มทร.ธัญบุรี จับมือ ซีพีเอฟยกระดับทักษะด้านอาหารปลอดภัยสู่ภาคอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ลงนามบันทึกความร่วมมือทางการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับห้องปฏิบัติการ กับ ห้องปฏิบัติการ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพีเอฟ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ จำกัด เพื่อเพิ่มทักษะและสมรรถนะแรงงานไทย เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารปลอดภัยสู่ภาคอุตสาหกรรม (หลักสูตรประเภท Non-Degree)

นายวิรัช โหตระไวศยะ รักษาราชการแทน อธิการบดี มทร.ธัญบุรี เผยว่า แนวทางความร่วมมือ การบูรณาการการเรียนรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติสภาพจริงในสถานประกอบการด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เข้ากับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ ร่วมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีคณาจารย์ในสถานศึกษาที่มีศักยภาพ ความพร้อม ความเชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ถ่ายทอดที่จะก่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิพล และสมรรถนะการเรียนรู้ ความเชี่ยวชาญที่สูงขึ้นและสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองให้ก้าวสู่ตำแหน่งงานที่สูงขึ้นได้ด้วยตนเอง การจัดการเรียนการสอนที่มีความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในสถานประกอบการด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ร่วมกันเป็นอาจารย์ช่วยสอนในฐานะครูพี่เลี้ยง เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การปฏิบัติสภาพจริง สามารถตอบสนองความต้องการและการพัฒนาทักษะการเรียนรู้รายบุคคล โดยการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปฏิบัติสภาพจริงเพื่อปรับกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการรายบุคคลใช้ได้จริง และมุ่งเน้นให้มีการประเมินผลการเรียนการสอนในรูปแบบการให้ใบประกาศนียบัตรตามความสามารถที่ทำได้จริง โดยสถานศึกษา หรือร่วมกับสถานประกอบการเป็นผู้ประเมิน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิพัทธ์ จงสวัสดิ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มเติมว่าทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น เพื่อเพิ่มทักษะและสมรรถนะแรงงานไทย เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารปลอดภัยสู่ภาคอุตสาหกรรม (หลักสูตรประเภท Non-Degree) สำหรับหัวข้อในการอบรม ได้แก่ หลักการ ระบบคุณภาพ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาหารปลอดภัย เทคนิคด้านจุลชีววิทยา เทคนิคทางด้านเคมี เทคนิคด้านการสอบเทียบเครื่องมือ การประยุกต์ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และสถิติเบื้องต้นเพื่อรายงานผลการตรวจสอบ โดยมุ่งเน้นผลิตนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารปลอดภัยที่มีทักษะและสมรรถนะที่ตรงตามกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอาหาร ให้สามารถปฏิบัติงานได้จริง

ด้าน นายพงศธร จันทร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท ด้านห้องปฏิบัติการกลาง กล่าวเพิ่มว่า  ผู้เข้าอบรมในครั้งนี้ ได้แก่ พนักงานในระดับผู้ช่วยห้องปฏิบัติการของบริษัทในเครือซีพีเอฟ  (บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพีเอฟ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ จำกัด) จากห้องปฏิบัติการด้านการทดสอบคุณภาพอาหารจำนวน 8 ห้องปฏิบัติการ จำนวนทั้งสิ้น 26 คน และจะขยายการอบรมไปให้กับพนักงานกลุ่มอื่น ๆ ของบริษัทเพิ่มเติมในระยะต่อไป

นายประจวบ วงษ์สุวรรณ์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ห้องปฏิบัติการ สอบเทียบเครื่องมือวัด ซีพีเอฟ หนองจอก เล่าว่า การจัดโครงการนี้ เป็นโครงการที่ดีมาก ได้พัฒนาความรู้ในส่วนของผู้ช่วยนักวิทยาศาสตร์ สำหรับตนเองการเข้ามาอบรมในครั้งนี้ เสริมและเพิ่มเติมทักษะตลอดจนทบทวนความรู้เดิมๆ ที่บางความรู้อาจจะลืมไปแล้ว ยกตัวอย่างความรู้ทางด้านฟิสิกส์ เครื่องวัดทางด้านฟิสิกส์ ทบทวนความรู้ที่ได้เรียน ความรู้ใหม่ๆ เครื่องมือวัดทางด้านไฟฟ้า ซึ่งเป็นทักษะความรู้ที่สามารถนำไปใช้ ในห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องมือวัดได้ โดยห้องปฏิบัติการสาขาหนองจองเข้าอบรมทั้งหมด 9 คน

นางสาวอัญชลี ตามระภาพ พนักงานวิเคราะห์ ห้องปฏิบัติการ ทางด้านจุลชีววิทยา ซีพีเอฟ จังหวัดระยองเล่าว่า หัวหน้างานคัดเลือกตนเองเข้ามาฝึกอบรม อยากให้มาเรียนรู้ เข้าใจงานที่ทำมากขึ้น เรียนรู้เพิ่มทักษะนำไปพัฒนางาน ตนเองจบ ปวส.ทางด้านบัญชี ในการมาเรียนครั้งนี้ทำให้มีรับความรู้ด้านจุลชีววิทยา ได้เรียนรู้การปฏิบัติงานในห้องทดสอบ สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้จริง หลักสูตรดังกล่าวเหมาะกับตนเองและผู้ที่ต้องการก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น

นายธนวิทย์ เทพแจ่มใส พนักงานห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องวัด จังหวัดสระบุรี เล่าว่า ความรู้ทั้ง 3 โมดูล สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้จริง เพิ่มศักยภาพและทักษะของระดับแรงงาน ในการนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มประสิทธิผลให้กับผู้ทำงานเอง

  …………………

   ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี รายงาน