มทร.ธัญบุรี ผุดวิชา “นวัตกรรมเพื่อชุมชน” นำองค์ความรู้สู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน 


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดรายวิชาเลือกเสรี “นวัตกรรมเพื่อชุมชน” ประยุกต์องค์ความรู้สู่การสร้างนวัตกรรมสู่ชุมชน

นายวิรัช โหตระไวศยะ รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า ในการเรียนการสอนในห้องเรียนในยุคปัจจุบันไม่ตอบโจทย์กับบริบทสมัยใหม่ โดยห้องเรียนสามารถใช้ชุมชนเป็นแหล่งในการค้นคว้า เรียนรู้ องค์ความรู้ต่าง ๆ ได้เห็นสภาพชุมชนที่แท้จริง ปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นจากที่ได้ทราบปัญหา ความต้องการของชุมชนมาเป็นโจทย์ให้นักศึกษา มาพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน เช่น ปัญหาการปลูกพืช การปลูกข้าว นำองค์ความรู้จากนักศึกษาที่ได้จากการเรียนลงพื้นที่มาทำแบบฝึกหัดร่วมกัน เพื่อจะแนวแก้ปัญหาให้กับชุมชน

นอกจากนั้นนักศึกษาได้บูรณาการเชื่อมโยงข้ามศาสตร์องค์ความรู้ต่าง ๆ ปลายทางได้รู้การทำงานเป็นทีม Soft Skill ความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทรต่อสังคม เพราะฉะนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงได้สร้างรายวิชาใหม่ขึ้นมา คือ วิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน โดยมีหน่วยกิตเรียนทั้งหมด 3 หน่วยกิต เรียนในห้องเรียน 20% และอีก 80% ลงชุมชน เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ ชุมชน คือ ห้องเรียนขนาดใหญ่ที่จะให้เด็กนำโจทย์มาแก้ปัญหาและคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งเป็นวิชาที่มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือก เป็นวิชาเลือกเสรี โดยได้เปิดทำการเรียนการสอน ปีการศึกษา 2562 เป็นปีแรก ในอนาคตถ้าวิชาเรียนตอบโจทย์จะขยายจำนวนรับนักศึกษาเรียนมากขึ้น ทางด้านคณาจารย์ที่มาสอน เป็นคณาจารย์ที่ลงพื้นที่ในการบริการวิชาชุมชน เป็นทีมทำงานจิตอาสาที่ไม่มีค่าตอบแทน ช่วยด้วยความตั้งใจ สำหรับหัวข้อในการเรียน นำเอาความเชี่ยวชาญของอาจารย์แต่ละคนไปประยุกต์ โดยทีมอาจารย์จิตอาสาในการสอนมีทั้งหมด 15 คน ร่วมลงพื้นที่สอนในครั้งนี้


“เจมส์” นายชานนท์ ดิลกวัฒนกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร เล่าว่า เป็นวิชาที่น่าสนใจ ได้ลงพื้นที่ศึกษาชุมชน โดยไม่เคยลงชุมชนแบบนี้มาก่อน ในการลงชุมชนเพื่อเก็บข้อมูลจากชาวบ้าน มาวิเคราะห์ เพื่อหาปัญหา นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม จากการเก็บข้อมูลกลุ่มของตนเอง พบว่าชาวบ้านมีปัญหาในเรื่องของน้ำที่ใช้อุปโภคและบริโภค ตะกอนในน้ำ ซึ่งทางกลุ่มคิดว่าจะพัฒนาวิธีการและเครื่องในการช่วยกรองน้ำ ชาวบ้านจะได้ใช้น้ำสะอาด “วิชานี้ทำให้รู้จักการทำงานเป็นทีม พัฒนากระบวนการคิด แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียน”

“เก่ง” นายพเยาว์ เสียงสมใจ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร เล่าว่า การเรียนวิชานี้ ได้รับรู้ได้เห็นสภาวะจริง การลงชุมชนได้เจอปัญหาชุมชน ปัญหาที่เจอ คือ สัดส่วนในพื้นที่ทำกิน จึงได้นำมาคิดและออกแบบโมเดลการปลูกพืชผสมผสาน เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ตลอดทั้งปี เรียนวิชานี้ เกิดกระบวนการคิด การวางแผน และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

“โบ” นางสาวหทัยนุช วงษ์ขำ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร เล่าว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลกับชาวบ้าน ซึ่งไม่เคยทำมาก่อน วันแรกที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล รู้สึกกังวล แต่เมื่อวันที่สอง ความรู้สึกได้หายไป จากการลงพื้นที่ ทำให้ทราบปัญหา โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทุนนิยม ซึ่งเป็นปัญหาทำให้สินค้าเกษตรราคาถูก จากปัญหาดังกล่าว จึงออกแบบโมเดลการปลูกพืช ตลอดจนหาช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกร เป็นวิชาเลือกเสรีที่ได้รับประโยชน์มากทั้งต่อตนเองและชุมชน


“เอิญ” นางสาวอติวัณณ์ สุดใจดี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร เล่าว่า การเรียนนอกห้องเรียนทำให้ได้เห็นสภาพจริง เห็นถึงปัญหา ซึ่งถ้านั่งเรียนในห้องเรียนเป็นเพียงทฤษฎี ได้รับความรู้ใหม่ ๆ จากชาวบ้าน ในหนังสือไม่มีต้องเรียนจากประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน จากการเก็บข้อมูลจากชาวบ้าน ส่วนใหญ่ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกร และมีสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ อยากส่งเสริมให้ชาวบ้านทำแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีคนมาท่องเที่ยว ชาวบ้านจะได้มีรายได้
นวัตกรรมเพื่อชุมชนการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฝึกทักษะการบริหารโครงการและการตัดสินใจในบริบทของเศรษฐกิจและสังคม การปฏิบัติงานการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อชุมชน ฝึกกระบวนการคิดในเชิงนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน