กระทรวงวัฒนธรรม จัดโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ปี 62 นำ 61 อำเภอ จาก 4 จังหวัด มาถอดรหัสอัตลักษณ์ท้องถิ่น ชูแนวคิด 4DNA สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโต

 

 

เมื่อเวลา 13.00 น ของเมื่อวานนี้ (20 ก.ย.62) ที่บริเวณไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน เขต
ปทุมวัน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบ ภายใต้ “โครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม” ปี 2562 โดยกล่าวว่า “สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำโครงการฯ ขึ้น เพื่อเป็นการนำกระบวนสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยมาพัฒนาศิลปวัฒนธรรมที่มีในชุมชน อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการอนุรักษ์รักษาศิลปะวัฒน

ธรรม ไปพร้อมกับพัฒนาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างมากมายให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยใช้การค้นหาและถอดรหัสอัตลักษณ์ของแนวคิดศาสตร์ 4 DNA ซึ่งเป็นการคิดรอบด้านมีหลักสำคัญคือค้นหาตัวตนของแต่ละชุมชนจากมิติต่างๆ นำมาศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบ พัฒนาสินค้า และบริการทางวัฒนธรรมในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ตราสินค้า โลโก้ โทนสี ลวดลายผ้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบตกแต่งภายใน ฯลฯ ซึ่งผลงานที่เกิดขึ้นจะมีความทันสมัยและเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งเสริมเศรษฐกิจของผู้ประกอบการในชุมชนในให้เติบโต โดยโครงการฯ ดังกล่าว จัดทำขึ้นภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันของภาครัฐ เอกชน และประชาชนในแต่ละจังหวัด เสริมสร้างความสัมพันธ์ของประชาชนในทุกภาคส่วน

โดยในปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินโครงการฯ ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัด พิษณุโลก ระยอง สมุทรสงคราม และนครศรีธรรมราช รวมทั้งสิ้น 43 อำเภอ ทำให้ได้ผลงานการออกแบบที่โดดเด่น มีการเผยแพร่องค์ความรู้ และการพัฒนาต่อยอดไต้อย่างเป็นรูปธรรม นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่จังหวัด อาทิ การออกแบบผลิตภัณฑ์และสินค้า การตกแต่งภายใน โล่รางวัล และอื่น ๆ สร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง สำหรับในปี 2562 มี 4 จังหวัดที่เข้าร่วม ได้แก่ สมุทรสาคร นครราชสีมา เชียงราย และเพชรบุรี รวม 61 อำเภอ ซึ่งเป็นผลงานต้นแบบที่ได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ และเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ยังได้ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในการให้ความรู้แก่ชุมชนเพื่อจะได้เข้าใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการทำข้อตกลงโอนลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับโครงการให้กับจังหวัดพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับมอบ ซึ่งผลงานที่ได้รับนั้นจะได้นำไปใช้สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป”

ด้าน นส.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กล่าวว่า “สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจโดยตรง ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร และจังหวัดในพื้นที่ต่างๆ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการให้ความรู้กับประชาชนหรือชุมชน ที่จะพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมด้วยงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผ่านกระบวนการวิเคราะห์และถอดรหัส ด้วยศาสตร์ 4DNA ซึ่งโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม นับเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศโดยใช้มิติทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นต้นน้ำ นำมาต่อยอดสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ ไปสู่การออกแบบในหลากหลายมิติ  เป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานด้านศิลปวัฒนธรรม ที่มุ่งหวังให้เป็นแนวทางในการพัฒนามรดกทางวัฒนธรรม เป็นการประยุกต์ใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้แล้ว  ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมในทุกภาคส่วน ได้เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเองด้วย”

ผศ.เอกพงษ์ ตรีตรง  อดีตคณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  ผู้คิดค้นแนวคิดศาสตร์ 4 DNA  กล่าวว่า  “โลกกำลังเข้าสู่ยุค City Branding หากเราไม่เริ่มสำรวจอัตลักษณ์ประจำเมือง ก็จะถูกเมืองที่มีศักยภาพสูงหรือมีการลงทุนมากกว่า กลืนกินในไม่ช้า ซึ่งแนวคิดศาสตร์ 4 DNA เป็นการสำรวจและวิจัยตั้งแต่พฤติกรรมของคนจนถึงระดับวัฒนธรรม และได้แปลงข้อมูลทั้งหมดให้กลายเป็นคอนเซ็ปท์ของแต่ละชุมชน จนทำให้เกิดอัตลักษณ์ประจำถิ่น ที่สามารถประยุกต์ใช้สร้างแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจในหลากหลายมิติ มีเรื่องราวให้คนในท้องถิ่นเกิดความภาคภูมิใจ หรืออาจกล่าวได้ว่า 4 DNAคือการระดมความคิดจากทุกภาคส่วนในการกำหนดอัตลักษณ์ อาทิ ภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ สังคม เศรษฐกิจ จากนั้นนำไปสู่การออกแบบรอบทิศ ได้แนวทางศาสตร์ 4 DNA เฉพาะแต่ละชุมชนในการไปใช้ประโยชน์รอบด้าน”

ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว ทางกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีการผลักดันให้เกิดประโยชน์ในระดับมหภาคมากยิ่งขึ้น โดยกำลังร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงพาณิชย์, การท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงมหาดไทย ในการนำผลงานการออกแบบนำไปต่อยอดด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชน ซึ่งในปี 2563 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้มีแนวทางในการต่อยอดในพื้นที่เมืองเศรษฐกิจ, เมืองรอง และเมืองการท่องเที่ยวที่สำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาไปสู่ Creative City  และการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ (MICE) ในพื้นที่จังหวัด ชลบุรี ภูเก็ต สุโขทัย และราชบุรี ต่อไป

 

*****************************************************************

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

ทีมประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์  062-7341267