จุฬาฯ จัดโครงการขับขี่ปลอดภัยในจุฬาฯCU Zero Traffic Accident
เมื่อวันอังคารที่ 23 เมษายน 2562 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการขับขี่ปลอดภัยในจุฬาฯ หรือ CU Zero Traffic Accident กิจกรรมที่จัดขึ้นมีการบรรยาย “ขับขี่ปลอดภัยในจุฬาฯ” โดยตำรวจชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน พิธีมอบหมวกกันน็อกให้ตัวแทนของศูนย์รักษาความปลอดภัย จุฬาฯ สำนักบริหารระบบกายภาพ และสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จากนั้นมีการกิจกรรมปล่อยขบวนรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน และ Scooter เป็นการเริ่มสัปดาห์การขับขี่ปลอดภัยในจุฬาฯ
ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยว่า ปัญหาการจราจร ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นปัญหาที่มีมานานและส่งผลกระทบต่อนิสิตและบุคลากรซึ่งประสบอุบัติเหตุ บางครั้งรุนแรงทำให้พิการและเสียชีวิต แต่ละปีมีการส่งนิสิตและบุคลากรที่ประสบอุบัติเหตุจากการจราจรไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ปีละ 200 – 300 ราย การฝ่าฝืนวินัยจราจรเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลทำให้เกิดอุบัติเหตุ ที่ผ่านมาจุฬาฯ ยังไม่มีการรณรงค์ในเรื่องการขับขี่ปลอดภัยอย่างจริงจัง
หลักการลดอุบัติเหตุจากการจราจรประกอบด้วยหลักการสำคัญคือ 3 E ประกอบด้วย Education การให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่ประชาคม Enforcement การบังคับใช้และปฏิบัติตามระเบียบวินัยจราจร และ Environment การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ถนนหนทาง ซึ่งใน 2 ข้อแรกคือการสร้างความตระหนักและการปฏิบัติตามกฎระเบียบจราจร เป็นประเด็นสำคัญที่จุฬาฯ ยังขาดในส่วนนี้ จุฬาฯ จึงได้จัดโครงการขับขี่ปลอดภัยในจุฬาฯ ขึ้น
“โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างหลายภาคส่วน ทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต และบุคลากร ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการร่วมมือกันสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเขตปทุมวัน สถานีตำรวจปทุมวัน ผลที่คาดว่าจะได้รับคือการเคารพระเบียบวินัยจราจรที่เพิ่มขึ้น การฝ่าฝืนวินัยจราจรที่ลดลง ส่งผลต่อการลดลงของการเกิดอุบัติเหตุการจารจราจรในระยะกลางและ ระยะยาว นอกจากนี้จุฬาฯ เป็นแกนนำของมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพภาคกลางจำนวนกว่า 70 มหาวิทยาลัย ซึ่งการลดอุบัติเหตุการจราจรเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นที่ยอมรับของทุกมหาวิทยาลัยว่าเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการขยายการรณรงค์ต่างๆ ที่จุฬาฯ เป็นต้นแบบไปสู่เครือข่ายมหาวิทยาลัย และภาคประชาชนต่อไป” ศ.นพ.ดร.นรินทร์ กล่าว
โครงการขับขี่ปลอดภัยในจุฬาฯ จัดขึ้นเพื่อปลูกจิตสำนึก รวมทั้งเสริมสร้างวัฒนธรรมในการ ขับขี่และใช้ยานพาหนะบนท้องถนนอย่างปลอดภัยแก่ประชาคมจุฬาฯ และผู้ขับขี่ยานพาหนะภายในจุฬาฯ รวมทั้งลดอัตราอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนำมาสู่ความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิต กลุ่มเป้าหมายของโครงการคือ นิสิต คณาจารย์ และบุคลากรจุฬาฯ รวมถึงผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะภายในมหาวิทยาลัย เช่น รถยนต์ แท็กซี่ รถจักรยานยนต์ส่วนตัว รถจักรยานยนต์รับจ้าง จักรยาน Scooter รถโดยสารภายในมหาวิทยาลัย (ปอ.พ)
โครงการขับขี่ปลอดภัยในจุฬาฯ จะมีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ กิจกรรมรณรงค์การปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี ในการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนให้กับบุคลากร นิสิต รวมถึงประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะภายในมหาวิทยาลัย เช่น กิจกรรมส่งเสริมการสวมหมวกกันน็อค กิจกรรมจัดอบรมให้ความรู้การขับขี่ปลอดภัยให้กับเครือข่ายและบุคลากรที่ขับขี่จักรยานยนต์ โดยจะมีการลงนามปฏิญาณตนพร้อมรับเสื้อขับขี่ปลอดภัยการรณรงค์และการจัดอบรมประชาคมจุฬาฯ เกี่ยวกับการขับขี่ปลอดภัย เป็นระยะๆอย่างต่อเนื่อง การจัดงานสัปดาห์แห่งการขับขี่ปลอดภัย การเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยพิธีมอบหมวกกันน็อคให้กับประชาคมจุฬาฯ เพิ่มเข้มงวดเรื่องการใช้รถและถนนภายในจุฬาฯ การจัดประกวดการออกแบบทางม้าลาย การประกวดคลิปสั้นเกี่ยวกับการขับขี่ปลอดภัย ฯลฯ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะกรรมการ CU Zero Traffic Accident โทร. 0-2218-0463
……………………………………………….
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ
สุรเดช พันธุ์ลี ผู้ส่งข่าว