ม.อ.ภูเก็ต โชว์ศักยภาพตอบโจทย์อนาคต ตอบโจทย์ฟื้นที่ พัฒนานักศึกษาควบคู่ชุมชน

ในยุคของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคนในแวดวงการศึกษาก็คือ สิ่งที่สอนกันในระดับมหาวิทยาลัยนั้นได้ช่วยเตรียมพร้อมบัณฑิตให้สามารถออกไปทำงานตามความต้องการของนายจ้างได้หรือไม่? จะทำอย่างไรให้นักศึกษาที่จบไปพร้อมทำงาน และเป็นที่ต้องการของนายจ้าง หากสรุปจากคำตอบมากมายของคำถามนี้ จะมีจุดที่เหมือนกันก็คือ “ต้องให้นักศึกษามีทักษะที่พร้อมกับการทำงาน นั่นคือได้ทำงานจริง และรู้ปัญหาจริงๆก่อนจบการศึกษา”


จังหวัด “ภูเก็ต” เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในระดับโลก มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม  มีชุมชนที่มีจิตบริการ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก อย่างไรก็ตามการสร้างความยั่งยืนให้กับเมืองท่องเที่ยวจะต้องมีการสร้างความรับรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องให้กับชุมชน โดยปัจจุบันจะเน้นการให้ความรู้ด้านการบริการท่องเที่ยว ภาษา เทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการสิ่งแวดล้อม  ซึ่งศาสตร์เหล่านี้ “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” ซึ่งมี “วิทยาเขตภูเก็ต” ที่มีการเรียนการสอนที่เน้นสนองการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและสังคม ของชุมชนภาคใต้ฝั่งอันดามัน เป็นสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ และวางยุทธศาสตร์ในการมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างผลงานวิชาการและนวัตกรรมเพื่อใช้จริงในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้นักศึกษาของ ม.อ.ภูเก็ต มีทักษะและความพร้อมในการทำงานมากกว่าที่อื่นๆเพราะนอกจากจะได้ทำงานจริงจากปัญหาจริงแล้ว ที่สำคัญคือได้ทำในฟื้นที่ที่ต้องถือว่าเป็นฟื้นที่เศรษฐกิจระดับต้นๆของโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ซึ่งส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ ม.อ.ภูเก็ต ใช้มาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนานักศึกษาก็คือ “ชุมชน” เพราะการลงฟิ้นที่ เข้าไปชุมชน นอกจากตัวนักศึกษาจะได้ทำงานจริงแล้ว สิ่งที่สำคัญเลยก็คือนักศึกษาได้เรียนรู้จากปัญหาจริงๆ การเรียนแบบนี้ ที่ไม่ใด้อยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาให้นักศึกษาได้รับความรู้และทักษะที่มากมายที่เค้าจะได้ใช้ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเป็นทีม แก้คิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การค้นคว้า ซึ่งถือว่าเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับคน ที่ได้รับการยอมรับแล้วว่าจำเป็นมากสำหรับโลกในยุคนี้ และจากเรียนแบบนี้ก็มีโครงการที่ทาง ม.อ.ภูเก็ต ทำร่วมกับชุมชนและประสบความสำเร็จอย่างมากมาย หลายโครงการ ได้แก่

1.การใช้เทคโนโลยีด้านไอที ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนภูเก็ต

ดร.อภิรมย์ พรหมจรรยา คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในการร่วมผลักดัน 7 เส้นทางหลักท่องเที่ยวโดยชุมชนในจังหวัดภูเก็ต ว่า “7 เส้นทางหลักท่องเที่ยวโดยชุมชนในจังหวัดภูเก็ต” เป็นการท่องเที่ยวประเภทหนึ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการร่วมจัดการโดยชุมชนเอง โดยมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐเป็นตัวเสริมเข้าช่วยเหลือประกอบด้วย ชุมชนท่องเที่ยวท่าฉัตรไชย-ไม้ขาว ชุมชนท่องเที่ยวตำบลกมลา ชุมชนท่องเที่ยวบ้านบางโรง-ป่าคลอก ชุมชนท่องเที่ยวบ้านเกาะโหลน-ราไวย์ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านแขนน-เทพกษัตรี ชุมชนท่องเที่ยวบ้านบางเทา-เชิงทะเล และ ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต

สำหรับเส้นทาง “ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต” ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาโดยการสนับสนุนจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต เป็นชุมชนต้นแบบเพื่อนำผลไปเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นๆ ต่อไป  มีความได้เปรียบตรงมีเป็นอัตลักษณ์ของตัวชุมชนเอง มีสังคมพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย การขับเคลื่อนจะเริ่มจากการอนุรักษ์และนำการท่องเที่ยวเข้ามาเสริม จนปัจจุบันเริ่มมีการเข้ามาลงทุนเพื่อทำธุรกิจเพื่อการท่องเที่ยวที่เป็นธุรกิจของชุมชนเอง ไม่ใช่เป็นสาขาจากส่วนกลาง ซึ่งสิ่งที่มหาวิทยาลัยเข้าไปขับเคลื่อนมาจากโจทย์ที่เป็นความต้องการของชุมชน เช่น การนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ในการส่งเสริมการตลาด การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยอาศัยแผนที่และสื่อในการดึงดูดความสนใจ โดยแสดงผลตำแหน่งที่ตั้งแหล่งท่องเที่ยวในระบบแผนที่ ร่วมกับการจัดทำเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น เพื่อแสดงผลแผนที่แหล่งท่องเที่ยวผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น

 

2.งานวิจัยผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ “ไข่มุกอันดามัน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กรรนิการ์ กาญจนชาตรี คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เล่าถึงที่มาที่ไปของงานวิจัยว่า “การศึกษาวิจัยเรื่องมุกได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความเห็นชอบของ  รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม ซึ่งเป็นรองอธิการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตในปัจจุบัน เพราะท่านเล็งเห็นว่าแกนของงานวิจัยที่แท้จริงคือสามารถตอบโจทย์ของชุมชนได้ ดังนั้น ควรที่จะสนับสนุนภูมิปัญญาของท้องถิ่นเป็นประเด็นสำคัญ งานวิจัยมุกหรือไข่มุกจึงเป็นงานวิจัยหลักของคณะที่จะต้องทำเพื่อจังหวัดภูเก็ต มุกธรรมชาติ (natural pearl) เกิดจากวัตถุภายนอกพลัดตกลงไปในตัวหอยหอยจึงขับสารมุกโดยเซลล์บุผิวของเนื้อเยื่อแมนเทิล (mantle) ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ในการสร้างเปลือกหอยโดยดึงสารประกอบแคลเซียมจากน้ำมาสร้างเป็นชั้นเปลือกขึ้น ชั้นมุกประกอบด้วยผลึกของแคลเซียมคาร์บอเนตที่เรียกว่า อะราโกไนท์ (aragonite) รวมกับเมือกและสารจำพวกคองคิโอลิน (conchiolin) แทรกอยู่ ทำให้ดูมีประกายสีรุ้งแวววาว มุกชนิดนี้หายากมากในธรรมชาติ มีรูปทรงแตกต่างกันเพราะไม่สามารถควบคุมรูปทรงได้  ราคาแพง จึงทำให้มนุษย์คิดค้นมุกเลี้ยงขึ้นในเวลาต่อมา (culture pearl)

นอกจากนี้งานวิจัยเรื่อง “ประมงที่ยั่งยืนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”ได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นงานวิจัยเชิงบูรณาการมีการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชุมชนและเอกชน โดยช่วยส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการฝึกสอนให้เพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นซึ่งเชื่อมโยงไปถึงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(นักศึกษาในโครงการประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่1) ได้ทำงานร่วมกับชุมชน และนักศึกษาในโครงการก็มีรายได้เป็นทุนการศึกษาจากการขายสาหร่ายด้วยเช่นกัน โดยได้รับการสนับสนุนพื้นที่การวิจัยจากบริษัทภูเก็ตเพิร์ล อินดรัสทรี จำกัด

 

นายธีรเดช สวัสดิ์ภักดี นักศึกษาชั้นปีที่1 คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ม.สงขลานครินทร์ นักศึกษาในโครงการประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่1 กล่าวถึงโครงนี้ว่า “ผมเป็นคนรักธรรมชาติอยู่แล้ว  จึงเลือกเรียนคณะทางด้านสิ่งแวดล้อม พอมาเรียนจริงๆรู้สึกว่ามันตอบโจทย์ตัวเองมากครับ เราได้รู้ลึกมากขึ้น หวงแหนธรรมชาติของเรามากขึ้นจากการปลูกฝังของอาจารย์ผู้สอน ซึ่งที่ดีมากๆคือเราได้นำความรู้ที่เรียนมาใช้จริง ได้ความรู้เพิ่มจากชาวบ้านในชุมชน ทำให้เรามีประสบการณ์จริง และที่สำคัญโครงการทำให้เรารู้จักการทำงานเป็นและมีรายได้ระหว่างเรียน”

การทำงานจริง

นอกจากพัฒนาชุมชนที่ ม.อ. ภูเก็ต ทำอย่างจริงจังแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ทาง ม.อ. ภูเก็ต ที่ทำควบคู่กันไปอย่างจริงจังก็คือการให้นักศึกษาได้ทดลองทำงานจริงๆ โดยนอกจากการออกฟื้นที่ไปยังชุมชนแล้ว นักศึกษาของทาง ม.อ. ภูเก็ต จะได้ไปทำงานยังสถานประกอบการจริงๆที่เป็นเครือข่ายกับทางมหาวิทยาลัย และที่สำคัญคือการนำคนที่งานจริงๆ มีประสบการณ์ในการทำงานมาเป็นอาจารย์ผู้สอนให้กับทางนักศึกษาในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในคณะการบริการและการท่องเที่ยว ในกลุ่มวิชาธุรกิจสายการบิน หรือในสาขาวิชาการจัดการการบริการ

 

การมีหลักสูตรที่สนองต่อการพัฒนาชุมชนและธุรกิจหลักของพื้นที่ ทำให้ “วิทยาเขตภูเก็ต” เป็นที่สนใจและต้องการเข้ามาศึกษาจากเยาวชนทั่วโลก จนในปัจจุบันมีนักศึกษาจาก 26 ประเทศเข้าเรียนในหลักสูตรที่เป็นนานาชาติ  ซึ่งแต่ละคนแม้จะมาจากที่ต่างกันแต่ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันคือต้องการนำวิชาความรู้ไปพัฒนาวิชาชีพในอนาคต

“Sandy” หนุ่มจากออสเตรเลีย เข้ามาเรียนวิชาธุรกิจสายการบิน เพราะมาเที่ยววันหยุดที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อผ่านวิทยาเขตภูเก็ตในระหว่างทางไปสนามบิน จึงเกิดความสนใจอยากมาศึกษาที่นี่ และพบว่า ม.อ.ภูเก็ตเป็นวิทยาเขตนานาชาติ มีสาขาที่น่าสนใจ และมีนักศึกษาต่างชาติเรียนจำนวนมาก

ต่างจาก “Jaqueline” นักศึกษาจากเมืองซูริค สวิสเซอร์แลนด์  ซึ่งเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงระดับโลกแต่กลับหลงรักภูเก็ต โดยก่อนหน้านี้ครอบครัวมาพักผ่อนที่ภูเก็ตทุกปี และย้ายมาอยู่และเรียนมัธยมปลายที่นี่  ได้ยินรุ่นพี่พูดถึงชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทั้งเรื่องความมีมาตรฐานของหลักสูตรการเรียนการสอนและความเป็นนานาชาติ  ปัจจุบันเรียนการจัดการการโรงแรม  ซึ่งนอกจากได้รับความรู้ด้านวิชาการแล้วยังได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมของไทยด้วย  อนาคตอยากจะไปศึกษาต่อที่ สถาบันโรงแรม IMI ในสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งมีความร่วมมือทางวิชาการอยู่กับวิทยาเขตภูเก็ต  และจะกลับมาทำงานที่ภูเก็ต

ส่วน “Daniel” ชาวอังกฤษ กำลังเรียนวิชาการจัดการโรงแรม เคยทำงานเป็นพนักงานโรงแรมที่หาดป่าตอง มีเพื่อนๆ ที่เคยศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แนะนำให้มาเรียนที่นี่ เมื่อมาเรียนแล้วได้ทั้งวิชาการและความสนุกสนานในการใช้ชีวิต ที่สำคัญได้มีเพื่อนทั้งที่เป็นคนไทย ชาวเอเชีย และชาติตะวันตก

“น้องมุก” นักศึกษาไทย สาขาการจัดการบริการ ชอบเรียนภาษามาตั้งแต่มัธยม เคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปประเทศเบลเยี่ยม 1 ปี  อยากเรียนคณะที่ได้มีโอกาสสื่อสารกับคนทั่วไปจริงๆ ซึ่งทราบว่าที่ภูเก็ตมีมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีความเด่นด้านภาษาอยู่ จึงสนใจเข้าเรียน และก็ไม่ผิดหวัง ตอนนี้กำลังจะไปฝึกงานที่โรงแรมในภูเก็ตแต่หากมีโอกาสจะไปหาประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศต่อไป

ในขณะที่ “อาทิตยา” ซึ่งปกติเป็นคนชอบพูดคุย ชอบพบปะผู้คน เข้ามาเรียนการจัดการงานประชุมและกิจกรรมพิเศษ เข้ามาเรียนด้วยคำแนะนำจากรุ่นพี่ ประกอบกับชอบเรียนภาษาอยู่แล้ว และที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งอยู่ในเมืองท่องเที่ยวที่เอื้อกับการเรียนในด้านนี้ เป็นการสร้างโอกาสให้เราได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการประกอบอาชีพหลังจบการศึกษา

ด้านอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชื่อมั่นว่าบัณฑิตของเรานอกจากจะทำงานได้จริง มีความรู้เชิงปฎิบัติสูง มีความสามารถในการสื่อสารแล้ว จะต้องมีจิตใจที่พร้อมจะดูแลสังคม มีจิตอาสา มุ่งมั่นที่จะทำให้สังคมดีขึ้น ซึ่งเป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ สร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาเรียนที่นี่ว่า บุตรหลานจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นกว่าเดิม มีความสามารถในการดูแลสังคม ต่อไปในอนาคตได้

            “จุดยืนของเราคือการสร้างความรู้ สร้างคนที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาประเทศ นวัตกรรมที่สร้างขึ้นต้องใช้ประโยชน์ได้จริง มีความเป็นสากลแต่สามารถใช้ประโยชน์ได้กับพื้นที่ภาคใต้และการพัฒนาประเทศโดยรวม และสร้างคนดี ที่มีคุณภาพ พร้อมจะออกไปดูแลสังคม  เราเดินไปด้วยมาตรฐานระดับสากลแต่ยังคงดูแลพื้นที่อย่างเข้มข้น เป็นที่พึงให้พี่น้องประชาชน สร้างคนดีให้กับสังคม เป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศร่วมกับมหาวิทยาลัยหลักอื่นๆ  ในอนาคตจะเป็นการต่อสู้กันด้วยคุณภาพของคน และความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากร” อธิการบดีกล่าว

ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ยุคที่มหาวิทยาลัยล้นประเทศ คนจบปริญญาล้นประเทศ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ มหาวิทยาลัยต้องทำการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดไม่ได้แค่ผลิตบัณฑิตออกใบพร้อมใบปริญญา แต่ทำงานไม่เป็น แต่ต้องผลิตบัณฑิตออกไปทำงานเป็น ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาทำงานได้จริง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ถือว่าได้สร้างกระบวนการในการเรียนที่ถือว่าตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยน ด้วยการสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับนักศึกษาให้เค้าพร้อมออกไปสู่โลกของการทำงานในยุคนี้ได้อย่างแท้จริง