เผย 7 กลยุทธ์ให้นักเรียนอยากมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น

ในปัจจุบันห้องเรียนแบบที่ครูเป็นผู้นำแล้วนักเรียนเป็นผู้ตามเป็นรูปแบบห้องเรียนที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ที่นักเรียนต้องรู้จักมีส่วนร่วมในชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยมีครูเป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะแนวทาง ดังนั้นรูปแบบห้องเรียนที่จะสอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนในรูปแบบนี้   จำเป็นต้องมีการสร้างให้นักเรียนรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในชั้นเรียน โดยมีครูคือตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้นักเรียนอยากมีส่วนร่วมกับห้องเรียนมากยิ่งขึ้น

 

แต่การจะทำให้นักเรียนรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในห้องเรียนได้นั้นถือเป็นโจทย์ยากของครูไม่น้อยทีเดียว วันนี้เราจึงมี 7 กลยุทธ์ จากบทความ ชื่อว่า 7 MEANINGFUL CLASSROOM ENGAGEMENT STRATEGIES FOR STUDENT CONNECTION ที่นำเสนอกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ครูเข้ากับนักเรียนได้มากขึ้น เพื่อช่วยให้นักเรียนอยากมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากยิ่งขึ้นมาฝากกันค่ะ

 

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

  1. เรียนรู้วัฒนธรรมของนักเรียน

 

เรื่องของช่วงวัยที่มีความแตกต่างกันนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญในการปรับเข้าหากันระหว่างครูกับนักเรียน ดังนั้นบางครั้งครูก็ต้องปรับจูนเข้าหานักเรียน ด้วยการเรียนรู้วัฒนธรรมของนักเรียน เรียนรู้สิ่งที่เป็นความชอบ สิ่งที่นักเรียนสนใจ รวมถึงเรื่องราวที่เป็นที่นิยมของวัยเรียนที่สิ่งเหล่านี้ระหว่างครูกับนักเรียนนั้นมักจะมีความแตกต่างกัน ครูต้องพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมสิ่งเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อพวกเขา เพื่อที่จะได้เข้าใจวัฒนธรรมของพวกเราด้วย

 

 

  1. แบ่งปันเรื่องราวของคุณ

 

หนึ่งในกลยุทธ์การมีส่วนร่วมในชั้นเรียนที่น่าสนใจก็คือการเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวคุณเองให้นักเรียนฟัง บ่อยครั้งที่ครูคาดหวังกับจุดมุ่งหมายในการจัดการชั้นเรียนมากเกินไป จนกลายเป็นอุปสรรคในการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีของนักเรียน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดแรงกดดันดังกล่าว ครูควรส่งเสริมให้ชั้นเรียนมีความผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในวิธีการสร้างความผ่อนคลายที่ดีนั้นคือการเลือกเล่าเรื่องราวสนุกๆ เกี่ยวกับตัวคุณเองหรือเรื่องราวจากสิ่งที่คุณพบเจอ เพื่อให้นักเรียนรู้สึกสนใจ และเห็นว่าเบื้องหลังของตัวครูก็ไม่ต่างกับที่พวกเขาเป็น

 

 

  1. อุ่นเครื่องใน 5 นาทีแรก

 

5 นาทีแรกในชั้นเรียนควรจะถูกนำมาใช้เป็นการอุ่นเครื่องมากกว่าที่จะกระโดดเข้าไปสู่บทเรียนในทันที ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้พวกเขารู้สึกเป็นตัวของตัวเองก่อนที่ครูจะเริ่มต้นสร้างเป้าหมายในการเรียนรู้ให้กับพวกเขา โดยเราสามารถใช้เวลา 5 นาทีแรกในการพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนทำเมื่อคืนก่อน ข่าวล่าสุดที่น่าสนใจ ตอบคำถามและฟังเรื่องราวของพวกเขา เพื่อสร้างความผ่อนคลายให้ทุกคนก่อนที่จะเริ่มเรียน

 

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

 

  1. จัดการกับปัญหาด้วยกัน

 

การพูดคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างนักเรียนกับครู จะทำให้นักเรียนรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียว บางครั้งปัญหาทั้งในและนอกห้องเรียนที่เกิดขึ้นกับนักเรียนจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการทำงานร่วมกัน บทบาทของครูในทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปจากการเป็นผู้ป้อนความรู้และจัดการกับการแก้ปัญหาทั้งหมด ตอนนี้เราควรเป็นผู้แนะนำและให้คำปรึกษา รวมถึงเป็นผู้สนับสนุนให้นักเรียนรู้จักค้นหาตัวตนของตัวเองด้วยตัวเอง จุดยืนในเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะส่งเสริมให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกัน ครูจึงควรเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับปัญหาต่าง ๆ ในฐานะส่วนหนึ่งของสมาชิกในห้องเรียนมากกว่าที่จะแก้ไขสิ่งเหล่านั้นด้วยคำว่าครู

 

 

  1. แสดงออกถึงความใส่ใจนักเรียนอย่างเหมาะสม

 

การแสดงออกถึงความใส่ใจนักเรียน ไม่ได้หมายความว่า จะต้องให้เวลากับนักเรียนทั้ง 24 ชั่วโมง ทำตัวเป็นเพื่อนที่รุ่นเดียวกันกับเขา หรือเข้าไปอยู่ร่วมในวัฒนธรรมของพวกเขา แต่ควรที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี ยอมรับในตัวของเขา อดทนและให้อภัยต่อพฤติกรรมที่ไม่ดีของพวกเขา และพูดคุยทักทายกับพวกเขาตามความเหมาะสมจึงนับเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า

 

 

  1. อย่ามัวนึกถึงแต่อดีต

 

โลกนั้นเปลี่ยนไปทุกวัน ชั้นเรียนเองก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยเช่นกัน ดังนั้นครูจึงไม่ควรอยู่ในวังวนของอดีตเพราะจะ ทำให้เรามองไม่เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และความสามารถที่ฉายออกมาของนักเรียนในปัจจุบัน ดังนั้นครูต้องเข้าใจก่อนว่าไม่มีอะไรที่จะอยู่เหมือนเดิม มันถึงเวลาแล้วสำหรับการค้นพบสิ่งใหม่และความท้าทายของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในการศึกษา พยายามเรียนรู้สิ่งนั้น และเพื่อนำสิ่งนั้นมาใช้ประโยชน์

 

 

  1. ยิ้มเข้าไว้

 

การยิ้มทำงานได้ดีด้วยเหตุผลหลายประการ มันเป็นมากกว่าการแสดงออกทางสังคมที่สุภาพ มันสร้างความรู้สึกในเชิงบวกที่แท้จริงทั้งในผู้ให้และผู้รับ นอกจากนี้การยิ้มยังแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในเวลาที่ยากลำบาก เป็นการสร้างความมั่นใจให้นักเรียนเห็นว่าคุณเต็มใจที่จะแสดงความกล้าหาญแบบนั้น แม้กับปัญหาที่หนักหนาแค่ไหนก็ตาม

 

 

กลยุทธ์ที่จะช่วยให้นักเรียนอยากมีส่วนร่วมในการห้องเรียนมากขึ้นนั้น จำเป็นต้องเริ่มจากการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักเรียนกับครู ก็จะช่วยให้นักเรียนอยากมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าหากคุณครูท่านใดได้นำกลยุทธ์เหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อพัฒนาตัวเองในการจัดการเรียนการสอน ความสัมพันธ์และความอยากมีส่วนร่วมในนักเรียนต้องเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

: http://www.trueplookpanya.com/

 

ขอบคุณข้อมูลจาก 

: https://www.napha.no/content/14757/Skolen—viktig-arena-for-a-oppdage-barn-som-slite

: http://brandage.com/article/11582/British-Council

: https://blog.schoolspecialty.com/second-semester-classroom-management-goals/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *