพได้มากขึ้น ปัจจุบันมีสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพ : สายสามัญ เป็น 39.70% : 60.30% และในปีการศึกษา 2562 มีเป้าหมายการรับนักเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้นเป็น 45%
– โครงการพลังอาชีวะ จิตอาสา เปรมประชา คลองรังสิตพัฒนา จัดกิจกรรมปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนบริเวณคลองเปรมประชากร 11 ชุมชน โดยให้ประชนชนในชุมชนจำนวนประมาณ 8,500 คน ร่วมกันพัฒนาที่ท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
– แผนปฏิรูปองค์การและระเบียบกฎหมายในองค์กร (การรวม สอช.) จัดทำแผนปฏิรูปองค์กรและระเบียบกฎหมายในองค์กร โดยการรวมสำนักบริหารการอาชีวศึกษาเอกชนเข้ามาเป็นหน่วยงานภายในของ สอศ. และได้ประกาศจัดตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งใช้ชื่อว่า “สำนักบริหารการศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน” ซึ่งมีอำนาจหน้าที่และจำนวนบุคลากรตามเดิม
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
“สกอ.มุ่งสร้างบัณฑิตคุณภาพสูงในโลกเทคโนโลยี
ขับเคลื่อนการศึกษาตลอดชีวิต”
นางอรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า สกอ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการศึกษาขั้นสุดท้ายก่อนจะออกไปสู่โลกของการทำงาน จึงต้องมองภาพว่าจะสามารถเชื่อมต่อการศึกษาทุกระดับอย่างไรเพื่อให้บัณฑิตไทยออกมามีคุณภาพ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกยุคใหม่ที่เป็นโลกของเทคโนโลยีได้ รวมถึงเรื่องการทำงานวิจัย ที่ต้องคิดว่าทำอย่างไรงานวิจัยจึงจะไปสู่การใช้ประโยชน์ได้ และประโยชน์นั้นต้องตกอยู่กับสาธารณะ แม้จะเป็นเรื่องของเชิงพาณิชย์ก็ตาม
 

ทั้งนี้ ในอนาคตสถาบันอุดมศึกษาจะต้องรับคนจากทั้งในระบบและนอกระบบนั่น ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาจะต้องรับผิดชอบวัยทำงานด้วย เนื่องจากกลุ่มคนวัยทำงานจะกลับเข้ามาพัฒนาทักษะ รับความรู้ใหม่ ๆ จากมหาวิทยาลัย เพื่อพร้อมที่จะไปทำงานในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก สกอ.จึงทำงานตอบยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6  ยุทธศาสตร์ ภายใต้ภารกิจการสร้างคนที่มีคุณภาพสูง และอยู่ในโลกแห่งเทคโนโลยีให้ได้ มีความรู้ทั้งในด้านวิชาการ วิชาชีพและวิชาชีวิต และสามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานได้ทั่วโลก

สกอ.ดำเนินงานสำคัญในระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา ได้แก่

– โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เป็นการพลิกโฉมการสร้างบัณฑิตครั้งใหญ่ ตั้งแต่เรื่องของการปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปการเรียนการสอน และร่วมมือกับภาคผู้ประกอบการ ต่อไปนักศึกษาจะไม่ได้เรียนเฉพาะในมหาวิทยาลัย แต่จะต้องออกไปทำงานควบคู่กับการเรียนในมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อให้มีความพร้อมสู่โลกแห่งการทำงานจริง
ขณะเดียวกัน สกอ.ขยายเป้าหมายออกไปสู่กลุ่มวัยทำงานด้วย ในรูปแบบหลักสูตรที่ไม่มีปริญญา (Non Degree) เป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ร่วมมือกับสถานประกอบการ โดยตั้งเป้าหมายว่าตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไปจะมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่เป็นบัณฑิตพันธุ์ใหม่จำนวนไม่น้อยกว่า 6,000 คน/ปี และหลักสูตร Non Degree ไม่น้อยกว่า 10,000 คน/ปี
– โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย เป็นการนำหลักสูตร งานวิชาการต่าง ๆ ขึ้นไว้บนเว็บไซต์ แล้วให้ประชาชนสามารถเข้ามาเลือกเรียนได้ ขณะนี้มีจำนวนผู้เข้ามาเรียนวิชาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยประมาณ 60,000 คน ในระยะต่อไปจะมีการพัฒนาให้คนที่เข้ามาเรียนสามารถสะสมหน่วยกิต และสามารถขอวุฒิปริญญาได้
– โครงการนำสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของโลกเข้ามาจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาคนไทยในสาขาที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ที่สถาบันอุดมศึกษาไทยยังไม่สามารถดำเนินการเองได้เต็มรูปแบบ ขณะนี้มีสถาบันอุดมศึกษาของไทย 2 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ คือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– โครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ดำเนินงานเชื่อมโยงกับ สพฐ. ช่วยพัฒนายกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดนทำงานตอบโจทย์ที่โรงเรียนต้องการ มีโรงเรียนที่เข้าร่วมมากกว่า 2,500 โรงเรียน ครูเข้ามามีส่วนร่วมประมาณ 30,000 คน และนักเรียนที่เข้าร่วมประมาณ 270,000 คน
– โครงการจัดสรรทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่ง สกอ.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนที่อยู่ในเขตภาคใต้ชายแดนได้มีโอกาสศึกษา มีความรู้ และสามารถประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเองได้ โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้วมากกว่า 2,600 คน
– โครงการนำกีฬาสู่ระบบการศึกษาชายแดนภาคใต้ โดยพยายามนำเด็กที่สนใจด้านกีฬาเข้ามาเรียนในระดับอุดมศึกษาและพัฒนาตนเองให้เป็นเลิศด้านการกีฬา
– การทำงานด้านการวิจัย สกอ.ร่วมกับมหาวิทยาลัย 158 แห่ง คิดค้นงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ประเทศชาติ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะ ล่าสุดมีโครงการประมาณ 90 โครงการ ที่ร่วมมือกับกระทรวงกลาโหม ไม่ว่าจะเป็นการทำเสื้อเกราะกันกระสุน ทำหมวกกันกระสุน ทำหุ่นยนต์เพื่อไปลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยงภัย เป็นต้น ตลอดจนนำไปสู่การผลิตผลงาน สร้างรายได้ให้กับนักศึกษาและอาจารย์ รวมทั้งสามารถลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ 12 เท่า
– โครงการสร้างผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจใหม่ ขณะนี้มีมากกว่า 80 แห่ง สามารถสร้างผู้ประกอบการใหม่หลายร้อยราย ซึ่งเมื่อจบการศึกษาไปแล้วสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้เลย ที่สำคัญคือสินค้าที่ผลิตนั้นเป็นสินค้าที่เกิดจากงานวิจัยของ สกอ.

ในขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงภาพรวมการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการว่า ส่วนตัวรู้สึกพอใจ เพราะที่ผ่านมาย้ำมาเสมอว่าปัญหาหลายเรื่องมีมานานและสะสม การเริ่มต้นมองด้วยแง่ลบและพยายามเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคน ไม่สามารถทำได้กับการปฏิรูปการศึกษา แต่ควรขยับทีละนิดเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีทั้ง 6 ด้าน ไม่ว่ารัฐบาลใดหากพิจารณาจะเห็นได้ว่ากำหนดไว้ครอบคลุม ซึ่งที่ผ่านมาทุกหน่วยงานดำเนินการครบถ้วนและทุกคนก็ตั้งใจทำงาน

หากจะให้คะแนนผลการทำงานภาพรวม ส่วนตัวให้เกิน 5 คะแนน แต่บางโครงการให้ 8-9 คะแนน เช่น โครงการพัฒนาครูทั้งระบบ หรือคูปองครู, การส่งเสริมการศึกษาเพื่อการมีงานทำ หรือ E2E เป็นต้น

อีกเรื่องที่พอใจมากคือ “ธรรมาภิบาล” ซึ่งมองว่ายุคนี้สังคมช่วยเราได้เยอะ เป็นยุคที่การโกงได้รับการสะสาง และป้องปรามมากที่สุดยุคหนึ่ง ทุกอย่างตรงไปตรงมา อาจไม่ใช่ผลงานชิ้นโบว์แดง แต่อะไรก็ตามที่สะท้อนมาในสื่อมาก แสดงว่าอยู่ในจิตใจประชาชน กดดัน แต่เรื่องอื่น ๆ คนอาจจะไม่รู้สึกโดนเท่าเรื่องโกง เพราะไม่อึดอัดใจมาก แต่เรื่องโกงคนรู้สึกว่าสั่งสมมานานถึงเวลาต้องแก้ไข

อย่างไรก็ตาม มีหลายโครงการที่เกี่ยวกับครูที่รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการไว้ คือ การดูแลความเป็นอยู่ของครู การซ่อมแซมบ้านพักครู การแก้ปัญหาหนี้สินครู การเปลี่ยนวิธีการเลื่อนวิทยฐานะ เปิดโอกาสให้ครูได้พัฒนาตนเองผ่านคูปองครู เป็นต้น ซึ่งยังไม่ค่อยเห็นว่ามีพรรคการเมืองใดกำหนดเป็นนโยบาย แต่คาดว่าจะทยอยประกาศออกมาหลังจากนี้ ทั้งนี้ ขอให้ใครก็ตามที่เข้ามา สานต่อและทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก