ธรรมศาสตร์จัดงาน “วันสัญญา ธรรมศักดิ์” ประจำปี 2562

เวทีมธ. มองคนรุ่นใหม่เปลี่ยนอนาคตการเมืองไทย

มั่นใจมีทางออกตั้งรัฐบาลใหม่ แนะเร่งแก้ความเหลื่อมล้ำ

ธรรมศาสตร์จัดงาน “วันสัญญา ธรรมศักดิ์” ประจำปี 2562  เพื่อรำลึกถึงคุณูปการ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์  และมอบรางวัลนักศึกษาด้านกฎหมายดีเด่น ประจำปี 2562 มุ่งยึดแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติงาน พร้อมเปิดเวทีเสวนา “อนาคตการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง”  ผศ.ดร.ปริญญา  เทวานฤมิตรกุล เชื่อสังคมไทยยังไม่ถึงทางตัน แต่กกต.ต้องเที่ยงธรรม ชี้เสียงคนรุ่นใหม่สร้าง ‘Smart Democracy’ ด้านอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ห่วงเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ทันการทำหน้าที่ประธานอาเซียน และเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าแนะรัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความยุติธรรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “วันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2562”   เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 โดยช่วงเช้ามีพิธีวางพานพุ่มเพื่อรำลึกถึงเกียรติคุณศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์  อดีตประธานองคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานศาลฏีกา และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ณ ลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ มธ.ศูนย์รังสิต โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยผู้นำองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ในปีนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่นได้แก่ น.ส.กนกรัตน์ ธรรมพนิชวัฒน์  เกียรตินิยมอันดับ 1  จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาที่ได้รับเกียรติบัตร ได้แก่ น.ส.ปิยากร เลี่ยนกัตวา  จากคณะนิติศาสตร์ มธ.  และนายปารเมศ เทพรักษ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง  พร้อมด้วยรางวัลเรียนดี “ธรรมศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์”  ได้แก่ นายพชร วัฒนสกลพันธุ์  ได้คะแนนสูงสุด 87.93 %  นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี

ในงานยังได้จัดเวทีเสวนาพิเศษ “อนาคตการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง” ณ ห้อง SC 3005 ชั้น 3 อาคารเรียนรวมกลุ่มสังคมศาสตร์ โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มองว่า การเมืองไทยในขณะนี้ยังไม่ถึงทางตัน แต่ทุกคนควรเดินหน้าตามกติการะบอบประชาธิปไตย เคารพใน 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากออกมาลงคะแนนอย่างเสรี เรียกว่าเป็นยุค Smart Democracy อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ปริญญา แสดงความเป็นห่วงวิธีการคำนวณผลคะแนนจากการเลือกตั้ง เพราะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลแต่ละฝ่าย ดังนั้น แนวทางของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงต้องมีความเที่ยงธรรม ไม่เลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า อนาคตการเมืองไทยยังคงมีปัญหาเสถียรภาพและความไม่แน่นอน ภาวะสุญญากาศที่ยืดเยื้อไปถึงเดือนมิถุนายน 2562 จะไม่เป็นผลดีต่อการเป็นประธานการประชุมอาเซียน และตัวแทนประชุม G20 ซึ่งนานาชาติต้องการเห็นผู้นำไทยที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหาร

“ทุกคนไม่อยากเห็นการเมืองย้อนอดีตเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535 จึงอยากให้มองการเมืองด้วยความหวัง อดทนและมีอนาคตเสมอ เพราะขณะนี้เราเห็นด้านบวกคือความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่และคนในชนบท ส่วนใหญ่ก้าวข้ามปัญหาสีเสื้อแล้ว ถึงเวลาที่ควรก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน”

ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือภาวะวิกฤตของคำว่า “ถูกกติกาแต่ไม่ชอบธรรม” หลักนิติรัฐ นิติธรรมอาจถูกกัดกร่อนจนมีผลเสียระยะยาวจากปัญหาต่างๆ จึงอยากเห็นทุกคนเคารพกติกา ไม่ว่าฝ่ายใดเป็นรัฐบาลแล้วต้องให้สิทธิเสรีภาพประชาชน ปล่อยกลไกตรวจสอบทำงาน และทบทวนว่าระบบบัตรลงคะแนนใบเดียวมีความเหมาะสมหรือไม่

“สังคมไทยต้องมีความหวัง มีอนาคตร่วมกันว่าการเลือกตั้งคือทางออกของประเทศ เมื่อตั้งรัฐบาลได้แล้วสุดท้ายปลายทางคือต้องแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมและกระบวนการยุติธรรมที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ”