“เกรต้า ธันเบิร์ก” จากเด็กที่ยืนประท้วงหน้าทำเนียบสู่บุคคลแห่งปีที่อายุน้อยที่สุดของนิตยสาร ‘TIME’

 

 

 

หากพูดถึงเรื่องของภาวะโลกร้อน ในนาทีนี้คนที่เราจะนึกถึงก็คงหนีไม่พ้น สาวน้อยวัย 16 ปีที่ชื่อว่า “เกรต้า ธันเบิร์ก” เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน เด็กสาวผู้ที่เคยยืนประท้วงหน้าทำเนียบให้รัฐบาลและผู้ใหญ่ตระหนักถึงภาวะโลกร้อน สู่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดผู้ทรงอิทธิพล จนได้รับรางวัลบุคคลแห่งปี 2019 จากนิตยสารไทม์ (TIME) ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

 

เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กสาวชาวสวีเดนคนนี้ มีอายุเพียงแค่ 16 ปี แม้จะอายุยังน้อยแต่อุดมการณ์ของเธอกลับยิ่งใหญ่ เกรต้าคือเด็กที่สนใจเรื่องภาวะโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เธออายุได้เพียง 9 ขวบเท่านั้น หลังจากเธอนั่งเรียนกับอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งสอนเรื่องการประหยัดพลังงาน เธอจึงสงสัยว่าทำไมครูถึงต้องสอนเรื่องนี้ ครูของเธอจึงได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องภาวะโลกร้อนให้ฟัง นั่นทำให้เธอกลับมาคิดว่า มันแปลกมาก ที่มนุษย์สามารถเเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกได้จริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ทุกคนควรที่จะต้องใส่ใจเรื่องนี้ แต่ทำไมเธอกลับไม่เห็นมีใครสนใจเรื่องนี้มากนัก

 

จากความสงสัยในวันนั้น พาเธอไปสู่การศึกษาค้นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เวลาของเธอแทบทั้งหมดไปกับการศึกษา ทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา ทำการศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้เธอทราบสาเหตุของสภาพอากาที่เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นขนาดนี้ เธอได้เรียนรู้ว่า ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีสิ่งมีชีวิตอย่างน้อย 200 สายพันธุ์ ต้องสูญพันธุ์ไปเรื่อยๆในแต่ละวัน เธอและครอบครัวจึงตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยเกรต้าเริ่มที่ตนเองและคนในครอบครัว เธอหยุดบริโภคเนื้อสัตว์ และแทบไม่ซื้อสิ่งของอะไรใหม่เลยยกเว้นจำเป็นจริงๆ เพื่อลดกระบวนการผลิตสินค้า เธอทำแผงโซลาเซลล์ใช้เองที่บ้าน และเธอก็ยังเลิกนั่งเครื่องบินตั้งแต่ปี 2015 เมื่อพบว่ามันคือการเดินทางที่สร้างมลภาวะให้แก่โลก

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ greta thunberg

 

อุดมการณ์ของเธอไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่บ้าน เกรต้า เริ่มจากการส่งผลงานเรียวความเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนเข้าประกวดกับสำนักพิมพ์สเกนก้า ในสวีเดน ในปี 2018 และเธอก็คว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง เกรต้ารู้สึกกังวลกับปัญหานี้เป็นอย่างมาก เธอกังวลกับความไม่เดือดเนื้อร้อนใจของผู้ใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้ คนในปัจจุบันยังใช้ชีวิตแบบไม่คำนึงสิ่งแวดล้อมและอนาคตของเด็กที่ต้องมีชีวิตต่อบนโลกใบนี้ จนกระทั่งในปีนั้นเองที่ประเทศสวีเดนมีภูมิอากาศสูงที่สุดตั้งแต่เคยมีมา จุดนั้นเองเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้สาวน้อยคนนี้เริ่มสานต่ออุดมการณ์ของเธอ

 

ก่อนหน้านี้เธอมีโอกาสได้เห็น การประท้วงของเยาวชนที่รัฐฟลอริด้า ที่ไม่ยอมเข้าเรียน เพื่อแสดงออกว่า ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาควรมีกฎหมายควบคุมการใช้อาวุธปืนได้แล้ว โดยวิธีการนี้ดึงดูดความสนใจของเธอ เกรต้า จึงชวนเด็กนักเรียนคนอื่นๆ ทำการ Strike หรือไม่ยอมเข้าเรียนเพื่อจะประท้วงในเรื่องนี้กัน การชวนในครั้งนั้นของเธอก็ถูกปฏิเสธจากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน แต่นั่นไม่ได้ทำให้เธอถอดใจ เกรต้า ตัดสินใจดำเนินการประท้วงนี้ต่อ โดยเธอตัดสินใจไม่เข้าเรียน ในวันเปิดเทอมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 และไปนั่งอยู่ด้านหน้ารัฐสภาสวีเดน พร้อมกับชูป้ายแผ่นไม้ที่เขียนด้วยลายมือตัวเองว่า “ไม่ไปเรียนหนังสือ เพื่อประท้วงโลกร้อน”  พร้อมกับทำใบปลิวให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และความอัดอั้นเกี่ยวกับความเมยเฉยของผู้ใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้แจกแก่คนที่ผ่านไปผ่านมาอีกด้วย

 

 

Greta02

 

การประท้วงของเกรต้าเริ่มได้รับความสนใจจากสำนักข่าว เธอหยุดเรียนเพื่อนประท้วงด้วยกันถึง 3 เดือน ซึ่งก็เห็นผลเพราะการประท้วงของเธอในครั้งนี้เรียกความสนใจจากเยาวชนและเพื่อนนักเรียนให้มาร่วมชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเธอได้ประท้วงที่หน้าทำเนียบจนถึงวันที่ 9 กันยายน 2018 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งของสวีเดน

 

ความคิดและอุดมการณ์ของเธอคนนี้มั่นคงและหนักแน่น  เพราะตลอดเวลาที่ไปประท้วงเกรต้าถูกตั้งคำถามมากมายจากผู้ใหญ่ ว่าทำไมเธอต้องทำแบบนี้ ทำไมถึงไม่กลับไปเรียน ทำไมไม่กลับไปตั้งใจเพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งและกลับมาพัฒนาโลกเสียเอง ซึ่งเธอตอบคำถามเหล่านั้นด้วยความหนักแน่นว่า “ในเมื่อปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์คิดค้นวิธีมากมายเพื่อแก้ปัญหานี้ แต่กลับไม่มีใครสนใจ แล้วทำไมตัวเธอจึงต้องกลับไปเรียนเพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีด้วย”

 

และหลังจากจบการประท้วงในครั้งนั้นเกรต้าก็เดินหน้าการประท้วงของเธอต่อไปแต่ได้ลดวันในการประท้วงลง เหลือแค่วันหยุดและวันศุกร์เท่านั้น จนเกิดเป็น แฮชแท็ก #Fridaysforfuture (ขอวันศุกร์เพื่ออนาคต) เกิดขึ้น เธอนำแฮชแท๊กนี้มาสานต่อเป็นเว็บไซต์ Friday For Future เพื่อเป็นจุดศูนย์กลาง รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นกับกิจกรรมการประท้วง และคอยจับตาดูว่ารัฐบาลของแต่ละ

ประเทศ มีการผลักดันนโยบายใหม่ เพื่อลดโลกร้อนอย่างจริงจังหรือไม่ ซึ่งในที่สุดเกรต้าสร้างแรงจูงใจให้คนตระหนักถึงเรื่องนี้ได้สำเร็จไปอีกขั้น Friday For Future ทำให้เกิดแนวร่วมไปทั่วโลก เยาวชนกว่า 4 ล้านคนใน 170 ประเทศ ได้นัดร่วมชุมนุมหยุดเรียนเพื่อแสดงจุดยืนต่อปัญหาโลกร้อนในที่สุด

 

 

อุดมการณ์และเสียงของเกรต้าเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เธอได้รับเชิญให้ไปพูดในอีเวนต์สำคัญต่างๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Ted Talk ที่สตอกโฮล์ม เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ งาน EESC ที่บรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม การประชุมแก้ปัญหาโลกร้อน COP24 ของสหประชาชาติ ที่ประเทศโปแลนด์  แต่ครั้งที่ทำให้เสียงของเกรต้าดังไปทั่วโลกก็คือ การประชุมระดับผู้นำโลก เรื่องสภาวะอากาศ (UN Climate Action Summit) ที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในนิวยอร์ก สุนทรพจน์ของเกรต้าสร้างกระแสเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก และสุนทรพจน์ในครั้งนั้นก็ทำให้เกิดวลีที่ตราตรึงสำหรับใครหลายคน “How dare you” (คุณกล้าดียังไง)

 

 

นอกจากวลีเด็ดของเกรต้าจะถูกส่งต่อไปทั่วโลกแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาหลังจากสุนทรพจน์ในครั้งนั้นก็คือ การถกเถียงกันเรื่องของเกรต้า มีทั้งผู้คนที่เห็นด้วยกับเธอ และผู้คนที่ไม่เห็นด้วย และคิดว่ามีคนอยู่เบื้องหลังการกระทำครั้งนี้ของเธอ รวมทั้งอีกหลายเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเธอทั้งเรื่องอายุ ความรู้ และอาการออทิสติกของเธอแทนการสนใจเรื่องภาวะโลกร้อนที่เธอกำลังพยายามสื่อสารอยู่ แต่ถึงแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายแค่ไหน นั่นไม่เคยทำให้เธอ “หยุด” เกรต้ายังคงเดินหน้าในเรื่องนี้ต่อไป ล่าสุดเธอถูกเชิญให้ไปกล่าวสุนทรพจน์อีกครั้งบนเวที COP25 (The UN Climate Change Conference :COP 25)

 

และการไม่หยุดเดินหน้าของเธอ ทำให้บรรดาผู้นำของโลก เริ่มให้ความสนใจเกรต้ามากขึ้น อุดมการณ์แก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่เธอพยายามผลักดัน กลายเป็นวาระสำคัญที่ผู้นำของโลกต้องมาคุยกันอย่างจริงจังเพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้ และเป็นที่ตระหนักของประชากรทั่วโลกมากขึ้น

 

จนในที่สุดเกรต้ากลายตัวแทนสำหรับการพิทักษ์โลก กลายเป็นเด็กสาวผู้ทรงอิทธิพลในระดับโลก  และถูกจัดอันดับเป็นบุคคลแห่งปี ประจำปี 2019 (Person of the Year 2019) บนนิตยสารชื่อดังอย่างไทม์ ชนะผู้เข้ารอบสุดท้ายอย่าง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์, แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงชาวฮ่องกง ทำให้เธอกลายเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเกียรติยศนี้นับตั้งแต่ปี 1927

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ greta thunberg time

 

เรื่องราวของเกรต้าทำให้เราเห็นถึงอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ของเธอ เธอไม่ได้คิดถึงแค่ตัวเอง ครอบครัว หรือแค่อนาคตอันใกล้ แต่เธอมองไปไกลกว่านั้น เธอผลักดันความคิดและอุดมการณ์ของเธอ เพื่อโลกและคนรุ่นหลังที่ต้องอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ และด้วยความมุ่งมั่นและไม่ท้อถอยเลยแม้แต่นิด ทำให้วันนี้สิ่งที่ เกรต้า ธันเบิร์ก สาวน้อยวัย 16 ปีคนนี้ต้องการจะบอกนั้นดังก้องไปทั่วโลกให้ทุกคนได้หันกลับมาดูแลและแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนนี้อย่างจริงจัง…

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

:https://thestandard.co/time-person-of-the-year-2019-greta-thunberg/

:https://workpointnews.com/2019/09/29/greta-thunberg-profile/

 

ขอบคุณรูปภาพจาก

:https://www.sustainablelife.co/news/detail/3

:https://www.landeks.com/lifestyle/greta-thunberg-time-magazine/3728/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *