21 ปี มฟล. กับทุกก้าวเพื่อคุณภาพการศึกษา – คุณภาพชีวิตประชาชน

            มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 นับถึงวันนี้เป็นเวลา 21 ปี  ได้ปฏิบัติภารกิจอุดมศึกษาครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิตบัณฑิต การแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ การให้บริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

พร้อมทั้งได้ยึดมั่นปฏิบัติสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการ ‘ปลูกป่า สร้างคน’ โดยมุ่ง ‘สร้างคน สร้างความรู้ สร้างคุณภาพ สร้างคุณธรรม และอนุรักษ์ธรรมชาติ’ โดยมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นที่พึ่งทางปัญญาของสังคม สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

ตอกย้ำ ‘มหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ’

มฟล. เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปี 2542 จำนวน 62 คน เริ่มจาก 2 สำนักวิชา โดยประกาศใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอนตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมให้ความสำคัญกับภาษาต่างประเทศอื่นๆ อาทิ ภาษาจีน  ปัจจุบันมีนักศึกษาจำนวน 14,594 คน ในจำนวนนั้นมีนักศึกษาไทยจากทั่วทุกภูมิภาค มีนักศึกษาต่างชาติจำนวน 730 คน จากกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง จากอาเซียน จากทวีปต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ หรือแอฟริกา

ปัจจุบันเปิดสอนทั้งหมด 71 สาขาวิชา ใน 15 สำนักวิชา  การจัดการ นิติศาสตร์  ศิลปศาสตร์ นวัตกรรมสังคม จีนวิทยา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมเกษตร วิทยาศาสตร์สุขภาพ พยาบาลศาสตร์ เวชศาสตร์ชะลอวัย แพทยศาสตร์ โดยมีสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ เป็นสำนักวิชาที่เปิดขึ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ประกอบด้วยหลักสูตรระดับปริญญาตรี จำนวน 3 หลักสูตร  ได้แก่ หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต, หลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต และหลักสูตรกายภาพบำบัดบัณฑิต ทั้งยังมีหลักสูตรอบรมระยะสั้น จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร International Training Program of Thai-Lanna Wellness and Spa, หลักสูตร International Training Program of Integrative Medicine Approach for Health and Wellness Management และ หลักสูตร Traditional Chinese Medicine Field Training Program และในปีการศึกษา 2563 มีแผนที่จะเปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาอีก 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการแพทย์บูรณาการมหาบัณฑิต และหลักสูตรกายภาพบำบัดมหาบัณฑิต

ทั้งนี้ยังได้รับการรับรองหลักสูตรจากองค์กรหรือหน่วยงานระดับสากล เพื่อคุณภาพและอนาคตของบัณฑิต ในสาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการบริการ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบิน สำนักวิชาการจัดการ, สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และ สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร

          ตลอดจนมีความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนากำลังคนกับสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานสำคัญในต่างประเทศกว่า 134 สถาบันทั่วโลก อาทิ  ร่วมมือพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมการบินกับสนามบินนานาชาติอินชอน ร่วมมือวิชาการพัฒนาคุณภาพสาขาวิชาจีนธุรกิจกับมหาวิทยาลัยเฟิงเจีย ไต้หวัน ร่วมมือทางวิชาการมหาวิทยาลัยวิสคอนซินแมดิสัน ร่วมมือทางวิชาการกับTamana Central Hospital and Kumamoto University ประเทศญี่ปุ่น ร่วมพัฒนาศักยภาพด้านการแพทย์และทันตกรรมกับมหาวิทยาลัยจากโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ร่วมมือทางวิชากาด้านอุตสาหกรรมเกษตรกับ Faculty of Agriculture Shinshu University ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

ปีที่ 21 ของมฟล. มีผู้สำเร็จการศึกษารวม ตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 – 2561 เป็นจำนวน 26,416 คน กระจายตัวทำงานอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ด้านการทำงานวิจัย ที่นอกจากมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยในด้านต่างๆ อย่าง ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา ศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ และศูนย์วิจัยเอเชียเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ยังมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเพื่อบริหารจัดการและประสานนโยบายให้กับหน่วยงานวิจัยภายในมหาวิทยาลัย และด้วยมีการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดอันดับจาก THE World University Rankings 2020 นั้น มฟล. ได้รับคะแนนสูงสุดในประเทศไทยสำหรับการอ้างอิงงานวิจัยและภาพลักษณ์ในระดับนานาชาติ

สำหรับการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะในชุมชนและท้องถิ่นเชียงราย ให้ความรู้วิชาการแก่กลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในเชียงรายเพื่อยกระดับศักยภาพในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากล

ส่งต่อพันธกิจฝ่าคลื่นความเปลี่ยนแปลง

การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยและพัฒนาการต่างๆ ภายใต้การนำโดย รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี ก่อนครบวาระเมื่อเมษายน 2562 และ รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ ได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมฟล.ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2562 เป็นต้นมา รศ.ดร.ชยาพร เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดี มฟล. ตั้งแต่ปี 2554 – 2562 กำกับดูแลการปฏิบัติงานของหน่วยงานสำคัญ อาทิ สำนักวิชา งานพัฒนาหลักสูตร สถาบันการศึกษาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนจัดหางาน ส่วนบริการงานวิจัย สำนักงานบัณฑิตศึกษา สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ

รศ.ดร. ชยาพร กล่าวว่า มฟล. หลังจากดำเนินงานมาครบปีที่ 21 สิ่งสำคัญที่ทำคือการพัฒนาสมรรถนะและขีดความสามารถของผู้ที่จะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ต่อไป คือบุคลากรทั้งฝ่ายวิชาการและฝ่ายสนับสนุน ซึ่งมีความสำคัญในทุกด้าน โดยจะเป็นเรื่องหลักที่มหาวิทยาลัยจะดำเนินการ เพื่อพร้อมสำหรับทุกภารกิจของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าการผลิตบัณฑิตหรือพัฒนากำลังคนสอดคล้องกับความต้องการของยุคสมัย และเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเลิศทางด้านวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรมต่อไป

อีกส่วนคือการพัฒนาของตัวองค์กรที่จะพัฒนาสมรรถนะให้เป็นระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานสายวิชาการที่หลักสูตรได้รับการรับรองในระดับสากล เพื่อมุ่งเน้นความเป็นสากลของมหาวิทยาลัยให้ถึงจุดสูงสุด สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการปรับระบบทำงานของมหาวิทยาลัยให้มีความสะดวกและรวดเร็ว และเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย รวมทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย สิ่งสำคัญตรงนี้คงต้องร่วมกันทำงานทั้งมหาวิทยาลัย

สำหรับสถานการณ์อุดมศึกษาปัจจุบัน อธิการบดีกล่าวว่า  “หลายมหาวิทยาลัยอาจมองว่ามีความยากลำบากมากขึ้นในการรับนักศึกษา จำนวนอาจน้อยลงหรืออย่างไรก็ตาม สำหรับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงยังไม่มีความเสี่ยงแต่ไม่ได้ประมาท และเราจะทำในสิ่งที่ทำต่อเนื่องมานานและจะทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือการสร้างเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของนักศึกษาและมหาวิทยาลัยในแง่ของคุณภาพ ให้ชัดเจนและเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น”

ส่วนทิศทางการพัฒนางานวิจัยนั้นเน้นให้มีผลงานได้รับการต่อยอดเชิงพานิชย์มากขึ้น ทั้งเพื่อชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งความเข้มแข็งทางวิชาการแล้ว ยังมีผลต่อการสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยได้ในอนาคต มุ่งนำความรู้วิชาการงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดให้ถึงพร้อมให้มากยิ่งขึ้น

…ส่วนที่มหาวิทยาลัยต้องเตรียมปรับเปลี่ยนตามกระแสโลกอย่างไรนั้น อธิการบดี กล่าวว่า อย่างหนึ่งคือต้องพร้อมสำหรับกระบวนการการเรียนรู้ของกลุ่มเจนเนอเรชั่นใหม่ ที่จัดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนนั้นอาจไม่พอแล้ว ต้องมีการเพิ่มช่องทางให้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบออนไลน์หรือเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งต้องสร้างให้หลักสูตรมีความยืดหยุ่นสำหรับกลุ่มผู้เรียนที่หลากหลายเช่นกัน ไม่เฉพาะหลักสูตรเต็มรูปแบบ 4 ปีสำหรับระดับปริญญาตรี แต่ระหว่างทางนั้นสำหรับกลุ่มที่ต้องการเติมทักษะบางประการด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามแต่ละหลักสูตรนั้นต้องทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเอกชนที่ต้องการกำลังคนในสายวิชาชีพนั้นๆ เพื่อให้มีทักษะของการทำงานที่ชัดเจน

ขับเคลื่อน ศูนย์การแพทย์ มฟล.สู่ ศูนย์กลางการแพทย์แห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ประกอบด้วยโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยหวังให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์ หรือ Medical Education Hub และ Medical Service Hub ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อันประกอบด้วย ไทย เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา และจีนตอนใต้ โดยมีเป้าหมายตามแผนการดำเนินงาน มฟล.ที่จะก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่สำคัญในอนุภูมิภาคนี้

อธิการบดี มฟล. กล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักที่ต้องดำเนินการต่อไป คือการพัฒนาศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งอยู่ในช่วงของการเจริญเติบโตที่จะต้องขับเคลื่อนให้ถึงสมรรถนะให้บริการการดูแลสุขภาพและสาธารณสุขของระดับประเทศไทยครบทุกด้านซึ่งต้องใช้สรรพกำลังและทรัพยากรจำนวนมาก สิ่งนี้เป็นแนวทางสำคัญสำหรับการเดินทุ่งมุ่งหน้าของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงต่อไป”

มฟล.ครบรอบ 21 ปี ภารกิจสำคัญลุล่วงด้วยดี พร้อมสำหรับก้าวต่อไปอย่างมุ่งมั่นและมั่นคง