เปิดโมเดลศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน กับ “วัยใส ใส่ใจ Stroke” นำร่องเฝ้าระวัง “ชุมชนทุ่งสมอ”   

เปิดโมเดลศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน กับ วัยใส ใส่ใจ Stroke” นำร่องเฝ้าระวัง “ชุมชนทุ่งสมอ”

ตั้งเป้าลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพระดับประเทศ

 

  • เด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ โชว์เจ๋ง ผุด “อิไต๋ เตือนภัย” ใช้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
    เมื่อมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีอาการ
  • โมเดลการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน 34 แห่งทั่วประเทศ เดินหน้าเต็มกำลัง หวังพลิกโฉมบทบาทเยาวชนไทย สู่การพัฒนาประเทศ

กรุงเทพฯ 2 สิงหาคม 2562 – สภาเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ จับมือ องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งสมอ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ร่วมเปิดตัวศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ ภายใต้การดำเนินงานของโครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน หรือ Social Innovation & Youth (SIY) รุกเฝ้าระวังอันตรายจากโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) ที่เป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขในชุมชน หลังพบผู้ป่วย 4 หมู่บ้านใน ต.ทุ่งสมอ มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าครึ่งจากกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด พร้อมตั้งเป้าลดอัตราการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงและการเสียชีวิตของชาวบ้านในชุมชน นอกจากนี้ ยังร่วมสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนทุ่งสมอ อาทิ การทำขนมละมุด ขนมพื้นบ้านเอกลักษณ์เฉพาะหนึ่งเดียวในโลก การทำบายศรีดอกไม้สดจำหน่ายในวันสำคัญทางศาสนา และการอนุรักษ์ขบวนกลองยาวเพื่อจัดแสดงในงานพิธีสำคัญตามโอกาสต่างๆ  โดยศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ เป็น 1 ใน 34 โมเดลจากทั่วประเทศที่ร่วมโครงการ SIY ซึ่งขณะนี้ทุกโมเดลอยู่ในระหว่างการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ การเปิดตัวศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ จัดขึ้นเร็วๆนี้ ณ ที่ทำการศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีเมล siy.innovation@gmail.com หรือเฟซบุ๊คแฟนเพจ “SIYPROJECT” https://www.facebook.com/SIYPROJECT/

รองศาสตราจารย์ ชานนท์ โกมลมาลย์   ผู้อำนวยการโครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วม
ของสภาเด็กและเยาวชน
(SIY) และอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สภาเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ จับมือ องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งสมอ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ร่วมเปิดแคมเปญ วัยใส ใส่ใจ Stroke ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ เพื่อเป็นพื้นที่ของเด็กในชุมชนได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของเด็กในท้องถิ่นต่างๆ อย่างมีส่วนร่วม โดยมีเด็กและเยาวชนใน ต.ทุ่งสมอ ที่ร่วมกิจกรรมจำนวน 40 คน โดยประเดิมภารกิจแรก คือ การเฝ้าระวังอันตรายจากโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) ซึ่งเป็นภัยเงียบด้านสาธารณสุขในชุมชนที่เรื้อรังมานาน และยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตของชาวบ้านในชุมชนอีกด้วย

 

 

แคมเปญ วัยใส ใส่ใจ Stroke จัดขึ้นเพื่อให้เด็กและเยาวชนในศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ ได้แสดงศักยภาพของตนเองในการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขร่วมกับท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักถึงอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่ ด้วยการประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านให้รู้ทันโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากที่สุด

นายณัฐพล แผนกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งสมอ กล่าวว่า แคมเปญ วัยใส ใส่ใจ Stroke ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ จะเป็นโมเดลการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขระดับชาติ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง และที่สำคัญทุกกิจกรรมเริ่มต้นจากไอเดียของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นลูกหลานในพื้นที่ โดยปัจจุบันแคมเปญ วัยใส ใส่ใจ Stroke ได้นำร่องในพื้นที่หมู่ 2 โดยได้ทำงานร่วมกับเบญจภาคี 5 ภาคส่วนอย่างมีส่วนร่วม ได้แก่ ภาคเด็กและเยาวชน คือ คณะกรรมการศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ ภาครัฐ คือ องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งสมอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่งสมอ (รพ.สต.) ภาควิชาการ คือ โรงเรียนวัดทุ่งสมอ ภาคประชาสังคม คือ กลุ่ม อสม. และภาคเศรษฐกิจ คือ บานาน่าฟาร์ม และ ยูแอนด์มี  โดยจะนำข้อมูลการดำเนินงานในพื้นที่หมู่ 2 ไปขยายผลสู่หมู่บ้านที่เหลือใน     ต.ทุ่งสมอ ต่อไป

สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานหลังสำรวจข้อมูลของกลุ่มเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองในพื้นที่แล้ว ศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน และเจ้าหน้าที่รพ.สต. จะใช้โปรแกรม CVD Risk ในคอมพิวเตอร์ หรือ แอปพลิเคชัน Thai CV Risk Calculator ในสมาร์ทโฟน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลรายบุคคล โดยความเสี่ยงแบ่งเป็น 4 ระดับ เริ่มจากความเสี่ยงน้อยที่สุดเป็นแถบสีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดงตามลำดับ จากนั้น ศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต. ทุ่งสมอ จะแจ้งภาวะเสี่ยงของแต่ละคนว่าอยู่ในระดับใด พร้อมแนะนำผู้ป่วยและผู้ดูแลในการดูแล ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อลดทอนภาวะเสี่ยงให้น้อยลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นอกจากนี้ เด็กและเยาวชน ยังร่วมแชร์ไอเดียและคิดค้น “อิไต๋ เตือนภัย” ที่มีลักษณะเป็นเกราะไม้ไว้ใช้ตีให้เกิดเสียง นำไปติดให้บ้านของผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงระดับสีแดง เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งสัญญาณให้เพื่อนบ้านรับรู้ โดยให้ชาวบ้านช่วยกันสังเกตุอาการ เมื่อรู้สึกว่าเริ่มชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า หรือแขน ขา ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย พูดไม่ชัด มุมปากตก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เป็นต้น โดยคณะกรรมการศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต. ทุ่งสมอ จะติดตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงรายบุคคลทุกเดือน โดยใช้สมุดคู่มือการดูแลสุขภาพ เพื่อบันทึกความก้าวหน้าในการป้องกันกลุ่มเสี่ยง

ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบ ตัน หรือแตก มาจากอาการขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองตายในที่สุด ปัจจุบันเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก ซึ่งองค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization: WSO) รายงานว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต โดยทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยกว่า 80 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ที่พิการจากโรคดังกล่าวกว่า 50 ล้านคน โดยมีสาเหตุจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

  1. โรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และ ไขมันในเลือดสูง
  2. ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการรับประทานยา คือเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว จึงไม่รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
  3. พฤติกรรมการบริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ รับประทานอาหารสำเร็จรูป ใส่สารปรุงแต่งเป็นจำนวนมาก

 

 

และสำหรับประเทศไทย พบว่าช่วงปี 2555 – 2559 มีอัตราเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองต่อประชากรแสนคน เท่ากับ 31.7 , 35.9 , 38.7 , 43.3 และ 48.7 ตามลำดับ และอัตราผู้ป่วยต่อประชากรแสนคน ช่วงปี 2554 – 2558 เท่ากับ 330.60 , 354.54 , 366.81 , 352.30 และ 425.24 ตามลำดับ และพบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิต อันดับ 1 ของประชากรไทย คือทุก 6 วินาที จะมีคนเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างน้อย 1 คน โดยคาดว่าในปี 2563 จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในพื้นที่ของ ต.ทุ่งสมอ มีกลุ่มเสี่ยงคือผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 209 ราย พบว่ามีผู้ป่วยมากกว่าครึ่งของกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด ซึ่งแคมเปญ วัยใส ใส่ใจ Stroke ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน จะส่วนช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงและการเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองศาสตราจารย์ ชานนท์ กล่าว

นอกจากการดำเนินงานด้านการเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขแล้ว คณะกรรมการศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในชุมชน เพื่อร่วมสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนทุ่งสมอ อาทิ การทำขนมละมุด ตำนานขนมพื้นบ้านเอกลักษณ์เฉพาะหนึ่งเดียวในโลก ร่วมกับชมรมผู้สูงอายุตำบลทุ่งสมอ การทำบายศรีดอกไม้สด ร่วมกับกลุ่มประดิษฐ์ใบตองและดอกไม้สด เพื่อใช้ประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา และการอนุรักษ์ขบวนกลองยาว เพื่อจัดแสดงในงานพิธีสำคัญตามโอกาสต่างๆ

ทั้งนี้ ศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย  สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้พัฒนายุทธศาสตร์เยาวชนกับนวัตกรรมทางสังคม ภายใต้ “โครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน”  (Social innovation and youth) หรือ “SIY” ตามหลักคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” ที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยมีท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศจำนวน 34 แห่ง

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ โครงการ Social Innovation & Youth คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีเมล siy.innovation@gmail.com หรือเข้าไปที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ “SIYPROJECT” https://www.facebook.com/SIYPROJECT/