‘ครัวลูกบัวสวรรค์’ มทร.ธัญบุรี เปิดให้นักศึกษา ปลูกผัก-ทำอาหาร ทานฟรี

มทร.ธัญบุรี ตั้งครัวลูกบัวสวรรค์ ให้ปลูกผักและประกอบอาหารทานฟรีด้วยตนเอง ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยนักศึกษาที่ประสบภาวะวิกฤติ สร้างวิถีชีวิตในมหาวิทยาลัยสู่การเรียนรู้

การพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักศึกษา ล้วนมีองค์ประกอบสำคัญหลายส่วน ทั้งการเรียนการสอน การฝึกประสบการณ์ก่อนสำเร็จการศึกษา การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงทักษะและกิจกรรมทางสังคม ซึ่งจะต้องแข่งขันและขนานไปกับสภาพเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ที่ส่งผลให้ทั้ง ‘ผู้ปกครองและนักศึกษา’ ได้รับผลกระทบ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โดย อาจารย์ ‘วิรัช โหตระไวศยะ’ รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ธัญบุรี จึงมีนโยบายสำคัญที่ผลักดันและช่วยนักศึกษา หรือ ‘ลูกบัวสวรรค์’ อย่างเต็มกำลัง ให้อยู่ดีมีสุข มีโอกาสเรียนจนสำเร็จการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ล่าสุดได้จัดตั้ง ‘ครัวลูกบัวสวรรค์’ ให้นักศึกษาที่ขาดแคลนและประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ได้ปลูกผักภายในมหาวิทยาลัย บริเวณรอบหลังสนามฟุตบอล และสามารถเก็บมาประกอบอาหารทานฟรีด้วยตนเอง ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


ผศ.ณัฐ แก้วสกุล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา อธิบายว่า มทร.ธัญบุรี โดยกองพัฒนานักศึกษา ศูนย์จิตอาสา มทร.ธัญบุรี ชมรมราชมงคลจิตอาสา องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษา ได้ร่วมดำเนินการจนเกิดเป็นโครงการครัวลูกบัวสวรรค์ขึ้น เพื่อเป็นทุนหรือแหล่งวัตถุดิบด้านอาหาร สำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ประสบภาวะวิกฤติ และนักศึกษากลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคม ได้เข้ามาใช้ประกอบอาหารทานฟรีด้วยตนเอง ซึ่งมีการตอบรับที่ดีมากจากนักศึกษาหลังจากเปิดครัวครั้งแรก และเชิญชวนผู้สนใจร่วมสนับสนุนสิ่งของ เครื่องครัวเครื่องใช้ และวัตถุดิบเพื่อประกอบการประกอบอาหารต่าง ๆ

“ในการเปิดครัวบัวสวรรค์ครั้งแรก ต้องขอบคุณหลายภาคส่วน ดังเช่น ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชา มทร ธัญบุรี, ศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา บึงกาสาม และวัดนิเวศน์ธรรมาราม ที่ร่วมเป็นกำลังสำคัญและสนับสนุนวัตถุดิบปลอดสารพิษเพื่อประกอบอาหาร”

โครงการครัวลูกบัวสวรรค์ ไม่ได้ใช้งบประมาณสำหรับดำเนินการ แต่ใช้กำลังและความร่วมมือในการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ที่ตั้งใจมาบริจาค ทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง อุปกรณ์เครื่องครัว น้ำดื่ม เครื่องปรุงและวัตถุดิบ “เชื่อว่าโครงการดังกล่าวนี้ จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างวิถีชีวิตในมหาวิทยาลัยแก่นักศึกษา ให้เรียนรู้ ลงมือทำด้วยตนเอง ภายใต้ความพอเพียง”

ตัวอย่างลูกบัวสวรรค์ มทร.ธัญบุรี ที่เข้ามาร่วมในโครงการ ได้สะท้อนความคิดที่เกิดขึ้นจริง เริ่มต้นจาก “เต๋อ” นายวศิน อุนหวงษ์ หนุ่มคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปี 2 เล่าว่าตนนั้นประสบปัญหาค่าใช้จ่าย เมื่อเห็นว่ามหาวิทยาลัยจัดโครงการจึงมาเข้าร่วม ซึ่งเคยใช้บริการมาแล้ว 8 – 9 ครั้งในช่วงที่มาพร้อมกับกลุ่มเพื่อน โดยเข้าไปประกอบอาหารอย่างง่ายจำพวกไข่เจียว ผัดกะเพราหมูสับ รวมถึงยำปลากระป๋อง และเห็นว่า “เป็นโครงการที่ดีในการช่วยเหลือและสนับสนุนนักศึกษาโดยตรง” ขณะเดียวกันตนนั้นเป็นลูกคนที่ 2 ซึ่งพ่อและแม่ต้องรับภาระในการส่งเสียต่อเดือนค่อนข้างสูง ที่ผ่านมาบางเดือนเกิดขัดสนบ้าง ทำให้ต้องปรับลดค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไปแม้ว่าจะอดออมแล้วก็ตาม สิ่งหนึ่งที่อยากทำเพื่อมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นการตอบแทน นั่นคือการตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ และอยากให้มีโครงการเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการช่วยเหลือนักศึกษาได้อย่างดีที่สุด

อีกหนึ่งหนุ่มจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ “ติ่งลี่” นายกรศิษฎ์ บุญรักษา ชั้นปี 2 ให้ความเห็นว่าครัวลูกบัวสวรรค์ เป็นโครงการที่ตอบโจทย์นักศึกษามากที่สุดอีกโครงการหนึ่ง “ความขาดแคลน ความไม่มีและการประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ สามารถเกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือการหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว” ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยที่มองเห็นและให้ความช่วยเหลืออย่างทันถ่วงที เพื่อให้วิถีชีวิตของนักศึกษาได้มีโอกาสก้าวต่อไป จากประสบการณ์ที่เคยใช้บริการครัวลูกบัวสวรรค์ พบว่าสภาพครัวมีความพร้อม ทั้งวัตถุดิบ เครื่องปรุงและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ สามารถรองรับความต้องการของนักศึกษาได้เป็นอย่างมาก วัตถุดิบและผักบางส่วนก็จะมาจากการเพาะปลูกของนักศึกษาในพื้นที่มหาวิทยาลัย “เมื่อมหาวิทยาลัยสนับสนุนนักศึกษาอย่างเต็มที่แล้ว นักศึกษาเองก็ควรต้องตั้งใจเรียน รู้จักใช้ทรัพยากรภายในมหาวิทยาลัยอย่างรู้คุณค่า”

ส่วน “บี้” นายพงษ์พัฒน์ แป้งเทา ชั้นปี 2 จากสโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ฝ่ายพัสดุ เล่าว่าในช่วงที่ผ่านมานั้นแม่ของตนเองมีสุขภาพไม่แข็งแรง และได้ลาออกจากงาน เนื่องจากความไม่พร้อมของร่างกาย ภาระจึงตกหนักที่พ่อ ซึ่งเป็นหัวเรือหลักของครอบครัว ที่ต้องดูแลตนเอง น้องและแม่ จึงต้องอดออมและจำกัดค่าใช้จ่ายลง โดยเฉพาะค่าอาหารการกิน แต่เมื่อทราบว่าทางมหาวิทยาลัยมีโครงการที่มาเติมเต็มดังกล่าวจึงสนใจเข้าร่วม “ได้เข้าไปทำอาหารในช่วงเช้าและเที่ยง เริ่มตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การประกอบอาหาร รวมถึงการล้างและจัดเก็บอุปกรณ์เข้าที่เดิม” ตัวอย่างอาหารที่ทำดังเช่น ไข่เจียวหมูสับ ผัดพริก ซึ่ง ใช้เวลาปรุงไม่นาน ส่วนข้าวนั้นทางโครงการจะหุงเตรียมไว้ให้แล้ว

ปิดท้ายที่ “เพลง” นางสาวเบญญาภา อาจจีน ชั้นปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่า กับข้าวหรือค่าอาหารในแต่ละวันมีราคาที่สูงขึ้น ซึ่งตกมื้อละประมาณ 40-50 บาท “ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยที่ทุ่มเทโครงการเพื่อนักศึกษาอย่างจริงจัง” ชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษามีหลายระดับ บางคนอาจต้องอดมื้อกินมื้อ พอมีโครงการเช่นนี้เข้ามาซัพพอร์ตก็ช่วยให้นักศึกษาที่ประสบปัญหาได้ก้าวผ่านไปได้ โดยได้เข้ามาทำอาหารกับเพื่อนจำพวกต้มจืด ผัดผักบุ้ง ไก่ทอด ซึ่งเป็นอาหารที่ทำไม่ยาก ใช้เครื่องปรุงไม่เยอะ หลังจากทำเสร็จกจะช่วยกันเก็บล้าง เพื่อให้เพื่อน ๆ คนถัดไปได้เข้ามาใช้บริการต่อไปได้ และ “ขอบคุณทุกการแบ่งปันที่เกิดขึ้น”

ผู้สนใจร่วมสนับสนุนสามารถเข้ามาบริจาคสิ่งของด้วยตนเองได้ที่ กองพัฒนานักศึกษา มทร.ธัญบุรี หรือ โทร. 02 549 4028.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *