‘การศึกษาในศตวรรษที่ 21’ จากห้องเรียน สู่เวทีการวิเคราะห์

 

การเข้าใจพัฒนาการของเด็กตลอดจนการเสริมสร้างทักษะชีวิต สอดคล้องกับแนวคิดโลกปัจจุบันของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบไปด้วยทักษะ 4 ประการ ได้แก่ การมีความรู้ในวิชาหลัก ซึ่งครอบคลุมถึงความรู้รอบตัวอื่นๆ ด้วย การมีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ การมีทักษะการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับทักษะแห่งความร่วมมือ 4 ประการ อาทิ การสื่อสาร (Communication) ความร่วมมือกัน (Collaboration) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) รวมถึงการมีทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยีด้วยซึ่งล้วนแต่เป็นทักษะที่ต้องได้รับการพัฒนาระยะยาว ต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก วัยแห่งการเรียนรู้เพราะจะทำให้มีความพยายามในการพัฒนาสร้างระบบการศึกษาปฐมวัยของไทย ทั้งการเพิ่มระดับไอคิวต่ำ และ M.Q. (Moral Quotient) หรือความมีคุณธรรมจริยธรรมในจิตสำนึก A.Q. (Adversity Quotient) หรือความสามารถในการอดทนฝ่าฟันอุปสรรค  ซึ่งพ่อแม่  ครู ล้วนเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็ก

ดร.ทอแสงรัศมี ถีถะแก้วรองคณบดี สถาบัน RSU Gen.ed. กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมให้เด็กในศตวรรษที่ 21 นี้ควรร่วมกันทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อให้เด็กพัฒนาทั้งสมองและร่างกายไปพร้อมกัน และพร้อมที่จะพัฒนาในส่วนอื่น ส่วนการเรียนการสอนแบบบูรณาการควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้สมองทั้งซีกซ้าย (การคิดอย่างมีเหตุผล) และซีกขวา (อารมณ์ความรู้สึก)พร้อมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุล  ปัจจุบันพบว่าการออกแบบหลักสูตรการเรียนในทุกระดับตั้งแต่ระดับปฐมวัยที่มีความสอดคล้องกับแนวคิดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 นั้น ได้แก่ หลักสูตร International Baccalaureate Programme หรือ IB Programme (IB) เป็นหลักสูตรการศึกษา 3 ระดับที่ได้ถูกจัดตั้งโดย International Baccalaureate Organization หรือ IBO เป็นระบบการศึกษาที่ใช้แพร่หลายทั่วโลกมากกว่า 125 ประเทศ หลักสูตรมีระบบการศึกษาในรูปแบบใหม่ที่เป็นที่ยอมรับจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก โดย IB Programme แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1. หลักสูตรการศึกษาระดับต้น (IB Primary Years Programme, PYP) สำหรับเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 3-12 ปี 2. หลักสูตรการศึกษาระดับกลาง (IB Middle Years Programme, MYP) สำหรับนักเรียนอายุระหว่าง 11-16 ปี และหลักสูตรการศึกษาระดับประกาศนียบัตรนานาชาติ (IB Diploma Programme, IBDP) สำหรับนักเรียนอายุระหว่าง 16-19 ปี หลักสูตร PYP สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล หรือเด็กวัย 3-5 ปี ที่มีหัวข้อการเรียนรู้เน้นการพัฒนาการ 4 ด้าน ได้แก่ พัฒนาการด้านร่างกาย พัฒนาการด้านสติปัญญา  พัฒนาการด้านอารมณ์  พัฒนาการด้านสังคม และมีเนื้อหาการเรียน เกี่ยวกับตัวเด็ก เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบุคคล สถานที่ และสิ่งแวดล้อม รอบตัวเด็ก เป็นต้น

ดังนั้น กิจกรรมเสริมสร้างความรู้แตกต่างกันไปตามบริบทของโรงเรียน และกิจกรรมพิเศษต่างๆ ส่วนในระดับที่โตขึ้นจะเน้นความรู้ในด้านภาษาที่หนึ่ง ภาษาที่สอง สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ วิชาเลือกอื่นๆ รวมถึงการเรียนรู้ด้านปรัชญา จริยธรรมประสาทสัมผัส ควบคู่ไปกับความรู้ทางวิชาการด้วย (ที่มา https://www.ibo.org)

ที่กล่าวมานั้นเป็นทักษะการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่สถาบันการศึกษาควรนำไปประยุกต์หรือปรับใช้ให้เข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนได้ครบทุกทักษะและสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้จะเป็นผลดีมาก ในความเห็นส่วนตัวส่วนที่เป็นองค์ประกอบและหัวใจสำคัญ คือ การสร้างทักษะชีวิต สำหรับเด็กทุกช่วงวัยได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยมีผู้ปกครอง ครู อาจารย์ เป็นเพียง ’โค้ช’ คอยช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย ชี้แนะ (แต่ไม่ชี้นำ) แนวทาง และช่องทางการเข้าถึงองค์ความรู้นั่น ซึ่งรูปแบบนี้ผลลัพธ์ คือ เด็ก ไม่ว่าจะระดับปฐมวัยจวบจนโตจะมีทักษะการคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังพ่วงความมั่นใจเป็นต้นทุนให้กับทักษะชีวิตพร้อมเติบโตสู่โลกที่ซับซ้อนมากขึ้น จะเห็นว่าระดับปฐมวัย เรามองเห็นความพยายามของสถาบันการศึกษา ครู และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามสร้างบรรยากาศห้องเรียนให้เป็นเวทีการเรียนรู้ ครูจะไม่ใช่แค่ผู้สอน แต่เป็นผู้กำหนดหัวข้อให้เด็กเรียนรู้เอง และ ‘คิด’ ตัวอย่าง เด็กอนุบาลสนใจสิ่งแวดล้อม กังวลว่า “เต่า “ ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลลึก จะได้รับอันตรายหากพวกเรายังคงใช้หลอดดูดน้ำ เพราะไม่รู้ว่าสุดท้ายหลอดจะถูกกำจัดลงทะเลหรือไม่ การคิดวิเคราะห์ในประเด็นรอบตัวมาจากองค์ความรู้แบบบูรณาการ เด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21 ไม่ควรเรียนแยกวิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ แต่ควรเรียนรวม ประสานองค์ความรู้ สู่การวิเคราะห์ สังเคราะห์จากการมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แบบนี้เด็กไทยจะมีพัฒนาการสู่การเป็นเด็กสองภาษา (Bilingualism) ได้ และมีสมองที่เปิดรับภาษาหรือความรู้อื่นๆ ควบคู่กับความสามารถในการคิด คำนวณ ประมวลผล สู่การนำเสนอ ทั้งการพูดแสดงความคิดเห็น สรุปประเด็น และการประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เด็กปฐมวัยที่กำลังเติบโตและเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาที่มีการปรับตัวแล้วตามทักษะดังกล่าวแล้วนั้น เราจะได้เห็นปรากฏการณ์การออกแบบวิชาแปลก วิชาที่ไม่คาดคิดก่อน ในหมวดการศึกษาทั่วไป ของหลายมหาวิทยาลัย อาทิ วิชาด้านการคิดอย่างสร้างสรรค์ (Creative Thinking) วิชาชีพทางเลือก อาทิ โหราศาสตร์ วิชาด้านทักษะชีวิต เช่น วิชาศาสตร์แห่งรัก  วิชาด้านการใช้ชีวิตในสังคม เช่น คนต่างรุ่นในสังคมสูงวัย ศาสตร์และศิลป์ในการดำรงชีวิต ซึ่งล้วนได้รับความสนใจจากแวดวงสังคมและสื่อมวลชน นี่คือปรากฏการณ์การปฏิรูปการศึกษา ที่บุคคลากรทางการศึกษาตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียนนักศึกษาต้องหันมาให้ความสนใจวิชาเหล่านี้ มิใช่เป็นการสร้างกระแสการทางการตลาดดึงดูดเด็กให้เข้ามาเรียนวิชาแปลกๆ  แต่เป็นการตกผลึกจากทีมคณาจารย์ถึงทักษะชีวิตที่คนรุ่นใหม่ควรต้องมีและนำไปปรับใช้เพื่อการอยู่รอดในโลกปัจจุบันและอนาคตได้

ฉะนั้น การศึกษาในศตวรรษที่ 21 จึงไม่ใช่แค่ห้องเรียนสำหรับนั่งเรียนรู้แต่ต้องเป็นเวทีถกเถียง แลกเปลี่ยน นำเสนอองค์ความรู้ที่ทุกคนในห้องทั้งผู้เรียนและโค้ช (ครู อาจารย์) ได้ไปศึกษามา ผลลัพธ์จากห้องเรียนยุคใหม่จึงไม่ใช่ผลลัพธ์ที่เกิดกับตัวผู้เรียนเพียงประการเดียว แต่หากเป็นผู้สอนหรือโค้ชที่จะได้เรียนรู้นวัตกรรมความคิด ที่เกิดใหม่ในห้องเรียนนั้นด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดความตื่นตัวในการออกแบบกิจกรรมให้หลากหลาย เข้าถึงเด็กยุคใหม่ที่จะเป็นประชากรในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ต่อไป