การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลไก่แกลบโดยใช้เทคโนโลยีการหมักย่อยแบบแห้ง (Dry-Fermentation)

การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลไก่แกลบโดยใช้เทคโนโลยีการหมักย่อยแบบแห้ง (Dry-Fermentation) เพื่อลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพ

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ให้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมและสาธิตการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลไก่แกลบโดยใช้เทคโนโลยีการหมักย่อยแบบแห้ง (Dry-Fermentation) เพื่อลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพ โดยมีวัตถุประสงค์และดัชนีชี้วัดความสำเร็จของโครงการฯ เพื่อสาธิตระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลไก่แกลบโดยใช้เทคโนโลยีหมักแบบแห้ง (Dry-Fermentation) ให้สามารถประยุกต์ใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลไก่แกลบ โดยมูลไก่แกลบที่น้ำหนัก 100 ตัน/รอบการหมัก (ระยะเวลาในการหมักย่อย 60 วัน/รอบ) จะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 250 ลบ.ม./วัน ที่สภาวะการหมักย่อยสมบูรณ์หรือคิดเป็นปริมาณก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้รวมไม่น้อยกว่า 15,000 ลบ.ม./รอบการหมัก มีระยะเวลาดำเนินงาน 24 เดือน

โดยระบบฯ ตั้งอยู่ ณ ลาวัลย์ฟาร์ม เลขที่ 186 หมู่ 5 ตำบล ท้ายทุ่ง อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร สามารถรองรับมูลไก่แกลบได้ประมาณวันละ 3.0 ตัน หรือ 162 ตัน/รอบการหมัก ที่ความชื้น 50% (มูลไก่แกลบที่ผ่านกระบวนการเตรียมวัสดุจะมีความชื้นประมาณ 50-70%) เทียบเท่าปริมาณมูลไก่แกลบที่ความชื้น 10% ประมาณวันละ 1.86 ตัน หรือ 100.28 ตัน/รอบการหมัก สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณวันละ 282.61 ลบ.ม./วัน หรือไม่น้อยกว่า 15,513.70 ลบ.ม./รอบการหมัก (มูลไก่แกลบที่ออกจากโรงเรือนจะมีความชื้นประมาณ 10-15 %) คิดเป็นปริมาณก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้รวมไม่น้อยกว่า 93,000 ลบ.ม./ปี หรือเทียบเท่าความสามารถในการผลิตพลังงานทดแทนได้ไม่น้อยกว่า 12.25 toe/ปี สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 0.026 kgCO2/ปี

……………………………………….

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์