ศิษย์เก่าเคมีสวนสุนันทา หนึ่งเดียวของไทยคว้ารางวัลนักวิจัยรุ่นเยาว์บนเวทีโลก

น.ส.สุมามาลย์ เจริญชัย นักศึกษาโควตาทุนเพชรสุนันทา สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในฐานะศิษย์เก่า คว้ารางวัล Young Scientist Presentation Award จากสมาคม The Japan Society of Applied Physics ในงานประชุมวิชาการ JASP spring meering ครั้งที่ 66 จากการนำเสนอชิ้นงานวิจัยในหัวข้อ การพัฒนาอุปกรณ์การตรวจวัดสารเคมีที่มีพิษก่อให้เกิดมะเร็ง (Aflatoxin ชนิด B1) บนอุปกรณ์การตรวจวัดฐานกระดาษ (Development of automated competitive ELISA paper-based analytical device using dissolvable sucrose valves for Aflatoxin B1 detection) ซึ่งรางวัลดังกล่าวนี้ เป็นรางวัลนี้ที่มอบให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีการนำเสนองานวิจัยที่โดดเด่น และที่สำคัญในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งนี้เป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลดังกล่าวนี้

น.ส.สุมามาลย์ กล่าวว่า “เริ่มแรกตนได้รับทุนสนับสนุนฝึกประสบการณ์วิชาชีพจากคณะวิทยาศาสตร์ฯ ให้เข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ณ สถาบัน JAIST ประเทศญี่ปุ่น จากนั้น ได้เริ่มต้นทำงานวิจัยชิ้นนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กระทั่งได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ณ สถาบัน JAIST โดยได้รับรับการสนับสนุนจาก Prof.Dr.Yuzuru Takamura เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในขณะที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพอยู่สถาบันแห่งนี้ และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในขณะที่ศึกษาระดับปริญญาโท และปัจจุบันก็ยังคงเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาระดับปริญญาเอก”

“โดยขณะที่ได้ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผศ.ดร.วนิดา วอนสวัสดิ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจนถึงทุกวันนี้ ขณะนี้ดิฉันกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอกสาขาวิชา School of Materials Science ณ สถาบัน JAIST ประเทศญี่ปุ่น และสำเร็จการศึกษาปริญญาโทในสาขาวิชา Materials Science ณ สถาบัน JAIST ประเทศญี่ปุ่น” น.ส.สุมามาลย์ กล่าว

น.ส.สุมามาลย์ กล่าวต่อว่า “งานวิจัยชิ้นนี้เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดบนฐานกระดาษ ซึ่งใช้ตรวจวัดสารพิษก่อมะเร็ง Aflatoxin ชนิด B1 ซึ่งการทำงานของอุปกรณ์ตัวนี้ใช้งานง่าย โดยแค่จุ่มตัวอุปกรณ์ลงไปในสารตัวอย่าง และรอสังเกตผลได้เลย วิธีการดูผลการตรวจวัดนั้นดูจากสีที่จะปรากฏบนฐานกระดาษ ซึ่งเป็นวิธีการใช้งานเดียวกันกับอุปกรณ์ตรวจการตั้งครรภ์ โดยข้อดีของอุปกรณ์งานวิจัยชิ้นนี้สามารถใช้งานง่าย พกพาสะดวก และมีราคาถูก ที่สำคัญงานวิจัยชิ้นนี้มีการนำเทคโนโลยีเลเซอร์คัตติ้งเข้ามาใช้ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ใช้เลเซอร์ในการตัดกระดาษนั่นเอง ทำให้เกิดความรวดเร็วในการทำงานและมีความแม่นยำสูง เหมาะสำหรับการเข้าสู่ระบบการใช้งานในอุตสาหกรรมทางการตลาดในอนาคตอีกด้วย”

น.ส.สุมามาลย์ กล่าวอีกว่า “จุดสำคัญของงานวิจัยชิ้น คือ การนำนวัตกรรมเลเซอร์คัตติ้งเข้ามาใช้ และใช้กลไกของการละลายน้ำตาลซูโคลสเพื่อทำให้ปฏิกิริยาการตรวจวัดเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้สามารถใช้งานได้จริงกับผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจหาสารพิษก่อมะเร็งเบื้องต้นต่อไป”

“ขอขอบคุณคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดโอกาสให้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ และขอขอบคุณ ผศ.ดร.วนิดา วอนสวัสดิ์ และอาจารย์ในสาขาวิชาเคมี ทุกท่านที่ยังคอยให้ความช่วยเหลือ แนะนำ เป็นที่ปรึกษาแม้ว่าจะสำเร็จการศึกษาออกมาแล้ว” น.ส.สุมามาลย์ กล่าวในที่สุด

อรวรรณ สุขมา : รายงาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *