นักวิจัยมทร.ธัญบุรีพัฒนาเส้นใยกล้วยต่อยอดสร้างอัตลักษณ์ผ้าเกษตรกรปทุมธานี

นายจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานเปิด โครงการพัฒนาเส้นใยกล้วย เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ จังหวัดปทุมธานี (โครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ณ กลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน) โดยมี ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร นำทีมอาจารย์ประจำสาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คณะเทคโนโลยี

คหกรรมศาสตร์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ “เส้นใยกล้วย” ต่อยอดสู่ผืนผ้า สร้างอัตลักษณ์ให้จังหวัดปทุมธานี ให้กับกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน ณ ศูนย์ส่งเสริมอาชีพวัดไก่เตี้ย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี โครงการต่อยอดงานวิจัยการพัฒนาเส้นใยกล้วยในงานแฟชั่นเครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ เป็นงานวิจัยเชิงพื้นที่ผ่านงานวิจัย ABC โดยได้รับทุนสนับสนุนในการวิจัยจาก สกสว.ร่วมกับ มทร.ธัญบุรี

นายจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เผยว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มทางการเกษตร นำวัสดุเกลือใช้ ในพื้นที่มาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน หรือมาแปรรูปผลิตเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นซึ่งอาจต่อยอดเป็นสินค้ามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และสินค้า OTOP สร้างรายได้ในอนาคต ส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นกล้วย พัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี

 

นายวีระชาติ สมบูรณ์วิทย์ พัฒนาการจังหวัดปทุมธานี เล่าว่า จังหวัดปทุมธานีมีพื้นที่ปลูกกล้วยมากกว่า 3,000 ไร่ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ต้นกล้วยหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรจะตัดทิ้ง เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกรอบใหม่ โดยมีปริมาณมากกว่า 30,000 ต้นต่อปี เป็นเพียงแค่เป็นปุ๋ยบนดิน หากมีการนำเศษวัสดุเหลือทิ้งมาทำให้เกิดประโยชน์ ในส่วนของกาบและก้านใบของกล้วยน่าจะมีประโยชน์ โดยจากการศึกษาหาข้อมูล ทาง มทร.ธัญบุรี มีงานวิจัยในการพัฒนาเส้นใยจากกล้วย จึงได้ขอความอนุเคราะห์ ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มและคณะเป็นวิทยากรหลักของโครงการมาถ่ายทอดองค์ความรู้ และได้รับความร่วมมือจากหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด อำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และพระมหาไพบูลย์ ฐิตะธัมโม เจ้าอาวาสวัดไก่เตี้ย อนุญาตให้ใช้อาคารศูนย์ส่งเสริมอาชีพวัดไก่เตี้ย เป็นสถานที่ในการถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าจากต้นกล้วย สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

ทางด้าน ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร อาจารย์จากสาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม วิทยากรหลักโครงการ เล่าว่า งานวิจัยการพัฒนาเส้นใยกล้วย นำกาบและก้านในกล้วยมาปั่นเป็นเส้นด้าย ซึ่งเส้นใยกล้วย มีคุณสมบัติเด่นในด้านความแข็งแรง และเงามันสามารถขึ้นรูปเป็นเส้นด้าย ยังสามารถนำมาต่อยอดทอเป็นผืนผ้าและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ ถือเป็นการลดวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกล้วย และสร้างมูลค่าด้านการพัฒนาเส้นใยในอุตสาหกรรมสิ่งทอให้แก่เกษตรกร ลดการนำเส้นใยธรรมชาติ จากต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มทางเลือกใช้ผ้าจากเส้นใยกล้วย ซึ่งเป็นแนวโน้มในการผลิตเสื้อผ้า Eco-friendly เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋าถือ หมวก และรองเท้า สามารถเป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ จึงนำงานวิจัยมาถ่ายทอดและต่อยอดให้เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ และสร้างความเป็นอัตลักษณ์ผ้าจากเส้นใยกล้วยของจังหวัดปทุมธานี โดยทำการถ่ายทอดองค์ความรู้และอบรมให้กลุ่มอาชีพการพัฒนาเส้นใยกล้วย กลุ่มเป้าหมาย 30 คน จำนวน 4 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรที่ 1 การแยกเส้นใยกล้วย หลักสูตรที่ 2 การปั่นเส้นด้ายด้วยใยกล้วย หลักสูตรที่ 3 การทอผ้าใยกล้วย และหลักสูตรที่ 4 การตัดเย็บ ผลิตลายผ้าและการย้อม ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในครั้งนี้ เกษตรกรนำไปต่อยอดผลิตผ้าจากเส้นใยกล้วย สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรจังหวัดปทุมธานีต่อไป