ครูควรสอนอย่างไรในห้องเรียนแบบ Child Center ….?

 

สำหรับรูปแบบการเรียนการสอน ที่มีการเน้นครูเป็นศูนย์กลาง หรือ Teacher Center  นั้นเป็นการสอนแบบ Chalk and talk คือ การยิ่งสอนครูยิ่งเก่ง (คนเดียวในห้อง) เป็นรูปแบบการสอน ที่ไม่เพียงพอแล้วสำหรับการพัฒนาเด็กในยุคปัจจุบัน ทำให้ทุกวันนี้ในบ้านเราหันมาให้ความสนใจรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือ Child Center กันเป็นจำนวนมาก

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

 

โดย Child Center เป็นรูปแบบ การเรียนรู้โดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง ที่การพลิกโฉมการเรียนการสอนแบบเดิมที่เด็กมีหน้าที่ฟัง ท่องจำ ทำตามที่ครูบอก เปลี่ยนมาเรียนรู้โดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญที่ตัวเด็ก เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ยึดถือการพัฒนาเด็ก (DAP:Developmentally Appropriate Practice) เป็นหลัก โดยแนวการจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อพื้นฐานที่ว่า ผู้เรียนทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาได้ตามของตัวเอง แต่แตกต่างที่ความต้องการ ความสนใจและความถนัด รวมไปถึงทักษะต่างๆ ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงไม่ควรที่จะเป็นไปในแนวทางเดียว ควรมีความหลากหลายและตอบสนองได้กับเด็กทุกกลุ่ม

 

ซึ่งข้อดีของการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบนี้ คือการที่ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้จนนำไปสู่การเกิดองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง ตามความเหมาะสมและความต้องการของเขาผู้เรียน ผู้เรียนจะได้ค้นพบและแก้ปัญหาด้วยตนเอง มีอิสระในการเรียนมากขึ้น ได้เรียนรู้จากหลายๆ สถานการณ์ ทั้งในและนอกห้องเรียน และที่สำคัญ ได้เรียนในสิ่งที่ “เขา” อยากเรียนรู้ อยากได้ อยากเป็น โดยเรียนรู้จากประสบการณ์จริงด้วย “สมองและสองมือ”  ซึ่งจะแตกต่างกับการจัดการศึกษาในรูปแบบทั่วไป ที่ครูเป็นผู้วางแผนการจัดการเรียนรู้ทั้งหมด

 

นอกจากนี้การจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นสำคัญนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการศึกษาในทุกระดับชั้นไม่ว่าจะเป็น การศึกษาปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา ตลอดไปจนถึงการศึกษาทางเลือกต่างๆ อีกด้วย

ซึ่งในประเทศไทยเองก็ให้ความสนใจ และปรับรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็นแบบ child center มานานแล้ว แต่แม้ห้องเรียนในไทยจะมีการเรียนการสอนรูปแบบนี้มาเป็นเวลาพอสมควร แต่การศึกษาในระบบของไทยยังมีสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์ให้เกิดการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นสำคัญเท่าที่ควรไม่ว่าจะเป็น การมีวิชาที่ต้องเรียนต่อสัปดาห์มากเกินไป การมีนักเรียนต่อห้องมากเกินไป การมีสื่อการสอนที่ไม่เพียงพอ รวมไปถึงการจัดสรรเวลาเรียนที่ไม่สอดคล้องกับแนวการเรียนรู้ของเด็กๆ สิ่งเหล่านี้จึงไปจำกัดการเรียนรู้และรูปแบบการเรียนแบบที่เด็กเป็นศูนย์กลางของชั้นเรียน ดังนั้นสิ่งที่เราน่าจะต้องพิจารณาเพื่อที่จะทำให้การเรียนการสอนในรูปแบบนี้ประสบผลสำเร็จมากขึ้นก็คือ หลักสูตรที่จะเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และถูกจำกัดด้วยอุปสรรคต่างๆ น้อยลง

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ child center

 

และนอกจากตัวหลักสูตรแล้วสิ่งที่เราจะลืมไม่ได้แม้จะเป็นการสอนแบบเด็กเป็นศูนย์กลางก็คือ ครูผู้สอน เพราะถึงแม้เราจะต้องการเพิ่มบทบาทในห้องเรียนให้เด็กมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าบทบาทในการทำงานของครูจะลดลง กลับกันการเรียนในรูปแบบนี้ผู้สอนจะต้องมีภาระหน้าที่และทำงานให้หนักขึ้นด้วยเพื่อห้องเรียนแบบ child center นี้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากถามว่าแล้วครูควรจะสอน หรือจัดการห้องเรียนแบบนี้อย่างไรบ้าง? วันนี้ทางเว็บไซต์ eduzones ก็มีบทบาท การทำงาน และการเตรียมตัวของครูสำหรับห้องเรียนแบบ child center มาฝากกันดังนี้ค่ะ

 

  1. เริ่มจากการจัดสภาพการณ์หรือสภาพแวดล้อมทางการเรียนการสอน

ด้วยการใช้สื่อหรือเครื่องมือเพื่อเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งนี้ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกทางการศึกษาโดยเฉพาะห้องเรียนและอุปกรณ์

 

  1. ต้องมีการวางแผนในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนแต่ละคน

โดยเน้นที่ความสนใจอยากรู้ อยากเรียนของผู้เรียน และควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กแต่ละคนได้พัฒนาไปในทางที่พวกเขาถนัดอย่างเต็มที่

 

 

  1. พัฒนาตนเอง

ในการเรียนการสอนรูปแบบนี้และในยุคที่โลกหมุนเร็วเช่นนี้ ครูจำเป็นต้องมีมีวิสัยทัศน์ (Vision) ทางการศึกษาที่กว้างไกล ไม่ว่าจะเป็นด้วยการอ่านเพื่อการศึกษา เข้ารับการประชุมอบรมสัมมนา หรือพูดคุยสนทนา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อร่วมงาน แล้วนำมาปรับประยุกต์ใช้ในการทำกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีบทบาทต่อการเรียน การสอนยุคใหม่ เช่น Computer ทั้งที่เป็น Hardware และ Software, CD-ROM, การเรียนการสอนทางไกล (Telecommunication), สถานการณ์จำลอง (Simulation), การสาธิตและการทดลอง (Demonstration and Laboratory) และอื่นๆ อีกมากมาย คเพื่อให้ครูเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีวิจารณญาณในการใช้สื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อผลที่จะเกิดกับตัวผู้เรียนโดยตรง

  1. การเปลี่ยนจากผู้สอนมาเป็นผู้จัดประสบการณ์ในการเรียนรู้

โดยการส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้รู้จักการเรียนรู้วิธีที่จะเรียน (Learn How To Learn) โดยเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความอยากเรียนรู้ เป็นผู้ชี้แนะแหล่งข้อมูล และประสานแหล่งวิทยาการในการเรียนรู้ (Learning Resources) และเป็นผู้คอยให้คำปรึกษาเมื่อผู้เรียนพบกับปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขเองได้ ในเวลาและโอกาสที่เหมาะสม

 

  1. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้

เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้อย่างรอบด้าน ทั้งด้านความคิด จิตใจ การแสดงออกในกรอบของความถูกต้อง และให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม รู้จักการเก็บรวบรวมข้อมูล สำรวจ สัมภาษณ์ และนำเสนอด้วยการรายงานอภิปราย อีกทั้งการฝึกปฏิบัติจริงด้วยตนเอง โดยคำนึงถึงเนื้อหาสาระและจุดประสงค์การเรียนรู้เป็นเกณฑ์ นอกจากนั้นควรส่งเสริมกระบวนการคิด กระบวนการแก้ไขปัญหา และกระบวนการแสวงหาความรู้ให้กับผู้เรียนในรูปแบบต่างๆ

 

  1. ใช้วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลาย

ครูผู้สอนต้องไม่ยึดติดอยู่กับวิธีใดวิธีหนึ่ง เพราะไม่มีวิธีสอนวิธีเดียววิธีใดที่ดีที่สุดในโลก ดังนั้นควรพิจารณารูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับเรื่องราว เนื้อหาสาระการเรียนรู้ และสถานการณ์ที่เหมาะสม

 

  1. ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมิน

โดยครูและผู้เรียนเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างกฎเกณฑ์การประเมิน ในรูปแบบต่างๆ ร่วมกัน ทั้งนี้ก็เพื่อความก้าวหน้าของผู้เรียน (Formation Evaluation) และให้ผู้เรียนได้ทราบผลการเรียนรู้ตนเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

 

 

แม้หลักสูตร การจัดห้องเรียนหรือหลายๆ อย่างในระบบการศึกษาไทยตอนนี้อาจยังเป็นอุปสรรคในการเรียนการสอนรูปแบบนี้อยู่บ้าง แต่หากบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะตัวครูผู้สอน ได้มีความเข้าใจ และพร้อมอยู่เสมอก็เชื่อว่า จะสามารถทำให้การศึกษาและการพัฒนาเด็กๆ นั้นประสบความสำเร็จ และเราจะได้เห็นผู้เรียนหรือ “ผลผลิตทางการศึกษา” ที่มีคุณภาพในอนาคตได้อย่างแน่นอนค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

: https://www.trueplookpanya.com/education/content/68591/-teaartedu-teaart-teaarttea-

: https://www.rakluke.com/

: pongsuwansaimai.org

 

 

ขอบคุณรูปภาพจาก

: https://www.oxfordlearning.com/does-your-child-struggle-with-homework/

: https://www.irishtimes.com/news/social-affairs/concern-about-inadequate-pre-school-inspections-1.2167861

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *