วิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต เดินหน้าสร้างวิศวกรชีวการแพทย์ 5.0 มุ่งพัฒนาบัณฑิตเป็นนวัตกรและผู้ประกอบการ

วิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต เดินหน้าสร้างวิศวกรชีวการแพทย์ 5.0

มุ่งพัฒนาบัณฑิตเป็นนวัตกรและผู้ประกอบการ

โดย รองศาสตราจารย์นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เดินหน้า 100% ในการสร้างวิศวกรชีวการแพทย์ 5.0 มุ่งพัฒนาบัณฑิตเป็นนวัตกรและเป็นผู้ประกอบการทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ ทางด้านปัญญาประดิษฐ์  IoT ทางการแพทย์ และวิศวกรรมเนื้อเยื่อ

พัฒนาการของโลกตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเบา ในแต่ละเทคโนโลยีที่ค้นพบนั้นจะสามารถทำให้มนุษย์เรานำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเอง สังคม และประเทศชาติ ประมาณช่วงละ 50 ปี

ทางด้านการแพทย์นั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรคของมนุษย์ก็คือ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับร่างกายมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยการวัดสัญญาณชีพต่างๆ และองค์ความรู้ต่างๆ ในโลกที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยและรักษาโรคโดยหน้าที่และความรับผิดชอบของวิศวกรชีวการแพทย์สามารถแบ่งเป็นยุคต่างๆ ได้ดังนี้

วิศวกรชีวการแพทย์ยุคที่ 1.0 คือ ยุคก่อนที่มีการค้นพบระบบ Internet ซึ่งการข้อมูลและการวินิจฉัยโรคทั้งในลักษณะ First Opinion และSecond Opinion มาจากแพทย์ ดังนั้น วิศวกรชีวการแพทย์จึงทำงานในลักษณะ Technician หรือช่างเครื่องมือแพทย์ที่ทำหน้าที่บำรุงรักษา หรือสนับสนุนการทำงานทางด้านเครื่องมือแพทย์เท่านั้น

วิศวกรชีวการแพทย์ยุค 2.0 เป็นยุคตั้งแต่ปี 2000-2008 เป็นยุคที่เริ่มมีอินเทอร์เน็ต แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลและการวินิจฉัยโรคในลักษณะ First Opinion ส่วนใหญ่ก็มาจากแพทย์ โดยที่ Second Opinion เริ่มมาจากการสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ทำให้บทบาทและหน้าที่ของวิศวกรชีวการแพทย์มีการพัฒนาขึ้น โดยเริ่มมีการพัฒนาระบบช่วยในการตัดสินใจเบื้องต้นได้บ้าง

วิศวกรชีวการแพทย์ยุค 3.0 เป็นยุคตั้งแต่ปี 2008-2015 เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย มีการเข้าถึงในระดับรากหญ้ามากขึ้น ทำให้เริ่มมีระบบการตัดสินใจทางการแพทย์ที่สมบูรณ์มากขึ้น เริ่มมีระบบการแพทย์ออนไลน์ทำให้การวินิจฉัยโรคในลักษณะ First Opinion เริ่มมาจากระบบการตัดสินใจทางการแพทย์และเริ่มทำให้ Second Opinion มาจากแพทย์ ดังนั้น ทำให้บทบาทและหน้าที่ของวิศวกรชีวการแพทย์มีความสำคัญ และมีบทบาทในการพัฒนา และทำงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์มากขึ้น

วิศวกรชีวการแพทย์ยุค 4.0 เป็นยุคตั้งแต่ปี 2015-2020 เป็นยุคที่มีความก้าวหน้าทางด้านอินเทอร์เน็ตในทุกมิติ ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ มีการประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีการเข้าถึงในระดับรากหญ้า ทำให้เริ่มมีระบบ IoT และปัญญาประดิษฐ์(AI) ทางการแพทย์ มีหุ่นยนต์ที่ช่วยในการตัดสินใจ และการรักษาทางการแพทย์ที่มากขึ้น ทั้งในแง่คุณภาพและในแง่การกระจาย มีความต้องการข้อมูลทางการแพทย์ในเชิงบุคคลมากขึ้น ทำให้การวินิจฉัยและการรักษาในลักษณะ First Opinion เป็นแบบออลน์มากขึ้น และเริ่มทำให้ Second Opinion มีความต้องการจากแพทย์ที่ต่างออกไป เป็นการดูแลรักษาส่วนบุคคลโดยใช้ข้อมูลทางการแพทย์ที่มาจาก First Opinion  ในการนี้ทำให้บทบาทและหน้าที่ของวิศวกรชีวการแพทย์มีบทบาทและความสำคัญในการพัฒนา และทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถที่จะหาแนวทางในการประกอบอาชีพด้วยตนเองในด้าน Data Technology เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยและการรักษาทางการแพทย์มากขึ้น

วิศวกรชีวการแพทย์ยุค 5.0 เป็นยุคตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป ยุคนี้โลกจะเปลี่ยนจากยุค IT หรือ Information Technology เป็นยุค DT หรือ Data Technology ดังนั้น ต่อจากนี้อีกประมาณ 30 ปี ถือว่าเป็นยุคทองของวิศวกรชีวการแพทย์ เนื่องจากจะเป็นยุคมีความก้าวหน้าทางด้านอินเทอร์เน็ตในทุกมิติแบบสมบูรณ์มากที่สุด ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณมีการใช้ระบบ IoT ทางการแพทย์ การประยุกต์ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีปริมาณมากหรือที่เรียกว่า Big Data ระบบ Machine Learning จะสมบูรณ์แบบมากจนสามารถทำให้หุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่ทำด้วยปัญญาประดิษฐ์มีความถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายมีการเข้าถึงในระดับรากหญ้า ทำให้ข้อมูลประจำตัวของมนุษย์เปรียบเสมือนเป็นแหล่งทองคำที่ทำให้สามารถทำการวินิจฉัยและรักษาเป็นปัจเจกบุคคลได้สมบูรณ์ ทำให้ First Opinion ทั้งหมดมาจากระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของหุ่นยนต์ และในส่วนของ Second Opinion จึงจะเป็นของแพทย์ที่ต่างออกไปเป็นการดูแลรักษา หรือให้คำปรึกษาส่วนบุคคลที่ได้ข้อมูลมาจาก First Opinion ในการนี้ทำให้บทบาทและหน้าที่ของวิศวกรชีวการแพทย์มีบทบาทและความสำคัญมากที่สุดในการพัฒนาและบริหารจัดการ Algorithm และต้องทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์อย่างเต็มตัว รวมทั้งทำให้สามารถประกอบอาชีพด้วยตนเอง หรือเป็นผู้ประกอบการที่เป็นที่ต้องการของสังคมอย่างแพร่หลาย

จากพัฒนาการดังกล่าวทางวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้ติดตามความก้าวหน้าและได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตร และแนวทางการผลิตบัณฑิตทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา ได้มองเห็นว่าองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางวิศวกรรมชีวการแพทย์แบบเดิมๆ ที่เราได้ใช้ในการผลิตบัณฑิตมาเป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปีนั้นล้าสมัยและกำลังที่จะไม่สามารถนำไปใช้กับแพลตฟอร์มของโลกในอนาคตได้

ดังนั้น ในฐานนะที่เป็นผู้ผลิตและสร้างบัณฑิตให้ออกไปพัฒนาประเทศทางด้านการแพทย์ในอนาคต จึงได้มุ่งเดินหน้าสร้างบัณฑิตทางด้านปัญญาประดิษฐ์ และ IoT ทางวิศวกรรมชีวการแพทย์ ขึ้นมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2560  เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เรามีความพร้อมในทุกๆ ด้าน 100 เปอร์เซ็นต์ ในการขับเคลื่อนการผลิตบัณฑิตตามแนวทางดังกล่าว โดยได้แสดงศักยภาพเพื่อเปิดตัวในระดับประเทศในการร่วมกับสมาคมอุปกรณ์การแพทย์ไทยหรือ Thai BMI และศูนย์วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมเรื่อง Medical IoT Bigdata Analysis Machine Learning และ Artificial Intelligence ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในวันที่ 2 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การเดินหน้าเปลี่ยนแปลงแบบ Transformation โดยสร้างบัณฑิตทางด้านปัญญาประดิษฐ์ และ IoTทางการแพทย์ ดังกล่าว จะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และดำริของท่าน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ในเรื่อง Regenerative Education ของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่มุ่งทำให้มหาวิทยาลัยไม่ใช่ที่เรียนหนังสือ แต่เป็นที่ที่จะทำให้ โลกแห่งการเรียนรู้ โลกแห่งการทำงาน และโลกแห่งอนาคต เป็นโลกเดียวกัน

 

******************************************************