วิศวกรรมศาสตร์กับสาขาที่ใช่ จบมาทำงานอะไร?

 

คณะวิศวกรรมศาสตร์ คือ ?

หากพูดถึงคณะยอดฮิตที่เป็นคณะในฝันของน้อง #Dek63 หลาย ๆ คน คงปฎิเสธไปไม่ได้เลยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ นั้นถือว่ามาแรงที่สุดอีกคณะนึงเลยทีเดียวนะ เพราะด้วยลุคที่ดูเท่ดูสมาร์ทแต่จริง ๆ แล้วคณะนี้แฝงไปด้วยความยากทางด้าน ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คำนวณ คณิต ซึ่งถ้าไม่ใจรักจริง อาจอกหักจากคณะนี้ก็ได้นะ โดยหลัก ๆ ที่คณะนี้เรียนนั้นก็จะเกี่ยวกับการประยุกต์ ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้ามาเพื่อออกแบบและพัฒนาโครงสร้าง เครื่องจักร เครื่องมือ กระบวนการผลิตต่าง ๆ หรือสร้างและใช้งานอุปกณ์เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์อันสูงสุดนั้นเอง

1. สาขาวิศวกรรมเคมี

วิศวกรรมเคมี เป็นสาขาวิชาที่ว่าด้วยการออกแบบและควบคุมการทำงานของกระบวนการทางเคมี รวมถึงหลักการของกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนส่วนผสม สถานะและลักษณะสมบัติของวัตถุดิบไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามความต้องการอย่างปลอดภัย ประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมเคมี

จะเป็นผู้รอบรู้ในกระบวนการและอุปกรณ์การผลิตทางอุตสาหกรรม จึงสามารถทำงานได้อย่างกว้างขวาง ทั้งงานออกแบบและพัฒนากระบวนการผลิต งานวิเคราะห์และบริหารโครงการ งานควบคุมกระบวนการผลิต งานขายและงานบริการทางเทคนิค และงานวิจัยและพัฒนา เช่น ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์/กระดาษ เป็นต้น

 

2. สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า

วิศวกรรมไฟฟ้า เป็นสาขาที่เกี่ยวกับการผลิต การประยุกต์ใช้พลังงานไฟฟ้าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อุปกรณ์ทางไฟฟ้า  อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำและวงจรไฟฟ้าต่างๆเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้า

สามารถทำงานด้านการออกแบบวิเคราะห์ระบบไฟฟ้า วงจรไฟฟ้าการรับส่งข้อมูลในรูปสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การควบคุมระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีสารกึ่งตัวนำในระดับขนาดไมโครเมตรและนาโนเมตร

 

3. สาขาวิศวกรรมเครื่องกล

วิศวกรรมเครื่องกล เป็นศาสตร์ทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้หลักการทางฟิสิกส์สำหรับการวิเคราะห์ออกแบบ ผลิต และบำรุงรักษาระบบทางกลวิศวกรรมเครื่องกลนั้นถือว่าเป็นสาขาวิชาหลักสาขาหนึ่งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกล

สามารถทำงานออกแบบระบบทางวิศวกรรม ดูแลและควบคุมกระบวนการผลิต ตรวจสอบและซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล วิจัยและพัฒนาผลิตดภัณฑ์ในหน่วยงาน หรือศูนย์วิจัย

 

4. สาขาวิศวกรรมโยธา

วิศวกรรมโยธา เป็นศาสตร์ทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและใช้สิ่งก่อสร้าง เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมมนุษย์ โดยศึกษาตั้งแต่การออกแบบ การวิเคราะห์ การก่อสร้างหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง การจัดการและการบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างโดยให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิมน้อยที่สุด ตัวอย่างงานได้แก่ อาคารสูง บ้าน สะพาน  เส้นทางรถไฟฟ้า สนามบิน ท่าเรือ เขื่อน ถนน เป็นต้น

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมโยธา

วิศวกรรมโยธาเป็นสาขาที่ค่อนข้างกว้าง สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย เช่น วิศวกรรมออกแบบ วิศวกรก่อสร้าง วิศวกรโครงการ โดยทำงานได้ในหลายๆ องค์กร เช่น บริษัทวิศวกรที่ปรึกษา บริษัทผลิตภัณฑ์วัสดุ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งมีทั้งบริษัทใหญ่ เล็ก และบริษัทข้ามชาติ

 

5. สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เป็นสาขาวิชาที่มุ่งเน้นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การบำบัดน้ำเสีย การควบคุมมลพิษทางอากาศ การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย รวมถึงการผลิตน้ำประปาและการจัดการระบบสิ่งแวดล้อม เช่น ISO 14000 เป็นต้น

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

สามารถทำงานด้านการออกแบบและควบคุมระบบบำบัดมลพิษ ระบบประชาและระบบระบายน้ำ ตรวจวัดคุณภาพน้ำ อากาศ และดิน ที่ปรึกษาด้านระบบ ISO 14000

 

6. สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ

วิศวกรรมอุตสาหการ เป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง การปรับปรุงและการใช้งานระบบที่เกิดจากการรวมกันของคน ความรู้ ข่าวสารข้อมูล วัตถุดิบ เครื่องจักรและกระบวนการให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกมาได้ตามความต้องการของลูกค้าในระยะเวลาที่ต้องการด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมอุตสาหการ

สามารถทำงานเป็น ผู้จัดการโรงงาน วิศวกรระบบ วิศวกรโรงงาน วิศวกรโครงการ วิศวกรหน่วยงานของรัฐวิศวกรในสถาบันการเงินและอุตสาหกรรมบริการชั้นนำของประเทศ เป็นต้น

 

7. สาขาวิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ

ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มุ่งเน้นผลิตบุคลากรเพื่อเข้าทำงานในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ทั้งด้านการออกแบบ การซ่อมบำรุง การผลิต และการวิจัย

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศ

สามารถทำงานได้การออกแบบและสร้างอากาศยาน เครื่องยนต์เจ็ท ดาวเทียม ควบคุมการซ่อมบำรุงอากาศยานและชิ้นส่วนประกอบ ควบคุมวงโคจรและสถานีดาวเทียม การบริหารและการจัดการอุตสาหกรรมและธุรกิจการบินและอวกาศ

 

8. สาขาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ

วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ หมายถึง การบังคับน้ำ หรือ การควบคุมปริมาณและระดับน้ำไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน การจัดการ และการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดจนการจัดการคุณภาพน้ำ

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ

สามารถปฏิบัติงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การประชาภูมิภาค ฯลฯ ตลอดจนบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาทั้งด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ และด้านวิศวกรรมโยธา

 

9. สาขาวิศวกรรมวัสดุ

วิศวกรรมวัสดุ เป็นสาขาวิชาบูรณาการความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวัสดุต่างๆ โดยมุ่งเน้นการศึกษาความสัมพันธ์ของโครงสร้าง สมบัติ กระบวนการผลิต และการใช้งานของวัสดุเชิงวิศวกรรม เช่น โลหะ พอลิเมอร์ เซรามิก วัสดุประกอบ วัสดุนาโนวัสดุอิเล็กทรอนิกส์  เป็นต้น

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมวัสดุ

สามารถทำงานด้านการวิจัย พัฒนา และคิดค้นวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในหน่วยวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน ควบคุมและปรับปรุงกระบวนการผลิตในโรงงานต่างๆ

 

10. สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ ออกแบบและพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีความครอบคลุมทั้งด้านซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ การสื่อสารข้อมูล รวมไปถึงระบบฝังตัว อย่างเช่น  โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์อัตโนมัติส่วนใหญ่รอบๆ ตัวเรา

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

สามารถปฎิบัติงานด้านการ วิเคราะห์ระบบ วิจัยและพัฒนาระบบอัตโนมัติสำหรับงานสาขาอื่นๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *