บทบาทของสถาบันการศึกษากับสังคมไทยในยุคดิจิทัล

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราคงปฏิเสธไม่ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์มากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการติดต่อสื่อสาร คมนาคม การลงทุนทางธุรกิจ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) การเชื่อมโยงของอุปกรณ์ต่างๆ หรือที่มักเรียกกันว่าอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of things: IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หรือแม้กระทั่งการใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์มากยิ่งขึ้นทั้งในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมการผลิต หรือภาคเกษตรกรรม จนมีนักวิชาการหลายท่านได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้หุ่นยนต์ในการแทนที่การทำงานของมนุษย์มากขึ้น นอกจากนี้ นักวิชาการหลายท่านยังได้กล่าวถึงความน่ากลัวของสังคมไทยเกี่ยวกับจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มลดลง หรืออาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีอัตราคงอยู่ของประชากรมากกว่าอัตราการเกิด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้ยาวนานขึ้นเนื่องจากความเจริญทางด้านการแพทย์แต่ในขณะที่อัตราการเกิดของประชากรลดน้อยลง

จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ออกมาให้ความเห็นถึงการเตรียมความล่มสลายของสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยโดยกล่าวอ้างถึงเด็กรุ่นใหม่ที่มักไม่นิยมศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพื่อต้องการปริญญาบัตรซึ่งอาจแตกต่างกับอดีตที่ผ่านมาที่จำเป็นต้องได้ใบปริญญาบัตรเพื่อใช้ประกอบในการสมัครงาน กล่าวคือ เด็กรุ่นใหม่สามารถมีรายได้ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ประกอบกับจำนวนประชากรที่ลดน้อยลง และสังคมไทยก็กำลังเผชิญกับกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ดังนั้น หลายมหาวิทยาลัยจึงถูกท้าทาย และจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดทั้งในด้านระบบการเรียน การสอน นวัตกรรมการศึกษา หรือแม้กระทั่งการคิดในเชิงธุรกิจมากยิ่งขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันการศึกษายังคงเป็นหน่วยทางสังคมที่สำคัญอย่างยิ่งในการขัดเกลาพฤติกรรมของมนุษย์ หรือที่เรียกว่าการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) ทั้งในแง่ของการพัฒนากระบวนการคิด องค์ความรู้ การปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามโดยเฉพาะขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ของความเป็นไทยที่จำเป็นต้องปลูกฝัง และอนุรักษ์ไว้จากรุ่นสู่รุ่น นั่นสะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือจำนวนประชากรที่ลดลง ก็มิได้หมายความว่าจะมาทำลายเอกลักษณ์ และคุณค่าของความเป็นไทย ในทางกลับกัน สิ่งเหล่านี้ควรจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาล ผู้มีอำนาจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันแสวงหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้ประชากรไทยที่มีแนวโน้มลดลง และเด็กที่กำลังจะเติบโตไปเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติได้มาช่วยกันพัฒนาประเทศเพื่อให้คงไว้ ในค่านิยมที่ดีงาม ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ความถูกต้อง และเป็นอนาคตซึ่งจะดำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติไทย มีความยึดมั่นในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิฉะนั้นแล้ว เราคงได้แต่เพียงกล่าวถึงจำนวนประชากรที่ลดลง และกล่าวถึงแนวโน้มการปิดตัวของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง หรืออาจต้องถูกต่างชาติเข้ามาครอบงำกิจการ แต่ขณะที่ สังคมไทยต้องประสบปัญหาสังคมที่รุนแรงและน่าสะพรึงกลัวมากยิ่งขึ้นในระบบทุนนิยมและการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล เช่น คดีลัลลาเบล การบังคับใช้กฎหมายกับเด็กขายกระทงโดยถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ การทุจริตประพฤติมิชอบตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงผู้ปฏิบัติ คนจนล้นคุก อาชญากรรมข้ามชาติ ฯลฯ เหล่านี้มิใช่หรือที่เราคงปฏิเสธมิได้ว่า ความมีอยู่หรือลดน้อยลงของค่านิยมที่ดีงามในสังคมไทยซึ่งมิอาจต้านทานต่อกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัยอันเป็นสถาบันที่จะหล่อหลอม ขัดเกลา เยาวชนให้คงไว้ซึ่งคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบทั้งกระบวนการคิด จิตสำนึก ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ การทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพโดยยังคงหวงแหน และรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ วัฒนธรรมที่ดีงาม และวิถีชีวิตของความเป็นไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการพัฒนาระบบการศึกษา การพัฒนาคน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อสนับสนุนสถาบันการศึกษาในการทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต เฉกเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว

เรียบเรียงโดย :

รศ. พตท. ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย

ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม

มหาวิทยาลัยรังสิต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *