มาทำความรู้จักกับ “วูล์ฟ คูเคียร์” เด็กฝึกงานสุดเจ๋ง!  ผู้ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่หลังฝึกงานที่องค์การนาซ่าได้เพียง 3 วัน

 

ถือเป็นอีกความสำเร็จที่น่ายินดีอย่างยิ่ง หลังจาก องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA ได้เปิดเผยการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่ชื่อว่า “TOI 700 d” ไปเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยดาวเคราะห์ดวงใหม่นี้มีขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์โลกถึง 6.9 เท่า หรือมีขนาดระหว่างดาวเคราะห์เนปจูนและดาวเคราะห์ยูเรนัส  โดยอยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,300 ปีแสง

 

ภาพจากฝีมือศิลปินจำลองลักษณะของดาวเคราะห์ค้นพบใหม่ ตามการคาดคะเนของนักดาราศาสตร์

 

แต่สิ่งที่ฮือฮาไม่แพ้การค้นพบดาวดวงใหม่ก็คือ  ในแถลงการณ์ของนาซา ระบุว่า ผู้ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่นี้ เป็นเพียงเด็กหนุ่มวัย 17 ปี ชื่อ วูล์ฟ คูเคียร์ (WOLF CUKIER) จากโรงเรียนมัธยมปลายสการ์เดล ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ได้มาฝึกงานกับนาซาที่ศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดในช่วงหน้าร้อนได้เพียงแค่ 3 วันเท่านั้น

 

 

วูล์ฟ คูเคียร์

 

วูล์ฟ คูเคียร์ เด็กหนุ่มวัย 17 ผู้หลงใหลและสนใจในดาราศาสตร์ สมัครเข้าฝึกงานกับนาซา หลังได้ทราบว่ามีความต้องการอาสาสมัครช่วยตรวจสอบข้อมูลที่ส่งมาจาก “ดาวเทียมสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในปรากฏการณ์ทรานซิต” (Transiting Exoplanet Survey Satellite – TESS) โดยหน้าที่ในการฝึกงานของเขา คือการตรวจสอบข้อมูลการส่องสว่างของดาวฤกษ์จำนวนหนึ่ง เพื่อมองหาแบบแผนของความสว่างที่อาจลดลงชั่วขณะเป็นระยะๆ ซึ่งการที่ดาวฤกษ์มืดมัวลงชั่วคราวในลักษณะนี้เป็นประจำ แสดงว่ามีปรากฏการณ์ทรานซิต (transit) ซึ่งดาวเคราะห์บริวารเคลื่อนผ่านตัดหน้าดาวฤกษ์ จนเกิดการบดบังแสงชั่วคราว

 

โดยปรากฏการณ์นี้ใช้เป็นเครื่องยืนยันถึงการมีอยู่ของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ๆ ที่นักดาราศาสตร์ยังไม่เคยรู้จักมาก่อนได้ ซึ่งในกรณีของดาวเคราะห์ที่วูล์ฟค้นพบนั้น ถือว่าสังเกตเห็นได้ยากมากเพราะมันเคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์ถึงสองดวง ทำให้ความเปลี่ยนแปลงของแสงสว่างจากดาวฤกษ์ดวงที่เล็กกว่าถูกมองข้ามไปอยู่เสมอ

 

 

17-year-old Wolf Cukier discovered the planet during a NASA internship

 

วูล์ฟ คูเคียร์ ได้เปรียบเทียบการค้นพบของตนเหมือนกับภาพยนต์ชื่อดังอย่าง สตาร์วอร์ส โดยในตอนแรกที่พบ วูล์ฟคิดว่าปรากฏการณ์ทรานซิตของ TOI 1338 b เป็นเพียงการที่ดาวฤกษ์ดวงเล็กเคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์ดวงใหญ่ที่เป็นคู่ของมันเท่านั้น แต่เมื่อสังเกตในรายละเอียด เขากลับพบว่าช่วงเวลาที่เกิดอุปราคาจากการบดบังแสงของดาวฤกษ์ดวงเล็กนั้นไม่ตรงกับที่ควรจะเป็นเท่าใดนัก ทำให้สันนิษฐานได้ว่า แท้ที่จริงแล้วอาจจะมีดาวเคราะห์บริวารอีกดวงหนึ่งเคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์ทั้งสองอยู่

 

วูล์ฟเล่าว่า เขานำเอาข้อมูลที่ตรวจพบไปให้ผู้ฝึกสอนงานดู แล้วเขาทั้งคู่ก็ตรวจทานข้อมูลทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง และพบว่ายังมีจุดที่ชี้ถึงปรากฏการณ์ทรานซิตเพิ่มจากที่เขาสังเกตเห็นอีกสองครั้ง จากนั้นทีมงานของนาซาจึงเริ่มทำการวิเคราะห์ เพื่อให้แน่ใจว่าดาวดวงนั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่ความผิดพลาดจากการอ่านข้อมูลหรือเครื่องมือสังเกตการณ์

 

และนั่นทำให้องค์การนาซ่าค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ ซึ่งการค้นพบของวูล์ฟถือเป็นครั้งแรกที่ดาวเทียมเทสส์ (TESS) สามารถตรวจจับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรวนรอบคู่ดาวฤกษ์ (circumbinary planet) ได้สำเร็จ แม้ว่าก่อนหน้านี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์และภารกิจเคทูจะค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะแบบเดียวกันได้แล้วถึง 12 ดวง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าผลการตรวจสอบภายหลังของนาซาชี้ว่า ดาวเคราะห์ TOI 1338 b อาจมีอุณหภูมิสูงมากจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถจะอาศัยอยู่ได้ และอาจจะไม่มีพื้นผิวดาวที่เป็นหินแข็งอีกด้วย

 

 

 

การค้นพบของเด็กชายวัยเพียง 17 ปีคนนี้ไม่ใช่เพียงเพราะการมาฝึกงานเพียงแค่สามวันเท่านั้น แต่วูล์ฟได้ศึกษาเรื่องราวของดาราศาสตร์ที่ตนเองสนใจมาโดยตลอด โดยเขามักจะใช้กล้องดูดาวที่บ้านส่องดูความเปลี่ยนแปลงบนท้องฟ้า พร้อมกับติดตามข่าววิทยาการทางด้านนี้อย่างสม่ำเสมอ และจากความชอบและศึกษาเกี่ยวกับดวงดาวมาตลอดนี้เองจึงทำให้เขาค้นพบสิ่งใหม่ภายในชั่วข้ามคืนอย่างที่เขาเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

 

แม้ตอนนี้ตัวเขาจะฝึกงานที่องค์การนาซ่าจบแล้ว แต่วูล์ฟก็ยังเดินหน้าไปพร้อมกับดวงดาวที่เขาชอบต่อไป โดยเขาตั้งใจจะศึกษาดาราศาสตร์ และระบบระบบดาวคู่อุปราคาต่อไป นอกจากนี้ เขายังตั้งใจจะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอย่าง พรินซ์ตัน สแตนฟอร์ด หรือ MIT เพื่อจะเรียนต่อด้านดาราศาสตร์ หรือฟิสิกส์อีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

: https://www.bbc.com

: https://thematter.com

: https://www.tnnthailand.com/content/26181

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

: https://1734811051.rsc.cdn77.org/data/images/full/360463/wolf-cukier.jpg?w=600?w=430

: https://mashviral.com/17-year-old-wolf-cukier-discovered-the-planet-during-a-nasa-internship/

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *