มหาวิทยาลัยคริสเตียนเปิดรับหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต

หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2562)
ของมหาวิทยาลัยคริสเตียนทั้งหลักสูตรไทยและนานาชาติ

ภาพรวมของหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยคริสเตียน
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2562) นี้ เป็นหลักสูตรที่มีการปรับปรุงเนื้อหารายวิชาให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณวุฒิปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ พ.ศ. 2560 โดยได้รับการรับรองหลักสูตรจากสภาการพยาบาลแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 หลักสูตรนี้สนับสนุนให้ผู้เรียนมีศักยภาพในการเป็นพยาบาลวิชาชีพในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง เน้นให้มีทักษะของการเรียนรู้ใน ศตวรรษที่ 21 มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้สามารถสื่อสารกับผู้รับบริการที่เป็นชาวต่างชาติได้อย่างดี หรือสื่อสารกับบุคลากรวิชาชีพสุขภาพจากต่างประเทศได้ เน้นการสร้างนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ และสนับสนุนให้นักศึกษาส่งผลงานไปประกวดในเวทีต่างๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์ตนเองและสร้างเครือข่ายนวัตกร นอกจากนั้นยังเน้นให้นักศึกษาใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ร่วมกับอาจารย์ โดยอาจารย์เป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2562) นี้ตอบสนองการพัฒนาพยาบาลวิชาชีพที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามที่สภาการพยาบาลกำหนดกล่าวคือใช้ศาสตร์และศิลป์ทางการพยาบาล การผดุงครรภ์ ศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้องและหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อให้การพยาบาลแบบองค์รวมแก่ผู้รับบริการที่เป็นบุคคล ครอบครัว และชุมชน ในทุกมิติทุกภาวะสุขภาพ และทุกช่วงชีวิต โดยคํานึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมของผู้รับบริการ การเปลี่ยนแปลงของสังคม ศาสตร์ทางการพยาบาลที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น ศาสตร์อื่นที่ทันสมัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพประชาชน และเทคโนโลยีทางการแพทย์ การเน้นให้ผู้เรียนสามารถพัฒนานวัตกรรมสุขภาพ รวมถึงใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่สนองตอบความต้องการของประชาชนและผู้รับบริการสุขภาพ ทั้งนี้การปฏิบัติการพยาบาลต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพและความเท่าเทียมกันของคุณค่าชีวิตมนุษย์
จุดเด่นของหลักสูตร
เพิ่มศักยภาพด้านการใช้ภาษาอังกฤษด้วยการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารทั่วไปและสื่อสารในวิชาชีพสุขภาพ ถึง 5 รายวิชา กับอาจารย์ต่างชาติ
โอกาสฝึกปฏิบัติและศึกษาดูงานในสถาบันต่างประเทศ ที่มีความตกลงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคริสเตียน เช่น Keimyung University, Korea; Griffith University, Australia; Azusa Pacific University, USA
เน้นชั่วโมงการฝึกปฏิบัติรายวิชาต่างๆเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มทักษะการปฏิบัติพยาบาล
ฝึกปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติ เพื่อสร้างให้นักศึกษามีประสบการณ์การเป็น “พยาบาล ไอซียู” ด้วยแนวคิดการผสานความรู้จากการฝึกปฏิบัติในปีต้นๆ มาตกผลึกและออกแบบการดูแลผู้ป่วยวิกฤติร่วมกับอาจารย์พยาบาล
เน้นการสร้างนวัตกรรมทุกรายวิชาทางการพยาบาล เพื่อการคิดสร้างสรรค์ต่อยอด
เน้นการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมและสร้างจิตสาธารณะในรายวิชา “พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม” ทุกภาคการศึกษา
การสร้างจิตสำนึกที่ดีในการช่วยเหลือผู้อื่น
สิ่งสำคัญของการเรียนการสอนในหลักสูตรนี้…นักศึกษาจะได้เรียนรู้การเป็นพยาบาลวิชาชีพที่มีคุณสมบัติของ “การเอาใจใส่ดูแล” (Caring) เน้นหลักการที่ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ใส่ใจกับญาติหรือครอบครัวผู้ป่วย ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากอาจารย์ที่เป็นต้นแบบสำคัญ ทำให้นักศึกษาเป็นบุคคลผู้เรียนรู้ (Learner person) พร้อมเผชิญความเปลี่ยนแปลง และมีความเป็นผู้นำเพื่อสร้างสัมมาชีพที่ดีต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม รวมทั้งสามารถเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Co-creator) เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยสามารถบูรณาการข้ามศาสตร์ และเป็นผู้ประกอบการที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก
นักศึกษาต้องฝึกงานในสถานประกอบการจริง และฝึกแก้ปัญหาจากโจทย์ของการคิด ตัดสินใจเชิงจริยธรรมในทุกรายวิชาปฏิบัติ….ซึ่งจะทำให้นักศึกษาสะสมทักษะการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม เพื่อคงจรรยาบรรณทางวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว
ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้นักศึกษาร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์การพัฒนาที่ยั่งยืน ขจัดความขัดแย้งและสร้างสันติสุขในสังคมไทยและประชาคมโลก กล้าต่อต้านการกระทำในสิ่งที่ผิด ซึ่งทำให้เกิดเป็นผู้มีความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง (Active citizen)
โอกาสงานในอนาคต
พยาบาลวิชาชีพที่ในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน
พยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
พยาบาลวิชาชีพในสถานบริการสุขภาพทุกประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นักวิชาการ/ นักวิจัยด้านการพยาบาล/ ด้านสุขภาพ

คุณสมบัติผู้ที่จะศึกษาต่อ เป็นผู้มีความประพฤติดี และมีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ และมีคณสมบัติการศึกษาดังนี้
1. สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายแผนการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และมีผลการเรียนรายวิชา เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และรายวิชาภาษาอังกฤษ เกรดเฉลี่ยแต่ละรายวิชา ไม่น้อยกว่า 2.00 หากมีคะแนนน้อยกว่า 2.00 ให้เรียนเสริมพื้นฐานตามที่มหาวิทยาลัยคริสเตียนกำหนด หรือ
2. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือสาขาสัมพันธ์ หรือ
3. กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาธารณสุข หรือสาขาสัมพันธ์กับสาขาพยาบาลศาสตร์