DPU X มธบ. จัดกิจกรรม “Local Travel” เชิญกูรูธุรกิจท่องเที่ยวชี้ช่องทางนักศึกษาจบใหม่เริ่มต้นอย่างไรให้รุ่ง

 

สถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต (DPU X) ร่วมกับ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม และคณะศิลปศาสตร์   มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.)  จัดกิจกรรม Playfessional ชอบทางไหนต้องไปให้สุด ภายใต้หัวข้อ Local Travel” ธุรกิจท่องเที่ยวไทย เดินสายนี้มีแต่บูม!!  โดยเชิญกูรูด้านธุรกิจท่องเที่ยวมาแชร์ประสบการณ์และชี้ทิศทางการท่องเที่ยวในปัจจุบัน พร้อมเจาะลึกหลากหลายมุมมองอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นำโดย นางสาว ปทิตตา ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) นายกิติชัย ศิรประภานุรัตน์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Bangkok Food Tours นายสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด  ร่วมเสวนา

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ว่า DPU X พยายามเปิดประตูทุกช่องทางธุรกิจให้นักศึกษา มธบ.ได้ทดลองทำเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ เพราะเชื่อว่าสายอาชีพที่เรียนอาจไม่ใช่นิยามหลังเรียนจบเสมอไป การค้นหาตัวตน ค้นหาสิ่งที่ชอบ อาจใช้สิ่งนั้นสร้างโอกาสทางธุรกิจหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านดังกล่าว สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้เปิดให้นักศึกษา คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะศิลปศาสตร์ และนักศึกษาคณะอื่นๆ ที่สนใจสายอาชีพท่องเที่ยว เข้ามาเรียนรู้และเปิดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวชุมชน โดยวิทยากรได้เสนอเนื้อหาของความเป็นท้องถิ่น ที่มีความท้าทายและความลำบากในการหาลูกค้า การบริหารจัดการคนและการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้ทันโลกปัจจุบัน เพื่อให้นักศึกษาเห็นโอกาสที่จะไขว่คว้าในธุรกิจท่องเที่ยว โดยไม่ต้องรอจนเรียนจบ ถ้าใครสามารถเข้าถึงตลาดการท่องเที่ยวได้ก่อน จะได้เปรียบคนอื่นในอุตสาหกรรมนี้

          “เป็นกิจกรรมที่จะเปิดให้นักศึกษาเห็นโอกาสในธุรกิจการท่องเที่ยว เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอีกอุตสาหกรรมหลักของประเทศ การจะสร้างอุตสาหกรรมนี้ให้ยั่งยืนหรือให้มีรายได้ นักศึกษา คือ อนาคตของอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน มุมมองของผู้ประกอบการที่มาให้ความรู้จะชี้ให้เห็นโอกาสพร้อมวิธีคิด วิธีวางแผนการตลาดกับโลกที่เปลี่ยนไป เนื้อหาที่ได้รับจะเปิดมุมมองได้หลากหลาย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในเนื้อหานั้นจะมีจุดก่อเกี่ยวให้เด็กหาข้อมูลเพิ่มขึ้น หาคำตอบให้ตนเองมากขึ้น สุดท้ายในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็จะได้คนที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น” ดร.พณชิต กล่าว

ด้านนายกิติชัย ศิรประภานุรัตน์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Bangkok Food Tours กล่าวว่า ย้อนกลับไปสมัยเรียนมีโอกาสได้ทำงานเป็นเด็กเสริฟในร้านอาหาร สังเกตเห็นว่าชาวต่างชาติ ชื่นชอบอาหารไทยมากจึงเกิดไอเดียอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารไทย เพราะมองว่าเป็นสิ่งใกล้ตัว จากแรงบันดาลใจพยายามทำ Research ศึกษาชาวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยชอบทำกิจกรรมอะไร รวมถึงตระเวนศึกษา Food Tours ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น จนตกผลึกทำธุรกิจทัวร์กึ่งอาหาร โดยโฟกัสพื้นที่ในกรุงเทพฯ เน้นร้านอาหารท้องถิ่น และ Street Food แต่จุดที่ทำให้ธุรกิจเล็กๆของเราไปรอด สืบเนื่องจาก 8 ปีที่แล้ว เรามีข้อมูลว่านักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมซื้อทัวร์ผ่านระบบออนไลน์ จองจบครบทีเดียวไม่ต้องเสียเวลาไปต่อราคาตามเคาน์เตอร์ทัวร์ ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวก เราจึงเปิดเว็บไซต์จองทัวร์ออนไลน์ ปัจจุบันเราพัฒนาระบบให้สามารถมีระบบรับจองทัวร์ได้เอง เพราะปัจจุบันระบบ Online Travel Agency (OTA) รับจองโรงแรม ขายทัวร์ มาแรงมาก เราจำเป็นมากๆที่ต้องใช้ OTA ในยุคปัจจุบัน OTA เป็นเหมือนพ่อค้าคนกลางแต่น่าเสียดายที่ OTA ส่วนใหญ่เจ้าของเป็นต่างชาติ

“สำหรับน้องๆที่สนใจเข้ามาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ยังมีโอกาสอีกมาก ปัจจุบันมีสื่อในมืออยู่แล้วสามารถทำให้ Content ของตัวเอง Unique ผ่านสื่อ หรือหาจุดขายที่เกี่ยวกับไลฟ์ไสตล์ของนักท่องเที่ยว โดยหา Product ที่ตอบโจทย์ลูกค้า ถ้าสามารถนำเสนอได้ก็มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวกับเรา  ในขณะที่ยังเรียนอยู่ เราอาจจะต้องเป็นนักสืบในสายท่องเที่ยว ทดลองทำธุรกิจ  เพราะธุรกิจท่องเที่ยวลงทุนน้อยกว่าธุรกิจอื่น เนื่องจากเราใช้ไอเดียมากกว่าเงินลงทุน ถ้าเกิดไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังสามารถเรียนรู้จุดผิดพลาดแล้วนำมาปรับได้ เพื่อที่จะให้เกิดทัวร์ที่ดี เส้นทางที่ดี หรือ โรงแรมที่ดีขึ้น จึงอยากให้ทดลองทำเส้นทางท่องเที่ยวเราจะได้รู้ว่ามันใช่หรือไม่ใช่สำหรับเรา” นายกิติชัยกล่าว

ขณะที่นายสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด กล่าวว่า แนวคิดการทำธุรกิจการท่องเที่ยวในชุมชน เกิดจากความต้องการตนเองที่เป็นเด็กต่างจังหวัด จึงคิดอยากทำธุรกิจบางอย่างที่เกี่ยวกับชุมชน หลังจากที่ได้มีโอกาสไปทำงานพัฒนาดอยตุง จ.เชียงราย จึงเห็นโอกาสการทำการท่องเที่ยวกับชุมชน อยากส่งเสริมให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการท่องเที่ยวเอง โดยเน้นการพัฒนาชุมชน ทำเวิร์คชอปให้ชุมชนเข้าใจการท่องเที่ยวมากขึ้น เกิดการบริการที่ดีขึ้น เราทำทัวร์ร่วมกัน สุดท้ายก็ทำเว็บไซต์มาขายท่องเที่ยว Local ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลก จุดขายคือการพานักท่องเที่ยวเข้ามารู้จักลงลึกถึงวัฒนธรรมชุมชน และเน้นการทำกิจกรรมร่วมกัน เสน่ห์จะอยู่ตรงที่ให้คนในท้องถิ่นเป็นผู้เล่าเรื่องหรือเป็นไกด์เอง ส่วนเรามีหน้าที่แค่ประสานงาน ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเขานิยมเที่ยวแนวนี้เพราะเขามองว่าเงินที่นำมาเที่ยวเกิดประโยชน์ต่อประเทศนั้นๆ

“ถ้าเราอยากจะเป็นผู้ประกอบการในสาย Local Tourism หรือ Local Experience น่าจะเป็นโอกาสดี ยิ่งมีทัวร์แนวนี้มากขึ้น ประเทศไทยก็มีรายได้ คนทำธุรกิจก็มีรายได้เช่นเดียวกัน ผมอยากให้น้องๆนักศึกษานำความรู้จากการเรียนไปพัฒนาท้องถิ่น แล้วสร้างมูลค่าจากมันให้ได้ ลุกขึ้นมาเป็นคนกล้าคืนถิ่น การทำงานกับชุมชนมีโอกาสอีกมาก ถ้าเรามีใจรักมันจริง ไม่ว่าจะสายไหนก็จะประสบความสำเร็จไม่ช้าก็เร็วถ้าเราไม่ทิ้งความรัก อยากให้ทุกคนเชื่อตามนั้น” นายสมศักดิ์กล่าว

นางสาวปทิตตา ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า ทิศทางการท่องเที่ยวในชุมชนในยุคปัจจุบัน จะชูจุดเด่นด้านวัฒนธรรม พร้อมเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวชุมชนจะยั่งยืนได้มาจากปัจจัย 2 ส่วน คือ ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวและชุมชนเป็นผู้ให้ความพึงพอใจต่อผู้รับบริการ  ในการทำงานกับชุมชน ต้องสร้างความเข้าใจจนชุมชนมีความพร้อม คนที่จะอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวได้ ต้องมีใจรักด้านบริการ ขณะที่สถานการณ์โลกอาจทำให้นักท่องเที่ยวบางประเทศหายไป คือ จีนกับรัสเซีย   ททท.จึงดำเนินการต่างๆเพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับคืนมา มีผลงานวิจัยชี้ว่านักท่องเที่ยวเบื่อที่จะมาท่องเที่ยวซ้ำๆ เราจึงพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และพยายามผลักดันทุกวิถีทางให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทย ททท.ไม่เน้นตัวเลขนักท่องเที่ยว แต่เน้นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ โดยเรายังใช้วิธีกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวไทยที่นิยมไปเที่ยวต่างประเทศให้กลับมาเที่ยวไทยด้วย

“ธุรกิจท่องเที่ยว เน้นการบริการเป็นหลัก คนที่ทำงานด้านนี้ต้องมีใจรัก มีความกระตือรือร้น ที่สำคัญต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้า และเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้ เพราะการบริการไม่สามารถเอาคืนได้ จำเป็นต้องทำให้ดีที่สุด คนที่อยู่ในธุรกิจนี้ต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน” ผอ.กองส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว ททท. กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *