เปิดอนาคตเด็กไทย กับโอกาสการทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่จีน ผ่าน 3 มุมมองใหม่

 เปิดอนาคตเด็กไทย กับโอกาสการทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่จีน ผ่าน 3 มุมมองใหม่
รู้เรื่องจีนต้องรู้มากกว่าภาษา!!

  • จากศิลป์จีน สู่จีนศึกษา นอกจากเรียนแค่ภาษา ยังต้องรู้รอบด้านเพื่อคว้าโอกาสที่มากกว่า

          ฤดูกาลแอดมิดชันปี 62 เพิ่งผ่านพ้นไป #dek62 หลายคนมีที่เรียนตามความตั้งใจแล้ว ถึงคิวของน้องๆ #dek63 และรุ่นต่อๆ ไป ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สนามสอบเข้ามหาวิทยาลัยตามมา หลายคนมีเป้าหมายคณะ มหาวิทยาลัยที่ตั้งใจจะสอบเข้าแล้ว แต่หลายคนยังคงไม่แน่ใจในเป้าหมายการเรียนต่อของตัวเอง บทความนี้จะพาไปสำรวจเป้าหมายคณะของน้องๆ ที่เรียนจบสายศิลป์จีน ว่าจากที่ได้เรียนสายศิลป์จีนมาตลอด 3 ปี ในช่วง ม.ปลาย พวกเขามีมุมมองกับการต่อยอดการเรียนภาษาจีน ไปสู่การเรียนในคณะรูปแบบใด และคิดว่าการเรียนภาษาจีนจะได้นำไปใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคตอย่างไรบ้าง

  • เรียนแค่ภาษาอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้ให้รอบด้าน

เริ่มต้นกันที่เฟรชชี่ของมหาวิทยาลัย ธนสร ขาวชัยฤทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong International College: PBIC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า ตนเริ่มหลงรักในภาษาจีน จากที่ได้เรียนในสายศิลป์ภาษาจีนตลอด 3 ปีในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อีกทั้งได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศจีนเป็นเวลา 10 เดือน ตนได้รับประสบการณ์ดีๆ ที่ประเทศจีน ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย ประเทศมีความทันสมัย ผู้คนเป็นมิตร สถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย และยังมีโฮสต์ที่ใจดี คอยดูแลช่วยเหลืออยู่เสมอ หลังจากที่มีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศจีน ก็พบว่าประเทศจีนยังมีสเน่ห์ที่น่าหลงใหล รอให้เรียนรู้อีกมากมาย ทั้งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น และความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ตนตั้งเป้าหมายว่า การที่จะรู้จักจีนอย่างแตกฉานได้ ต้องเรียนรู้มากกว่าแค่ด้านภาษาเพียงอย่างเดียว

  • เรียนรู้รอบ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม กับประเทศอันดับ 1 ของโลก   

ด้าน มุนินทร์ ดาสิงห์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong International College: PBIC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การรู้ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในปัจจุบันอีกต่อไป แต่การที่มีความรู้ทั้งด้านภาษา และรู้จักประเทศนั้นอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน จะเป็นสิ่งที่เพิ่มโอกาสให้กับตัวเอง มากกว่าคนที่รู้แค่ด้านภาษาเพียงอย่างเดียว สำหรับประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอารยธรรมอันเก่าแก่กว่า 5,000 ปี อีกทั้งมีเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่น่าค้นหา ในขณะเดียวกัน การพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และเทคโนโลยี ถือว่าพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด จนได้ชื่อว่ากำลังจะก้าวขึ้นเป็น

มหาอำนาจของโลก ตนจึงมองว่าการเรียนรู้จีน ไม่ควรหยุดอยู่แค่ด้านภาษา หรือการทำความรู้จักจีนผ่านเรื่องราวในอดีต แต่ต้องเรียนรู้พัฒนาการของจีนไปพร้อมกัน ซึ่งหลักสูตรจีนศึกษา PBIC Thammasat มีวิชาที่ครอบคลุมการเรียนรู้จีนอย่างรอบด้าน อาทิ วิชาสังคมและวัฒนธรรมจีน วิชาเศรษฐกิจและธุรกิจจีน วิชาการตลาดของจีน และวิชาการเจรจาธุรกิจจีน เป็นต้น

  • เปิดโลกกว้างที่จีน มองเห็นอนาคตของตัวเองชัดเจนยิ่งขึ้น

ปิดท้ายที่ ธนโชค ชีวาสุขถาวร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong International College: PBIC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า  ตนเองมีโอกาสในช่วงปี 3 เทอม 2 ไปศึกษาที่ประเทศจีนเป็นเวลา 1 เทอม โดยมีโอกาสเลือกเรียนมหาวิทยาลัยคู่สัญญา ได้แก่ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยฟูตั้น มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ และมหาวิทยาลัยชานตง ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยล้วนเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศจีนทั้งสิ้น  โดยตนได้เลือกไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากเคยมีโอกาสไปเที่ยว และไปใช้ชีวิตอยู่เป็นเวลาสั้นๆ เซี่ยงไฮ้ได้ชื่อว่าเป็น “ไข่มุกแห่งเอเชีย” หรือเป็นย่านเศรษฐกิจ การค้าที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย หลังจากที่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่เซี่ยงไฮ้เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองหนึ่งที่กำลังเติบโตอย่างรอบด้าน ทั้งธุรกิจ บริการ การค้า การลงทุน ทำให้ตนตั้งเป้าหมายที่จะทำงานในภาคบริการของบริษัทจีน  เนื่องจากธุรกิจภาคบริการของจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ตนเชื่อว่าจะสามารถนำความสามารถการสื่อสารภาษาจีน การรู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้ง จากการเรียนในหลักสูตรจีนศึกษาเป็นเวลา 4 ปี มาต่อยอดในการทำงานร่วมกับบริษัทจีนได้ในอนาคต

สำหรับน้องๆ มัธยมปลายที่สนใจรายละเอียดหลักสูตรของ PBIC Thammasat ทั้งหลักสูตรจีนศึกษา อินเดียศึกษา และไทยศึกษา ในรูปแบบการเรียนการสอนแบบนานาชาติ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.pbic.tu.ac.th สอบถามโทร. 0-2613-3720 หรือ facebook.com/PBIC.TU