ทปอ.เร่งปรับปรุงข้อสอบ เพื่อลดความซ้ำซ้อนเนื้อหา คาด4เดือนได้ข้อสรุป เล็งประกาศใช้ปี 65
รศ.เพ็ญรัตน์ หงษ์วิทยากร รองเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหรือทีแคส 2562 ที่มีรศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นประธาน เมื่อเร็ว ๆนี้ ได้หารือเกี่ยวกับความซ้ำซ้อนของการใช้คะแนนผลการสอบวิชาการ ที่จะนำมาใช้ในทีแคส ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการลดความซ้ำซ้อนของวิชาสอบต่างๆ ต้องการสร้างช่องทางการรับนักศึกษาโดยการวัดทักษะในศตวรรษที่ 21 มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาข้อสอบที่วัดจะเน้นเนื้อหามากเกินไป ไม่ค่อยได้วัดที่ความสามารถหรือทักษะของผู้สมัครเท่าที่ควร นอกจากนี้เพื่อรองรับกลุ่มผู้สมัครเข้าเรียนที่มีความหลากหลายหรือเป็นสากลมากขึ้น โดยจะรับเด็กนานาชาติเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยไทยมากขึ้น จากเดิมเน้นรับเด็กไทย
รศ.เพ็ญรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงปัญหาดังกล่าวพบว่าเด็กจะสอบเนื้อหาเดิม ๆหลายรอบ เช่น เนื้อหาข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ จะมีอยู่ในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต สามัญ 9 วิชา การทดสอบความถนัดวิชาวิทยาศาสตร์หรือ แพต2 เป็นต้น ขณะเดียวกันเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กที่มีฐานะดีกับเด็กที่ฐานะยากจน โดยเด็กที่มีฐานะดีก็จะสอบทุกวิชาที่ใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้มีโอกาสมากกว่าเด็กที่ มีฐานะยากจน ซึ่งวิชาที่สอบส่วนใหญ่ต้องเสียค่าสมัครสอบ ดังนั้นทปอ.จะพยายามลดวิชาที่สอบลง เพื่อไม่ให้เนื้อหาซ้ำซ้อน นอกจากนี้ในการคัดเลือกทีแคสรอบ 1 แฟ้มสะสมผลงาน พบว่าหลักเกณฑ์การคัดเลือกรอบ 1ยังไม่ค่อยชัดเจน และจำนวนรอบทีแคสมีหลายรอบและใช้ระยะเวลานาน
“นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้สรุปหลักการในการปรับปรุงการลดความซ้ำซ้อนของข้อสอบคือจะมีการวัดผลที่หลากหลายสำหรับนักเรียนที่มีความหลากหลาย นอกจากการวัดความรู้แล้วจะวัดทักษะและความถนัดมากขึ้น เมื่อมีการปรับข้อสอบแล้วก็จะทำให้สามารถจัดสอบเมื่อไหร่ก็ได้ และจะสอบที่ไหนก็ได้ที่เป็นศูนย์สอบ เช่น การสอบวัดความถนัดหรือทักษะ อาจจะไม่จำเป็นต้องรอให้เรียนจนจบหลักสูตรก็สามารถสอบได้ ซึ่งทำให้เด็กไม่เครียด เพราะจะต้องมาสอบทุกอย่างพร้อมกัน นอกจากนี้จะมีการ วิเคราะห์การลดจำนวนรอบหรือระยะเวลาการดำเนินการทีแคสให้กระชับขึ้น คาดว่าก่อนเดือนก.ค.นี้น่าจะได้ข้อสรุปการปรับข้อสอบแน่นอน อย่างไรก็ตามเดิมทปอ.ตั้งใจว่าจะใช้ข้อสอบใหม่ปี 64 แต่ที่ประชุมเห็นว่าอาจจะเร็วเกินไป และอยากให้เด็กได้มีเวลาเตรียมตัว จึงเสนอว่าอาจจะไปใช้ในปี 65 เลย แต่ทั้งนี้ก็ต้องหารือกันในทปอ.อีกครัง “ รศ.เพ็ญรัตน์ กล่าว
.
ที่มา : https://www.dailynews.co.th/education/700969