​ โครงการครูรักษ์ถิ่น5รุ่น1,500ทุน เรียนครูเอกปฐมวัย-ประถมศึกษา 

กระทรวงศึกษาธิการ ลงนามความร่วมมือในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อสนับสนุนทุนสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนยากจนด้อยโอกาสจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่สุดร้อยละ 20 แรกของประเทศในพื้นที่ห่างไกล สำหรับนักเรียนที่อยากเป็นครู ได้เรียนครู จนจบปริญญาตรี และกลับมาเป็นครูในโรงเรียนท้องถิ่นของตน ทั้งนี้ เมื่อศึกษาจนจบตามหลักสูตรจะได้รับการบรรจุเป็นครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลทั้งหมด

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงครั้งนี้เป็นความร่วมมือเพื่อสนับสนุนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่มีความต่อเนื่องตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ช่วยสร้างโอกาสให้นักเรียนยากจนด้อยโอกาสที่มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีและมีจิตวิญญาณความเป็นครู ได้เรียนครูจนจบปริญญาตรีอย่างมีคุณภาพ มีทักษะความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และได้รับการบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล โดยจะสนับสนุนทุนให้แก่นักศึกษา รุ่นละ 300 ทุน ทั้งหมด 5 รุ่น รวม 1,500 ทุน เฉลี่ยทุนละ 160,000 บาท/ทุน/ปี ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าที่พัก ค่าครองชีพรายวัน ค่าตำราและอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป โครงการนี้จะดำเนินงานผ่านสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี ในสาขาปฐมวัยและประถมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะคัดเลือกสถาบันเข้าร่วมโครงการ 10 สถาบัน ครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยสถาบันใดสนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการตลอดเดือนกรกฎาคมนี้

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.เป็นหน่วยงานสำคัญที่กำกับดูแลโรงเรียนปลายทาง ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่เป้าหมายในการบรรจุครูเพื่อไปทำงานในพื้นที่ โดยพบว่า โรงเรียน 2,000 แห่ง จาก 30,000 แห่ง ไม่สามารถยุบควบรวมได้ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการขาดครู และย้ายออก ดังนั้น โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ร่วมทำกับ กสศ.จะทำให้การขาดครูลดลง และเด็กได้ศึกษาเล่าเรียนตามที่ควรจะเป็น โดยโรงเรียนเหล่านี้เป้าหมายอยู่ในพื้นที่สูง ชายขอบ บนเกาะ และโรงเรียนมักไม่มีครูท้องถิ่นสอนอยู่ เชื่อว่า คนที่อยู่ในท้องถิ่นแล้วได้เป็นครู คงไม่ย้ายออก ปัจจุบันครูสอนในระดับประถมศึกษายังขาดแคลนเกือบ 4,000 คน โดยผู้จบทางประถมศึกษามีประมาณ 8,000 พันคน จากผู้จบทั้งหมด 250,000 คน ทั้งนี้ จำนวนครูที่มีการโยกย้ายในปี 2562 มีครูในสังกัด สพฐ. เช่น จ.เชียงใหม่ มีการโยกย้าย 179 อัตรา, จ.ชัยภูมิ 159 อัตรา, จ.กาญจนบุรี 102 อัตรา เป็นต้น โครงการนี้ช่วยให้ครูไปบรรจุในพื้นที่ และจะแก้ปัญหาการศึกษาความเสมอภาคให้ลดน้อยลง ในระยะ 4-5 ปี ปัญหาน่าจะทุเลา ทำให้เด็กได้รับโอกาสและการจัดสรรที่เท่าเทียมกัน

………………..

ภาพประกอบhttp://senorhoward.com/