สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จับมือ กระทรวงแรงงาน และบริษัทกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท (ธุรกิจชิ้นส่วนโลหะ) รุกพัฒนาช่าง สร้างนวัตกรรมด้านยานยนต์

 

 

วันที่ 25 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นางถวิล เพิ่มเพียรสิน รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานดร.ฉัตรแก้ว ฮาตระวัง กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท (ธุรกิจชิ้นส่วนโลหะ) ผศ.ดร.ประยูร สุรินทร์ รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และผศ.นิธิ บุรณจันทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการพัฒนาบุคลากรสำหรับสร้างนวัตกรรมการปฏิบัติงานในสายงานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อมุ่งสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) สร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน 3A ของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะด้านการ ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Work) เพื่อตอบโจทย์10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และทั่วประเทศ ที่มีความต้องการแรงงานฝีมือจำนวนมากในสายการผลิต

นางถวิล เพิ่มเพียรสิน รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยหลังจากลงนามว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ มีความต้องการแรงงานระดับปฏิบัติการเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับการผลิต คาดว่าความต้องการจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเมื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นในกลุ่ม10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) กพร.จึงร่วมกับกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท (ธุรกิจชิ้นส่วนโลหะ) สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดฝึกอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ผ่านมาดำเนินการการฝึกอบรมแล้วจำนวน 2,965 คน สำหรับในปี 2562 ได้มีการยกระดับความร่วมมือจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ มากขึ้น ให้มีทักษะฝีมือปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่น การเชื่อมจุดด้วยความต้านทานในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การควบคุมการเชื่อมชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์ การเชื่อมแม๊กสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น เป้าหมายดำเนินการ 420 คน โดยได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ ให้การสนับสนุนจัดฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติแก่กลุ่มเป้าหมายตามความร่วมมือดังกล่าว
“ความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐในครั้งนี้ จะช่วยสร้างนวัตกรรมให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานในการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงเป็นการสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย”
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ประยูร สุรินทร์ รองอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน กล่าวว่า
การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเชื่อมโยงการดำเนินการในด้านต่างๆ ระหว่างสถาบันการศึกษาและกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านจะเคยได้ลงนามความร่วมมือกันมาเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้วก็ตามแต่เทคโนโลยีต่างๆทางด้านอุตสาหกรรมก็ได้พัฒนาไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ทรัพยากรบุคคลก็ต้องเรียนรู้ให้เท่าทันตลอดเวลา การลงนามความร่วมมือ ในครั้งนี้จะเน้นการส่งเสริมทักษะฝีมือแรงงานของบุคลากรด้านแรงงาน และนักศึกษาให้มีทักษะฝีมืนักศึกษาก่อนออกสู่ตลาดแรงงานจริง