ชี้อาจารย์มหา’ลัยสอนคนวัยทำงานไม่ได้ จี้ปรับระบบการศึกษาสนองผู้เรียนทุกคน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมวิชาการ  “นวัตกรรมการจัดการโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่องสู่การประกันคุณภาพ” ผลสำเร็จและบทเรียนจากโครงการวิจัยปฏิบัติการ “โรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง” (School Quality Improvement Program : sQip) โดยมีนายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประธานกรรมการนโยบาย สกว. และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ “คุณภาพโรงเรียนกับการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” ตอนหนึ่งว่าระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ต้องให้มากกว่าความรู้ และไม่ใช่ผู้เรียนเข้าถึงโอกาสการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ เป็นการพัฒนาตลอดชีวิต และต้องเป็นไปตามบริบทแต่ละพื้นที่ด้วย  ซึ่งตอนนี้ระบบการสอนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เมื่อก่อนเวลาคิดเลขยังใช้ลูกคิด เรียนเทคโนโลยีต้องใช้ไม้บรรทัดคำนวณ แต่ตอนนี้มีเครื่องคิดเลขพกพา มีคอมพิวเตอร์ อนาคตมีคนวัยทำงาน คนสูงวัยมากขึ้น ขณะที่คนวัยเรียนลดลง ซึ่งถ้าจัดการศึกษาเพื่อคนวัยเรียน อนาคตจะไม่มีใครมาเรียนหนังสือ ทั้งนี้ ในกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำกว่า 12 ปี แย่กว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เราจะขึ้นไปข้างบนไม่ได้ เพราะคนการศึกษาสูงมีน้อย และถ้าลงไปข้างล่างก็ไม่ได้ เพราะแรงงานค่าแรงสูง  ซึ่งโจทย์การศึกษาต้องทำการศึกษาที่ไม่ใช่มุ่งเน้นวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องให้การศึกษา 12 ปี บวกกับการเรียนสายอาชีพ หรือได้เรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) และได้ค่าตอบแทนสูงกว่าคนเรียนการศึกษาจบขั้นพื้นฐาน 12 ปีอย่างเดียว รวมถึงการศึกษาต้องทำให้คนมีความเอื้อเฟื้อ คิดถึงซึ่งกันและกัน การศึกษาอย่าไปเน้นเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องเน้นเรื่องสังคมด้วย

“ปัญหาความท้าทายของการศึกษาขณะนี้ คือ จะทำการศึกษาอย่างไร ที่ทำให้คนไทยมีความสามารถในการทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกันทำให้คนสูงวัยอายุยืน และมีสุขภาพที่ดี อีกทั้งการศึกษาในยุคการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัย อาจารย์ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่สามารถสอนคนในวัยทำงานได้ เพราะคนวัยทำงานมีประสบการณ์การทำงานจริง แต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยกลับเปิดตำราสอน นอกจากนั้นการศึกษาไม่เคยสอนเด็กเรื่องเนื้อหาเพื่อใช้ แต่เป็นการสอนเผื่อใช้ ขณะนี้ครูสอนคนทุกคนด้วยเรื่องเดียวกัน วิธีเดียวกัน ซึ่งตอนนี้สอนแบบนั้นไม่ได้ เพราะคนเรียนต้องการเรียนรู้ต่างกัน ดังนั้น ต้องมีระบบการศึกษาให้คนได้เรียนเมื่อไหร่ อย่างไร ตอบสนองความต้องการของแต่ละคน และการศึกษาที่มีความหมายต่อชีวิตการทำงาน จะกำหนดด้วยผู้เรียนและตลาด ไม่ได้ถูกกำหนดของรัฐอีกแล้ว” นายกฤษณพงศ์ กล่าว

ที่มา  : https://www.dailynews.co.th/education/706605?fbclid=IwAR1hFRst7tUKjVRVL2Qh-FWE_yXwkx6F5NhpaZ1O0t722HBzx_EF94t8iOc