ดึงเด็กอาชีวะพัฒนาพื้นที่สาธารณะ

  

นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ เพื่อเป็นกรอบชี้นำให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้า ซึ่งที่ผ่านมาการจัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการเพื่อให้การจัดการและแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้ความสำคัญต่อบทบาทและสิทธิของชุมชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้สังคมไทยยืนหยัดได้อย่างมั่นคง และส่งผลให้การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน สอศ. จึงได้มอบหมายให้วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม ร่วมกับสำนักงานเขตบางบอน ดำเนินการโครงการ “บึงสวย น้ำใส บางบอนร่วมใจพัฒนา” ขึ้น โดยทำการปรับปรุงพื้นที่รกร้างและบึงน้ำข้างวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม จำนวน 11 ไร่ เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี สวยงาม ปลอดภัย ส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีพื้นที่สาธารณะจัดกิจกรรม เช่น วันลอยกระทง วันสงกรานต์ และใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย


ด้านนายเสถียร อุตวัต ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาลัยได้ให้นักศึกษาออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่และบริเวณบึงน้ำ ออกแบบเส้นทางเดิน-วิ่ง ริมบึงน้ำและรอบสนามกีฬาในวิทยาลัย ปรับปรุงเส้นทางเข้า-ออก เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย ซึ่งได้นำนักศึกษาทุกสาขาวิชาออกทำกิจกรรมจิตอาสา ขุดลอกบึง จัดเก็บวัชพืช ตัดแต่งกิ่งไม้ ต้นไม้ ทาสีต้นไม้เพื่อกันแมลง และเป็นจุดสังเกตสำหรับผู้ที่ขับรถในเวลากลางคืน ทาสีขอบถนนให้มองเห็นได้ชัดเจน ปูอิฐตัวหนอนตามเส้นทางเดิน เพื่อใช้สำหรับการเดิน-วิ่ง ออกกำลังกาย ซ่อมแซมทาสีปรับปรุงท่าน้ำให้มีความปลอดภัยเพื่อรองรับประเพณีการลอยกระทงที่กำลังจะมาถึง สำหรับวัชพืชที่นักศึกษาเก็บขึ้นมาจากบึง ส่วนใหญ่จะเป็นต้นธูปฤาษี ซึ่งซากของธูปฤาษีนักศึกษาจะนำมาแปรรูปเป็นปุ๋ย และใช้คลุมดินเพื่อลดการสูญเสียความชื้นออกจากผิวดิน โดยในช่วงเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป จะจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงขึ้นบริเวณพื้นที่ริมบึงเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากต้นธูปฤาษี และจะมีการฝึกอบรมอาชีพให้กับประชาชน โดยหมุนเวียนอาชีพต่าง ๆ สลับกันไป และเมื่อการปรับปรุงพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว วิทยาลัยฯ จะนำครู และนักศึกษาเปิดศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix it Center ให้บริการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ อีกทั้งนักศึกษายังได้ฝึกทักษะอาชีพจากการปฏิบัติจริง ซึ่งจะช่วยให้การเรียนอาชีวศึกษาเป็นการเรียนที่สมบูรณ์แบบ


​เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวปิดท้ายว่า สอศ.ต้องการให้นักศึกษาอาชีวศึกษา มีส่วนร่วมในการดูแลสังคม โดยฝึกปฏิบัติจากจุดที่ใกล้ตัวคือภายในสถานศึกษาและชุมชนรอบ ๆ สถานศึกษา เพื่อเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกจิตอาสา สร้างความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการรักษาสภาพแวดล้อมให้ติดเป็นนิสัยประจำตัวตลอดไป ตลอดจนสามารถนำความรู้ด้านวิชาชีพออกช่วยเหลือสังคมได้ทันที

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *