ประวัติ ครูจุ๊ย-กุลธิดา ส.ส.พรรคอนาคตใหม่

คนส่วนใหญ่ที่รู้จักครูจุ๊ย (Juice) หรือ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ จะนึกถึงสิ่งหนึ่งควบคู่กันไปด้วยเสมอ นั่นคือ การศึกษาฟินแลนด์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นการศึกษาที่มีระบบที่ดีที่สุดในโลก และไม่ได้รู้จักการศึกษาแบบฟินแลนด์แค่ในภาคทฤษฎีเท่านั้น เธอยังเป็นนักเรียนเก่าฟินแลนด์ตัวจริงที่มีโอกาสได้สัมผัสระบบที่ว่านี้ตั้งแต่การเป็นนักเรียนมัธยม และยังได้กลับไปเรียนที่นั่นอีกครั้งในฐานะนักศึกษาปริญญาโทด้วย

กุลธิดาจึงเป็นเสมือนแหล่งข้อมูลที่มีชีวิตของการวางนโยบายด้านการศึกษาของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งพรรคพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างระบบการศึกษาฟรีที่ไม่มีค่าใช้จ่ายแอบแฝงแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและในยุคสมัยที่ผ่านมา ด้วยความเชื่อที่สอดคล้องไปกับแนวนโยบายอื่นๆ ของพรรคที่ว่า ความเท่าเทียมของการเข้าถึงการศึกษาไม่ได้สร้างแต่คุณภาพประชากรแบบยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

ประวัติส่วนตัว

กุลธิดาเกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) ที่กรุงเทพฯ ก่อนที่ครอบครัวจะย้ายมาอยู่นนทบุรีในภายหลัง ปัจจุบันอายุ 34 ปี

การศึกษา

  1. ปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต เอกภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. ปริญญาโท Master of Arts in Intercultural Communication จาก University of Jyväskylä ประเทศฟินแลนด์
  3. ปัจจุบัน (ขณะกำลังทำเนื้อหานี้) กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก Doctor of Philosophy Programme in Applied Linguistics (International Programme) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ประวัติการทำงาน

  1. อาจารย์พิเศษวิชาการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (ภาคอินเตอร์และภาษาไทย)
  2. ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โครงการห้องเรียนวิศว์-วิทย์ ดรุณสิกขาลัย
  3. คอลัมนิสต์ประจำ WAY Magazine
  4. ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ

ความสามารถทางภาษา

กุลธิดาสามารถใช้ภาษาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส และฟินนิช (ภาษาฟินแลนด์)

กิจกรรมทางการเมือง

เป็นผู้ออกแบบแคมเปญ “อ่านก่อนโหวต” ก่อนจะถึงเวลาการลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ 60 ในปี พ.ศ. 2559

สิ่งที่ทำให้เข้ามาทำงานการเมือง

กุลธิดาหันมาสนใจการเมืองเพราะอยากเห็นสังคมไทยดำรงอยู่บนหลักการของความเคารพในสิทธิมนุษยชน พร้อมกับความเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกันของมุนษย์ เมื่อจบการศึกษากลับมา กุลธิดาสมัครเข้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ จุดเปลี่ยนที่สุดกลับเป็นการที่ได้มีโอกาสสอนนักเรียนมัธยมปลาย เธอค้นคว้าการเรียนการสอนด้วยตัวเองอย่างหนัก ด้วยความคิดที่ว่าไม่มีวุฒิทางการศึกษามาก่อน และขณะกำลังศึกษาต่อปริญญาเอกในตอนนี้ (กลางปีพ.ศ. 2561) กุลธิดาลงมือทำงานค้นคว้าวิจัยเรื่องวาทกรรมในห้องเรียน อาศัยประสบการณ์ทั้งจากการเป็นนักเรียนและการเป็นครูทำให้ตระหนักดีว่า การเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งด้วย นั่นคือการใช้ภาษาในห้องเรียน และในประเทศไทยยังไม่มีใครสนใจเรื่องนี้มาก่อน ประสบการณ์จากการทำงานอีกอย่างที่พบคือ ไม่เคยเห็นครูอยู่ในคณะบริหารการศึกษาจริงๆ ดังนั้น การทำงานในภาพรวมจึงเป็นการทำงานบนหอคอยงาช้าง นี่คือ แรงผลักดัน ที่อยากเข้ามาทำงานการเมือง และผลักดันเรื่องการศึกษาจากฐานความเป็นครู

ความสำเร็จ

  1. Scholarship for International Degree Students in 2008-09 University of Jyväskylä
  2. SUPRA Programme: Support Programme for Asian Studies
  3. Nordic Institute of Asian Studies, Copenhagen, Denmark 2008

ผลงานทางด้านวิชาการ

  1. [The Asian Conference on Education 2013’s Conference Proceedings] Uncovering a Cultural Black Box: A Case Study of a Classroom Discourse of a Regional Award-Winning Thai Social Sciences Teacher in a Topic of Culture (2013)
  2. [13Th International Conference on Thai Studies Globalized Thailand, Connectivity, Conflict and Conundrums of Thai Studies] ”Materialism Must Die.” a Case Study of Binary Opposition Used in Narrative Discourse in a Thai Social Sciences Classroom (2018)

ผลงานอื่นๆ

  1. หนังสือ Forgotten English Conversation และ Hot English / สำนักพิมพ์พราว
  2. งานแปลวรรณกรรมเยาวชนฟินแลนด์ ไตรภาคสโนว์ไวต์ เขียนโดยซัลล่า ซิมุกกา / สำนักพิมพ์ นานมี บุ๊คส์
  3. รวมเรื่องสั้นแปลจากภาษาฟินแลนด์ “นักสำรวจและเรื่องฟินน์อื่น ๆ” / สำนักพิมพ์กำมะหยี่
  4. ปัจจุบันเขียนคอลัมน์ เล่า/เรียน ให้กับ WAY Magazine และ เติมครูในช่องว่างให้กับ Voice TV Blogs
  5. สอนหนังสือวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมให้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จนถึงมหาวิทยาลัยระดับปริญญาโท

งานอดิเรกและความชอบส่วนตัว

กุลธิดาใช้เวลาว่างอ่านหนังสือ โดยเฉพาะนวนิยายของ Haruki Murakami, Kazuo Ishikuro, Jhumpa Lahiri, Steig Larsson, Tove Jansson รวมทั้งงานของนักเขียนไทย อย่างเช่น อุรุดา โควินท์ นอกจากนี้ยังสนใจงานเขียนบทละครเวทีของ Arthur Miller, กลอนของ Wislawa Szymborska, หนังสือประเภทสารคดี และยังชื่นชอบการชมภาพยนตร์อีกด้วย

เธอมีแมวเป็นสัตว์เลี้ยง สนใจเสื้อผ้าในสไตล์เฉพาะตัว ทั้งเลือกซื้อและตัดเอง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แว่นตามีดีไซน์ ซึ่งปัจจุบันนี้มีอยู่ในครอบครอง 21 อัน