รู้หรือไม่!! แพทย์ 6 ปี เรียนอะไรกันบ้าง ?

ใครอยากเป็นหมอยกมือขึ้น!! คณะแพทยศาสตร์ แทบจะเป็นอีก 1 คณะในดวงใจที่น้อง ๆ #Dek63 หลายคนใฝ่ฝันที่จะสอบติดและเข้าไปเรียนให้ได้ แต่บอกเลยว่า คณะแพทยศาสตร์ นอกจากจะเรียนหนักแล้ว ยังต้องมีความตั้งใจและความพยายามเป็นอย่างมาก เพราะคณะนี้นั้นเรียนถึง 6 ปีด้วยกัน สอบเข้าว่ายากแล้ว การเรียนนั้นยากยิ่งกว่า ถ้าใจไม่รักจริงอาจจะเหนื่อยสุด ๆ เลยก็ได้นะครับ โดยคณะแพทยศาสตร์นั้น จะเรียนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของคน เยียวยา รักษาอาการเจ็บป่วยหรือโรคต่าง ๆ ด้วยความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวกับการรักษา แต่ถึงแม้ว่าการเรียนนั้นจะหนักหน่วงและยากมาก แต่ถ้าเราได้รักษาใครสักคนให้อาการบาดเจ็บหรือป่วยบรรเทาลงได้ มันก็น่าภูมิใจไม่ใช่น้อยเลยนะครับ

ปี 1 ปรับพื้นฐาน

          โดยจะนำความรู้ที่เคยเรียนมาช่วง ม.4 – 6 มาขมวดเข้าด้วยกัน จะเน้นวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ (ที่ใช้ในการแพทย์) เป็นหลัก แต่ว่าจะเรียนลงลึกมากยิ่งขึ้นและยากขึ้นกว่าเดิม

ปี 2 ก้าวแรกสู่การเป็นแพทย์

          เรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์ทางการแพทย์เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเนื้อหาในปีนี้จะได้เรียนเกี่ยวกับโครงสร้างของร่างกายและระบบการทำงานของร่างกายอย่างละเอียด เช่น ระบบประสาท ระบบเลือด ฯลฯ นอกจากนี้ยังจะต้องเรียนรู้ในวิชาอื่น ๆ อีก เช่น วิชาทางกายวิภาค สรีรวิทยา พันธุศาสตร์ เป็นต้น พร้อมทั้งจะได้พบกับอาจารย์ใหญ่และกล่าวคำปฏิญาณ อีกด้วย

ปี 3 ร่างกายของเรานั้นป่วยได้อย่างไร

เน้นการเรียนเกี่ยวกับระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้ร่างกายของเราเกิดอาการเจ็บป่วยหรือทำให้ร่างกายผิดปกติ ทั้งการเรียนรู้จักกับเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ สาเหตุของการเกิดโรค เช่น หลักภูมิคุ้มกันวิทยา, ปรสิตวิทยา, พยาธิทั่วไป, เวชศาสตร์ชุมชนฯ เป็นต้น และนอกจากนี้ยังเรียนเกี่ยวกับยาชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในการรักษาโรค (ระดับพื้นฐาน) อีกด้วย

**และที่สำคัญในชั้นปีนี้ยังจะต้องเจอเรื่องยากอีกหนึ่งเรื่องก็คือ การสอบใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ขั้นที่ 1 ซึ่งจะทำการสอบตอนจบปี 3 เป็นการสอบความรู้ที่เราได้เรียนมาตลอดทั้ง 3 ปี โดยข้อสอบจะเป็นแบบตัวเลือกทั้งหมด แบ่งการสอบออกเป็นรอบเช้า 150 คะแนน และรอบบ่าย 150 คะแนน รวมเป็น 300 คะแนน ถ้าสอบไม่ผ่านในรอบแรกสามารถสอบซ่อมได้อีกหนึ่งรอบ (บอกได้คำเดียวเลยว่าเนื้อหาเยอะมาก น้อง ๆ จะต้องจำและทำความเข้าใจให้ดีเลย)

ปี 4 ก้าวแรกสู่คลินิก

บอกลาการปิดเทอมไปได้เลย เพราะการเรียนในปีนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ได้เรียนรู้บนหอผู้ป่วย (วอร์ด) ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้จากผู้ป่วยโดยตรงเลย โดยจะเป็นการแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ เพื่อไปดูแลผู้ป่วยตามวอร์ดตลอดทั้งปี ในแต่ละวอร์ดจะมีเนื้อการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป เช่น วอร์ดสูติ-นรีเวช ก็จะเน้นไปที่โรคของผู้หญิง, วอร์ดเด็กก็จะเน้นไปที่โรคที่เกิดขึ้นกับเด็ก เป็นต้น

นอกจากจะมีการเปลี่ยนวอร์ดตลอดทั้งปีแล้ว ยังต้องเข้าเวรอีกด้วย ซึ่งจะได้รับมอบหมายให้มีการอยู่เวรนอกเวลาราชการ วันเสาร์-อาทิตย์ หรือในเทศกาลหยุดยาว ทำให้เวลาว่างที่เคยมีก็จะหายไป มีเวลาส่วนตัวน้อยลง ดังนั้นควรที่จะต้องหาวิธีในการปรับตัวให้ดีเลย

ปี 5 ทุ่มเทอย่างหนักหน่วงเพื่อเป็นแพทย์ที่สมบูรณ์แบบ

สำหรับรูปแบบการเรียนในชั้นปีที่ 5 จะเหมือนกับปี 4 คือแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ และวนไปตามวอร์ดต่าง ๆ ตลอดทั้งปี แต่ก็จะมีความแตกต่างกันตรงที่วอร์ดที่วนกันนั้น จะเป็นวอร์ดที่ยังไม่เคยเจอในตอนปี 4 เช่น แผนกจิตเวช, แผนกนิตเวช เป็นต้น (การวอร์ดในแต่ละสถาบันการศึกษาอาจจะมีความแตกต่างกันออกไป ตามที่สถาบันได้จัดเอาไว้)

**แต่สิ่งที่สำคัญในชั้นปีนี้ก็คือการเตรียมตัวสอบใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ขั้นที่ 2 ด้วย ซึ่งจะทำการสอบตอนเรียนจบชั้นปี 5 เป็นการสอบความรู้ในชั้นปีที่ 4 และ 5 ที่ได้เรียนมา ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ แบ่งการสอบออกเป็นรอบเช้าและรอบบ่าย รวม 300 คะแนน (ข้อสอบเป็นตัวเลือกแบบขั้นที่ 1)

ปี 6 ชีวิต Extern

          ปีสุดท้ายแล้วสำหรับการเรียนแพทย์ น้อง ๆ จะได้ทำงานจริงเหมือนแพทย์ตามโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคนไข้ ทำการรักษาโรค เย็บแผลเอง ทำคลอดเอง ทำการผ่าตัดเล็กเอง (โดยจะมีอาจารย์เป็นผู้ควบคุมดูแลอีกทีอย่างห่าง ๆ) เรียกได้ว่าเป็นปีสุดท้ายที่โหดมากเลยทีเดียว เพราะเมื่อเราขึ้นวอร์ดไปแล้วเราจะต้องทำทุกอย่างเหมือนแพทย์ที่จบไปแล้ว ใช้ความรู้ที่ได้เรียนทั้งหมด และในปีนี้เราสามารถออกไปฝึกที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดได้ด้วย

**ที่สำคัญเรายังจะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ขั้นที่ 3 (ขั้นสุดท้าย) ซึ่งจะทำการสอบตอนจบปี 6 ส่วนของข้อสอบนั้นจะไม่ได้เป็นแบบตัวเลือกเหมือนกับ 2 รอบที่ผ่านมา แต่จะเป็นการสอบแบบออสกี้ (OSCE) ซึ่งเป็นการสอบปฏิบัติแบบมีเสียงกริ๊งกำหนดเวลา มีทั้งหมด 30 ฐาน (มีฐานให้เราได้พักเหมือนกันนะ)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *