6 แนวทางช่วยเสริมนักเรียนให้กล้าแสดงออกในชั้นเรียน

การกล้าแสดงออกนั้นเป็นอีกทักษะที่เด็กๆ รวมถึงคนทุกคนควรจะมี เพราะเป็นอีกสิ่งที่จะทำให้เราสามารถเปิดโอกาสและเพิ่มประสบการณ์ด้านต่างๆ ให้กับตัวเองได้ ซึ่งในยุคปัจจุบันที่โลกเปิดกว้าง และมีการแข่งขันทั้งในการเรียน การทำงานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นั้น การกล้าแสดงออกจึงเป็นอีกสิ่งที่ผู้ปกครองและครูควรปลูกฝังและช่วยสร้างให้กับเด็กเพื่อเป็นประโยชน์แก่พวกเขาในอนาคต

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ นักเรียนกับครู"

 

พฤติกรรมการกล้าแสดงออก หรือ Assertive Behavior นั้น หมายถึง ความสามารถในการแสดงออกด้านการคิด  การพูด การกระทำ  ซึ่งรวมถึงอารมณ์และความรู้สึก   รวมไปถึงการกล้าแสดงสิทธิ ความคิดเห็น ความเชื่อ ความรู้สึก หรือความต้องการของตนเอง ให้ผู้อื่นรับรู้ และกล้าที่จะปฏิเสธ ด้วยวิธีการที่ตรงไปตรงมา ทั้งนี้ ความสามารถกล้าแสดงออกดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยไม่ไปก้าวก่ายหรือล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่นด้วยเช่นกัน

 

แต่ก่อนจะกล่าวถึงวิธีที่จะทำให้นักเรียนกล้าแสดงออกนั้นเราจำเป็นต้องทราบถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกกันก่อน ซึ่งปัจจัยที่ว่านี้มีแบ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้กล้าแสดงออกและปัจจัยที่ทำให้เด็กไม่กล้าแสดงออก มีดังนี้คือ

 

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกล้าแสดงออกและการไม่กล้าแสดงออก

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกล้าแสดงออก

  1. เกิดจากภายใน

– เด็กมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ หน้าตาผิวพรรณที่สดใส

– จิตใจมั่นคง

– อารมณ์ดี สุขภาพจิตดี

  1. เกิดจากภายนอก

– เป็นผลกระทบที่ได้รับมาจากสิ่งแวดล้อมเช่น ครอบครัว  เพื่อน  คุณครู ฯลฯ

– ได้รับคำชมและการได้รับความไว้วางใจ

– ได้รับการยกย่อง และเป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่น

– ได้รับการสนับสนุนและการส่งเสริม ฯลฯ

 

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการไม่กล้าแสดงออก

 

  1. เกิดจากภายใน

– เด็กมีร่างกายไม่สมประกอบ พิการ รูปร่างหน้าตาที่ไม่สมส่วน

– จิตใจไม่มั่นคง

– อารมณ์อ่อนไหว

 

  1. เกิดจากภายนอก

– เป็นผลกระทบที่ได้รับมาจากสิ่งแวดล้อมเช่น ครอบครัว  เพื่อน  คุณครู  ฯลฯ

-ได้รับคำตำหนิ

– การถูกล้อเลียนและการถูกหัวเราะเยาะเย้ย

– การถูกดุว่า และการลงโทษ

– การถูกข่มขู่ให้กลัว ฯลฯ

 

ซึ่งปัจจัยที่เป็นปัจจัยหลักในพฤติกรรมการแสดงออกของเด็กนั้นด่านแรกมาจากการเลี้ยงดูในครอบครัว หากครอบครัวมีการเลี้ยงดูที่เปิดโอกาสในการแสดงออกให้แก่เด็ก ก็จะส่งผลอย่างมากในการกล้าแสดงออกของเด็ก

 

ส่วนด่านที่สองที่สำคัญเช่นกันก็คือครูผู้สอน เพราะสังคมที่เด็กต้องเจอนอกบ้าน ก็คือ โรงเรียน ดังนั้น สถาบันการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาอย่างครู จึงเป็นบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กกล้าแสดงออกอย่างถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้นวันนี้ทางเว็บไซต์ eduzones จึงมี 6 แนวทาง สำหรับการส่งเสริมให้เด็กมีความกล้าแสดงออกในห้องเรียนมาฝากกันค่ะ

 

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ นักเรียนกับครู"

 

  1. สร้างแบบอย่างที่ดี

 

ตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมของ อัลเบิร์ต แบนดูรา นักจิตวิทยาชาวแคนาดา เชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นเกิดจากการสังเกตผ่านตัวแบบ ซึ่งถ้าเป็นไปตามทฤษฎี คุณครูควรสร้างรูปแบบห้องเรียนให้เด็กๆ ได้มีโอกาสแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น เปิดโอกาสให้เด็กได้มีช่วงเวลาเล่าถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่พวกเขาพบเจอ หรือให้นำเสนองานต่างๆ ในรูปแบบที่เขาคิดขึ้นมาเอง วิธีการนี้จะทำให้เด็กที่มีความกล้าแสดงออกอยู่แล้วได้มีพื้นที่ในการแสดงออก และยังกลายเป็นแบบอย่างให้กับเด็กคนอื่นๆ ในชั้นเรียนเดียวกันได้อีกด้วย

 

 

  1. ไม่เร่งไม่บังคับ

 

วิธีที่ครูและนักเรียนเองมักจะชินคือวิธีที่ครูมักให้เด็กออกมานำเสนออภิปราย หรือทำกิจกรรมหน้าชั้นเรียนในเรื่องต่างๆ โดยการเรียกตามโต๊ะ เลขที่ ชื่อหรือสุ่ม ซึ่งวิธีนี้อาจไม่ใช่วิธีที่ดีสำหรับการส่งเสริมให้เด็กมีความกล้าแสดงออก เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนที่พร้อมสำหรับการสุ่ม ดังนั้นการให้เด็กต้องออกไปทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อมจะทำให้เด็กกลัวกับต้องแสดงออก หรือการต้องออกไปทำกิจกรรมหน้าชั่นเรียนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นครูควรให้เวลากับเด็กในการเตรียมตัว และเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกลำดับเอง เพราะในห้องเรียนเรามีทั้งคนที่กล้าและไม่กล้าแสดงออก เปิดโอกาสให้เด็กที่กล้าแสดงออกหรืออยากนำเสนอก่อนได้มีโอกาสนำเสนอก่อนและค่อยวนกลับมาที่เด็กที่เราต้องการส่งเสริม จะเป็นแนวทางในการส่งเสริมความกล้าแสดงออกแก่เด็กที่ดีกว่า

 

 

  1. คำนึงถึงความชอบและความสนใจ

 

ความกล้าแสดงออกนั้น เป็นผลพวงจากสิ่งที่เรียกว่า ความเชื่อมั่นในตนเอง (Self Confidence) ซึ่งความเชื่อมั่นในตัวเองนี้เป็นพลังอย่างหนึ่งที่ที่ช่วยให้เด็กกล้าตัดสินใจและทำกิจกรรมต่างๆ  เพราะการต้องนำเสนอเรื่องที่ตัวเองไม่รู้หรือไม่ถนัดก็อาจทำให้พวกเขาเกิดความกังวลและทำออกมาด้วยความไม่มั่นใจ การที่ให้เด็กออกไปพูดกับเพื่อนหน้าชั้นเรียนในเรื่องบางเรื่องที่พวกเขาไม่ชอบหรือไม่ถนัดนั้น จะกลายเป็นการบั่นทอนความกล้าและความมั่นใจของเขามากกว่าการส่งเสริมความมั่นใจ ดังนั้นในฐานะครูผู้สอน ก่อนที่จะให้เด็กออกไปเผชิญความกล้า ก็ควรเช็กว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่พวกเขารู้มากพอ หรือมีความชอบและความถนัดหรือไม่ และการที่เด็กได้พูดหรือแสดงออกในสิ่งที่เขาถนัดและสนใจก็จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของเขาอีกด้วย

 

 

 

  1. ดูและรับฟังอย่างตั้งใจ

 

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการทำให้พฤติกรรมการแสดงออกของเด็กเป็นไปในทิศทางที่ดีได้มากอีกทางหนึ่งก็คือ คือ การทำให้เด็กรับรู้ว่ามีคนสนใจในสิ่งที่เขากำลังทำ เช่นในเวลาที่เด็กออกมานำเสนอคุณครูควรหมั่นสบตาและพยักหน้ารับ เพื่อให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขากำลังสื่อสารนั้นมีคนสนใจอยู่เป็นต้น

 

 

  1. ให้กำลังใจ

 

การให้กำลังใจถือเป็นการเสริมแรงที่ถูกนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้มาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งถ้าเราต้องการให้เด็กมีพฤติกรรมกล้าแสดงออก เราก็ควรให้ความสำคัญกับการแสดงออกที่เหมาะสมของเขา โดยการชมเชยในสิ่งที่เขาได้กระทำ เพราะการที่เด็กได้รับรู้ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำนั้นน่าชื่นชมและน่าสนใจ เท่านี้ก็สามารถเพิ่มความมั่นและการกล้าแสดงออกให้พวกเขาได้มากขึ้นแล้ว

 

 

  1. เปิดโอกาส

 

หลังจากที่เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เด็กคนหนึ่ง มีความกล้าในตัวเองขึ้นมาได้แล้ว การจะรักษาพฤติกรรมนี้ไว้ก็คือ การสร้างกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้แสดงออกบ่อยๆ เช่น การให้ออกมาร้องเพลง การอภิปรายหน้าชั้นเรียน การแสดงความคิดเห็นในห้องเรียน หรือการแสดงละคร ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้พฤติกรรมการกล้าแสดงออกของเด็กมีความคงทนมากขึ้น ช่วยลดอาการประหม่า และเพิ่มพูนความมั่นใจ ซึ่งทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้นั่นเอง

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ นักเรียนกับครู"

 

การส่งเสริมให้นักเรียนจะกล้าแสดงออกในชั้นเรียนนั้น  เมื่อครูได้พัฒนาพวกเขาจากการฝึกฝนให้เคยชิน ทั้งในด้านการกระทำต่าง ๆ หรือการพูดภายในชั้นเรียนได้สำเร็จแล้วนั้น พฤติกรรมเหล่านี้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นักเรียนจะกล้าแสดงออกมากขึ้นกับสังคมภายนอก หรือสังคมที่กว้างขึ้นกว่าในห้องเรียน และนอกจากการฝึกฝนด้วยการปฏิบัติแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้เด็กกล้าแสดงออกได้ก็ควรการเสริมความมั่นใจด้วยปัจจัยภายในที่มีอยู่ในตัวของตนเอง ทั้งความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ เพราะพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กกล้าแสดงออกนั้นคือความมั่นใจในตัวเอง เห็นคุณค่าและความสามารถของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ทั้งครอบครัวและครูต้อวช่วยกันปลูกฝังและผลักดันให้แก่เด็กๆ มากพอๆ กับการฝึกฝนด้านพฤติกรรมด้วยเช่นกันค่ะ

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

: http://www.rtc.ac.th/www_km/03/0317/032_1-2555.pdf

: https://www.trueplookpanya.com/blog/content/67998/-teaartedu-teaart-teaarttea-

https://sites.google.com/site/madukhnmhwan/ma-du-kar-la-len

 

ขอบคุณรูปภาพจาก

: https://serwisy.gazetaprawna.pl/edukacja/artykuly/641789,najwieksza-obawa-przed-poslaniem-dziecka-do-szkoly-przepelnione-klasy.html

: https://www.freepik.com/

: https://mamopracuj.pl/wiecej-szkoly-krotsze-wakacje-kalendarz-roku-szkolnego-20162017/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *