เรียนรู้ข้ามสาขา เข้าใจคุณค่าทุกวิชาชีพ “IPE” หลักสูตรพัฒนานักศึกษา 7 คณะ กลุ่มสุขศาสตร์

สถานการณ์ทางสุขภาพและความเจ็บป่วยของผู้คนยุคนี้ มีความสลับซับซ้อนในหลายมิติ แนวทางการดูแลจึงต้องปรับเปลี่ยนให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ซึ่งองค์การอนามัยโลกเห็นความสำคัญและแนะนำให้ยกระดับการจัดการเรียนการสอนกลุ่มวิชาชีพด้านสุขภาพใหม่ให้เกิดการบูรณาการมากขึ้น

การเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ (Inter-professional Education) จึงถูกจุดประกายขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกันผ่านมุมมองและประสบการณ์การดูแลสุขภาพของวิชาชีพอื่นๆ ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน ประสานความร่วมมือหนุนเสริมแบบไม่แยกส่วน… เพื่อให้ได้ผลลัพธ์สุดท้าย คือ “สุขภาพผู้ป่วยที่ดีขึ้น”

ที่ประชุมคณบดีกลุ่มคณะสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้ง 7 คณะหลัก ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มีมติร่วมกันให้จัดตั้งคณะกรรมการการจัดการเรียนรู้สหวิชาชีพและคณะทำงานการจัดการเรียนรู้สหวิชาชีพ เพื่อพัฒนา “โครงการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพสายสุขศาสตร์ หรือ IPE” ดำเนินการครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2562 โดยเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรีจาก 7 คณะ และมีผู้สมัครจำนวน 28 คน

อ.พญ.วิศรี วายุรกุล ประธานคณะทำงานการจัดการเรียนรู้สหวิชาชีพกลุ่มคณะสุขศาสตร์ และหัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันการดูแลผู้ป่วย 1 ราย ต้องอาศัยองค์ความรู้และทักษะของหลายสาขาวิชาชีพมาเกี่ยวข้อง จึงได้ริเริ่มโครงการ IPE ขึ้นเพื่อทำให้แนวทางการดูแลสุขภาพปรับเปลี่ยนเป็นแบบองค์รวมมากยิ่งขึ้น

“โครงการ IPE” มีการออกแบบวิธีการทำงานโดยแบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่มย่อย 4 – 6 คน เรียนรู้ร่วมกันผ่านผู้ป่วยหรือประชาชนในพื้นที่จริงในรูปแบบสหวิชา ภายใต้การดูแลของอาจารย์ประจำกลุ่มช่วยกันเลือกบริบทของกรณีศึกษาต่างๆ ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อาทิ ผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยนอก หรือกลุ่มผู้ป่วยในชุมชน อาทิ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้สูงอายุติดบ้านและผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เพื่อให้เห็นว่าในเคสผู้ป่วยหนึ่งคนนั้นแต่ละวิชาชีพมีวิธีคิดหรือวิธีการดูแลอย่างไร

แต่ละกลุ่มจะวางแผนและทำกิจกรรมดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นองค์รวม 3 – 5 ครั้ง โดยวิทยากร อาจารย์ และนักศึกษาจะร่วมกันศึกษาข้อมูล เพื่อนำมาพัฒนาองค์ความรู้ในการดูแลรักษา วิเคราะห์ นำเสนอและอภิปรายร่วมกันในกลุ่มใหญ่ โดยมีตัวแทนจากทุกคณะเข้าร่วมรับฟังด้วย ซึ่งช่วยให้นักศึกษาทำงานเป็นทีม และเข้าใจลักษณะงานของวิชาชีพอื่นๆ ก่อให้เกิดทัศนคติที่ดีในการทำงานร่วมกัน

อ.พญ.วิศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก IPE ครั้งแรก ทำให้ในปีการศึกษา 2562 ที่ประชุมคณบดีกลุ่มคณะสุขศาสตร์ได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำโครงการ IPE ต่อไป โดยนำข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากทั้งคณาจารย์และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการในรุ่นแรกมาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

ด้าน ผศ.ดร.เกษร สำเภาทอง อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการ IPE สร้างกระบวนการเรียนรู้ในการทำงานร่วมกันก่อนที่นักศึกษาจะจบไป ไม่ใช่เรียนรู้เฉพาะวิชาชีพของตัวเองเพียงอย่างเดียว เช่น แพทย์ก็ต้องทำงานร่วมกับพยาบาล หรือทันตแพทย์ก็เรียนรู้ที่จะแนะนำผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้ว่าจะรักษาสุขภาพช่องปากอย่างไร ระหว่างที่ต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาบาล

โครงการ IPE รุ่นแรกเริ่มทำกิจกรรมช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2562 ดำเนินไปแบบสมัครใจไม่ได้บังคับและไม่มีค่าใช้จ่าย มีการแบ่งกลุ่มการเรียนรู้และทำกิจกรรม เฉลี่ยทุกกลุ่มจะมีนักศึกษาแต่ละชั้นปี เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ระหว่างกันให้ได้มากที่สุด โดยมีสถานที่เป้าหมายโครงการ 4 แห่ง คือ 1. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 2. ศูนย์การแพทย์ปฐมภูมิและแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. ชุมชนในเขตรับผิดชอบของศูนย์การแพทย์ปฐมภูมิและแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 4. ชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ผศ.ดร.เกษร กล่าวทิ้งท้ายถึงผลการประเมินโครงการฯ ว่า เบื้องต้นถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นักศึกษาเกิดความมุ่งมั่นพยายามมากขึ้น แต่ละกลุ่มบรรยายสรุปถึงสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้จากวิชาชีพข้างเคียง มีการแลกเปลี่ยนทัศนคติระหว่างกันและกับผู้ป่วย ได้ใช้ศักยภาพที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์ ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการเรียนเพียงวิชาชีพเดียวและที่สำคัญที่สุดคือได้เห็นคุณค่าต่อวิชาชีพของผู้อื่น

นายตรีทิพย์ สารสัณต์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ส่วนตัวมีความสนใจเข้าร่วมโครงการ IPE เพราะต้องการเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนๆ จากทั้ง 7 คณะ เปิดรับประสบการณ์ใหม่จากปกติสาขาวิชาที่เรียนมุ่งเน้นการป้องกันและเสริมสร้างสุขภาพ โดยในช่วง 2 เดือนที่เข้าร่วมกิจกรรม มีโอกาสเดินไปตามห้องผู้ป่วยหรือคลุกคลีกับคนไข้จริงๆ กับวิชาชีพแพทย์และพยาบาล จากเดิมที่ไม่เคยได้สัมผัส เพราะคณะสาธารณสุขศาสตร์จะลงพื้นที่ชุมชนมากกว่า เมื่อได้รายละเอียดผู้ป่วยต้นแบบจากการซักถามถึงประวัติอาการของโรคและความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับคนไข้ ก็นำมาวิเคราะห์และหาแนวทางฟื้นฟูหรือป้องกันโรคต่อไป เช่น ถ้าเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง เราจะวางแผนหลักๆ คือการให้กำลังใจเพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย แตกต่างจากโรคเบาหวาน โรคความดัน และโรคอ้วนที่ทางสาธารณสุขศาสตร์จะเข้าไปป้องกันได้ เช่น การควบคุมน้ำหนักหรืออาหาร ทุกคนจึงได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ตัวเองมาเรียนร่วมกัน

ด้าน นางสาวสริญา อยู่สุข นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาการสร้างเสริมสุขภาพ เล่าว่า การเข้าร่วมโครงการ IPE ทำให้ได้รู้จักเพื่อนต่างคณะ และเทคนิคการทำงานของสายวิชาชีพอื่น เพื่อนำมาพัฒนาทักษะของตัวเองและต่อยอดให้ดีขึ้น เช่น มีเพื่อนจากคณะแพทย์ศาสตร์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยให้เห็นภาพการทำงานในแง่ของการซักประวัติและตรวจรักษาโรค ขณะที่ตนเองจะเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการส่งเสริมให้ผู้ป่วย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลังรับการรักษาแล้วจะแนะนำวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนใช้เวลากับการเรียนคณะตัวเอง ไม่ได้มีโอกาสหารือร่วมกันในแง่ของการทำงาน ดังนั้นกิจกรรมในโครงการ IPE จึงเป็นเรื่องที่ดีและเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถ้ามีรุ่นต่อไปก็จะสามารถปรับกระบวนการเรียนรู้จากรุ่นแรกเพื่อพัฒนาต่อไปได้

ภาพแห่งความสำเร็จของการเรียนรู้ร่วมกันแบบ “สหวิชาชีพ” ในโครงการ IPE นับเป็นแนวทางใหม่ที่จะสามารถพัฒนาให้หลักสูตรนี้เข้มแข็งยิ่งขึ้นนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ “สุขภาพของผู้ป่วย” และยังช่วยจุดประกาย และขยายฐานการเรียนรู้…สู่วิชาชีพอื่นๆ ได้ต่อไปในอนาคต