เทียบกันชัดๆ 7 ข้อแตกต่าง ของพิธีรับปริญญาของ ญี่ปุ่น อเมริกา และไทย

 

หากพูดถึงงานรับปริญญาของประเทศไทย เราก็จะนึกถึงพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์ ภาพชุดครุยที่เป็นสัญลักษณ์ของแต่ละคณะและมหาวิทยาลัย รวมไปถึงตารางวันซ้อมรับปริญญาและระเบียบในการเข้ารับต่างๆ ของไทยที่ค่อนข้างเคร่งครัด แต่สำหรับในหลายๆ ประเทศนั้น พิธีการรับปริญญาไม่มีแม้แต่ชุดยูนิฟอร์มหรือครุย แตกต่างจากประเทศไทยโดยสิ้นเชิง วันนี้เราจึงหยิบเอาพิธีการทำปริญญาของประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่นมาเทียบให้ดูกันว่าพิธีรับปริญญาของ 2 ประเทศนี้มีความแตกต่างจากของบ้านเราอย่างไรค่ะ

 ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ชุดครุย ดารา

 

การแต่งกาย

เริ่มด้วยการแต่งกาย สำหรับประเทศไทยจะมีระเบียบการแต่งตัวที่กำหนดมาอย่างเคร่งครัด สำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อนักศึกษากับกระโปรงสีสุภาพ หรือสีกระโปรงประจำของแต่ละมหาวิทยาลัย ทับด้วยชุดครุยที่แตกต่างกันไปตามคณะและมหาวิทยาลัยอีกเช่นกัน รองเท้าก็จะเป็นรองเท้าหุ้มส้นสีสุภาพ สำหรับผู้ชายก็จะเป็นชุดพิธีการหรือชุดนักศึกษาแล้วทับด้วยครุยเหมือนกับของผู้หญิง

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

 

แต่สำหรับการรับปริญญาที่ประเทศญี่ปุ่น  บัณฑิตจะแต่งตัวแบบใดก็ได้ ไม่มีรูปแบบกำหนดเอาไว้ตายตัว แต่โดยส่วนมากแล้วผู้ชายจะใส่สูทโทนสีเข้มๆ เพราะที่ญี่ปุ่นสีดำ และสีโทนเข้มถือว่าเป็นสีที่สุภาพ และผู้หญิงจะแต่งตัวด้วยชุดฮากามะ   (卒業袴 -sotsugyou hakama) ชุดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยเฮอัน เป็นชุดลักษณะด้านในคล้ายกับกิโมโน ซึ่งถือเป็นชุดรับปริญญาที่เป็นเอกลักษณ์และมีความโดดเด่นเฉพาะของญี่ปุ่นมากๆ นอกจากนี้ในบางมหาวิทยาลัยอย่าง มหาวิทยาลัยแห่งศิลปะ Kyoto University of Arts and Design บัณฑิตบางคนก็ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงในชุดรับปริญญาด้วยการแต่งชุด”คอสเพลย์” ไม่ว่าจะเป็นซุปเปอร์ฮีไร่ ตัวการ์ตูน มนุษย์ต่างดาว จนเป็นเสียงฮือฮาและเป็นที่สนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

 

ส่วนสำหรับประเทศอเมริกาการแต่งตัวในการเข้ารับนั้น ข้างในสามารถใส่ชุดอะไรก็ไม่มีการกำหนด  เพียงแต่จะมีเสื้อ gown เสื้อคลุมสีดำใส่ทับเข้าไปอีก ส่วนการทำผม รองเท้า เสื้อด้านใน กางเกงหรือกระโปรงก็แล้วแต่ที่บัณฑิตแต่ละคนต้องการจะใส่ได้เลย

 

 

ช่วงเวลาการรับปริญญา

สำหรับของไทย ช่วงเวลาจะแล้วแต่กำหนดการของมหาวิทยาลัย เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป หรืออาจะได้ได้รับในปีถัดไปหลังจากปีที่เรียนจบก็เป็นได้ โดยเพราะประเทศไทยมีพิธีการในการเข้ารับและก่อนการเข้ารับที่ค่อนข้างมาก ทางมหาวิทยาลัยก็จะออกกำหนดการล่วงหน้าค่อนข้างนานเพื่อเป็นการให้บัณฑิตได้เตรียมตัวก่อนเข้ารับ

 

ส่วนที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนใหญ่แล้วการรับปริญญาจะรับพร้อมกันในช่วง เดือนมีนาคมของทุกปี ไม่เพียงแต่พิธีการจบการศึกษาของระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น ในระดับมัธยมและประถมก็มักจะมีการจัดงานกันในช่วงเดือนนี้

 

แต่อเมริกานั้น พิธีการรับปริญญาจะไม่ได้มีกำหนดการที่นานหรือชัดเจนเท่าสองประเทศแรก เพราะที่นี่บางมหาวิทยาลัยสอบไฟนอลวันนี้ วันมะรืนก็เข้ารับเลย โดยผู้ที่อยากจะเข้ารับปริญญาก็แค่แจ้งความประสงค์กับอาจารย์ เพื่อที่อาจารย์จะเร่งตรวจข้อสอบให้ และถ้าสอบถ้าผ่านหมดไม่ติดอะไร ก็เตรียมรับปริญญาได้เลย เรียกได้ว่าจบวันนี้รับพรุ่งนี้เลยก็ว่าได้

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ graduation day america

 

การซ้อมรับปริญญา

สำหรับบ้านเราเป็นที่รู้กันดีว่า ถ้าใครที่อยากจะเข้าพิธีรับปริญญาบัตรก็จะต้องซ้อมรับปริญญาทุกคน ซึ่งการซ้อมรับก็มีประมาณ 2 -3 รอบกว่าจะได้รับจริง ตั้งแต่รอบการจัดลำดับ ลองขึ้นรับ จนรอบซ้อมใหญ่ก่อนรับจริงที่เรามักจะเห็นบัณฑิตหลายคนเชิญชวนพี่ๆ น้องๆ หรือคนรู้จักให้ไปร่วมแสดงความยินดีกันในวันนั้นเพราะเป็นวันที่จะซ้อมทุกอย่างเหมือนจริง บัณฑิตส่วนใหญ่ก็จะแต่งกายจัดเต็มแบบวันรับจริงนั่นเอง

 

ถัดมาที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น นอกจากจะไม่มีชุดสำหรับงานพิธีการแล้วก็ยังไม่มีการซ้อมรับด้วย เพราะส่วนใหญ่ที่ญี่ปุ่นจะไม่มีลำดับการนั่งในวันที่เข้ารับใครอยากจะนั่งเก้าอี้ตัวไหนก็สามารถเข้าไปจับจองได้เลย ไม่แยกสาขา ไม่แยกคณะ เหมือนกับของประเทศไทย

 

ส่วนที่อเมริกาอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการรับปริญญาที่อเมริกานั้น จบแล้วก็เข้าวันในอีกวันสองวันหลังจากนั้นได้เลย ดังนั้นที่นี่ก็ไม่มีการซ้อมรับเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น แต่จะมีการเปิด  PowerPoint  หรือให้ข้อมูล แนะนำเล็กน้อยว่าจะต้องรับแบบไหน มีรายละเอียดอะไรบ้าง

 

จำเป็นต้องเข้ารับหรือไม่

ทั้ง 3 ประเทศบัณฑิตสามารถเลือกได้ว่าประสงค์จะเข้ารับหรือไม่เข้ารับ

โดยที่ประเทศไทย ส่วนใหญ่กว่า 90%  ก็จะเข้ารับ ที่ญี่ปุ่นเองก็เช่นเดียวกัน คนส่วนมากก็เลือกที่จะเข้ารับ แต่สำหรับที่อเมริการส่วนใหญ่ก็จะไม่เข้ามาเข้ารับกัน

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

 

บรรยากาศงานรับปริญญา

ที่ไทยบรรยากาศในวันรับปริญญาจะครึกครื้นมาก บริเวณรอบๆ และภายในมหาวิทยาลัยจะมีร้านขายของ ขายตุ๊กตา ดอกไม้ ร้านค้าต่างๆ มากมาย มีการจัดซุ้มถ่ายรูป และมีรุ่นน้องมาบูมให้รุ่นพี่บัณฑิต มีญาติๆ และเพื่อนๆ ที่หอบกันมาร่วมแสดงความยินดีกันอย่างคึกคัก

 

สำหรับที่ญี่ปุ่นก็มีการจัดซุ้มขายของที่ระลึกจากสหกรณ์มหาวิทยาลัย ของนักศึกษารุ่นน้อง ตัวอย่างของที่ระลึก เช่น เสื้อ สมุดจด ฯลฯ และมีการบูมของรุ่นน้องในชมรมต่างๆ แก่ให้รุ่นพี่บัณฑิตเช่นเดียวกับไทย บรรยากาศงานวันรับปริญญาก็ค่อนข้างครึกครื้นไม่แพ้ที่ประเทศไทยเลย

 

แต่สำหรับที่อเมริกาบรรยากาศงานจะเรียบๆ ไม่ได้มีการขายของ ไม่ได้มีบรรยากาศที่ครึกครื้นเหมือนของไทยและญี่ปุ่น ถ้าจะมีร้านขายของก็จะเป็นร้านขายดอกไม้ช่อเล็กๆ และของที่ระลึก หน้าทางเข้าหอประชุมเท่านั้นเอง

 

 

การถ่ายรูป

ที่ไทยการถ่ายรูปในวันรับปริญญานั้นถือว่าเป็นจริงเป็นจังมากที่สุด เพราะนอกจากการถ่ายตั้งแต่เช้าจรดเย็น ถ่ายกับเพื่อนบัณฑิต ถ่ายกับทุกคนที่มาร่วมยินดีในวันนั้นแล้ว  ยังมีการถ่ายรูปวันซ้อมใหญ่ และบางคนยังมีการจ้างช่างภาพมืออาชีพมาถ่ายรูปรับปริญญาโดยเฉพาะ ถ่ายกันตั้งแต่ช่วงเริ่มได้รับชุดครุยจนรับวันจริง เรียกได้ว่าบางคนได้ถ่ายรูปเยอะที่สุดในชีวิตก็ในช่วงรับปริญญานี่เอง

 

สำหรับที่ญี่ปุ่น ก็จะเน้นถ่ายรูปกับมุมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้ถ่ายทุกมุมขนาดของไทย และจะถ่ายรูปกันวันเดียวก็คือวันรับปริญญา เพราะชุดฮากามะที่ผู้หญิงใส่เข้ารับนั้นเป็นชุดที่เช่ามาเป็นรายวัน ส่วนจะถ่ายเยอะ หรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่จะเป็นลักษณะของการถ่ายรูปกันเอง ให้เพื่อน พ่อ แม่ ช่วยกันถ่ายให้ ไม่ได้จ้างช่างมาถ่ายจริงจังขนาดของประเทศไทย

 

ส่วนที่อเมริกาจะมีการถ่ายรูปก่อน และหลังเข้าหอประชุมบ้างพอเป็นพิธี ไม่ได้ถ่ายอะไรจริงจัง อาจจะเน้นถ่ายกับเพื่อนบัณฑิตและครอบครัวเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกเสียมากกว่า

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ graduation japan

 

 

พิธีการรับปริญญาบัตร

สำหรับ มหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยจะเข้ารับกับอธิการบดี ส่วนมหาวิทยาลัยที่อยู่ในการกำกับของภาครัฐจะเข้ารับกับพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นพิธีการที่จริงจัง เคร่งครัด และสำรวม เวลาที่ใช้ในการทำพิธีค่อนข้างนาน อาจจะกินเวลานาน 4-5 ชั่วโมง โดยที่บัณฑิตจะเข้ารับตามพิธีการที่ซ้อมไว้ ไม่มีการเปิดให้ครอบครัวหรือผู้มาร่วมยินดีเข้าในห้องประชุมหรือบริเวณพิธีด้วย

 

แต่ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นญาติๆ และผู้มาร่วมยินดีสามารถเข้าไปนั่งร่วมกับบัณฑิตในหอประชุมได้ โดยจะมีที่นั่งแยกไว้สำหรับผู้ที่ไม่ใช่บัณฑิต และเข้าร่วมพิธีจบการศึกษาจะเป็นการเข้าฟังโอวาทอธิการบดีประมาณ 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น จากนั้นถึงจะไปรับปริญญาบัตรจริงๆ จากอาจารย์ที่ปรึกษา หรืออาจารย์ประจำคณะที่ห้องแยกต่างหาก

 

ส่วนในอเมริกา พิธีการรับปริญญาจะเชิญบุคคลสำคัญมาพูดเล่าประสบการณ์ให้ฟัง เป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จบ้าง หรือเด็กนักศึกษาที่โดดเด่นมา 4-5 คน จากนั้นก็จะเข้าสู่ส่วนของการรับปริญญาบัตรจากอธิการบดีของมหาวิทยาลัย และก่อนลงจากเวทีจะมีอาจารย์จากคณะต่างๆ มายืนแสดงความยินดีกับเรา ซึ่งปริญญาบัตรที่บัณฑิตได้บนเวทีนั้นไม่ใช่ตัวจริง ต้องนำลงไปแลกตัวจริงอีกที โดยพิธีทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 2 ชม. เท่านั้น ด้วยพิธีการที่อเมริกาจะไม่ได้เคร่งครัดแบบที่ไทย ในการรับปริญญา ญาติพี่น้อง ครอบครัวและเพื่อนๆ สามารถเข้าไปนั่งร่วมในบริเวณพิธีได้ และยังสามารถส่งเสียงแสดงความยินดีได้เต็มที่อีกด้วย

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ graduation day america

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

: gogoamerica.com

: ilovejapan

:https://campus.campus-star.com/variety/105554.html

 

ขอบคุณรูปภาพจาก

:https://pantip.com/topic/34247923

:https://www.pinterest.com/pin/293085888231406190/?lp=true

:https://blog.turbotax.intuit.com/tax-deductions-and-credits-2/education/four-tax-tips-for-college-grads-15074/

:https://www.iheart.com/content/2018-05-14-16-graduation-songs-with-lyrics-that-will-give-you-all-the-feels/

:https://www.newtv.co.th/news/18230

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *