มจพ.เน้นผลิตบัณฑิตวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานตอบอุตสาหกรรมโจทย์ไทยแลนด์ 4.0

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย การบริการวิชาการและการเรียนการสอนเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มีความมุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงนโยบายภาครัฐ ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และองค์ความรู้ทางวิชาการเข้าด้วยกันเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค 4.0 ตลอดเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับผลงานทางวิชาการที่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้ ก่อให้เกิดประโยชน์จริงแก่เศรษฐกิจและสังคม หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นสาขาที่เปิดการเรียนการสอนเป็นปีที่ 6 โดยเน้นการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและการลงมือภาคปฏิบัติจริง มหาวิทยาลัยฯ ได้ลงทุนการพัฒนาบุคลากร ครุภัณฑ์ต่างๆ จำนวนมาก ภายใต้ความร่วมมือช่วยเหลือทางวิชาการจากหน่วยงานภายนอกอย่างต่อเนื่อง โดยมหาวิทยาลัยเชื่อว่า อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติก จะเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่จะมีผลกระทบต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมหาศาล
ล่าสุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานของ ร่วมกับบริษัท Thai Aerospace Industries จำกัด จัดงานเสวนาหัวข้อ “CAREER PATH ของวิศวกรซ่อมบำรุงอากาศยาน” ภายใต้โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ประเภท Non-Degree โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่ออนำเสนอกิจกรรมการพัฒนานักศึกษา และความร่วมมือของสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานกับหน่วยงานภายนอก รวมถึงให้องค์ความรู้ด้านเส้นทางอาชีพของวิศวกรซ่อมบำรุงอากาศยานแก่นักเรียน นักศึกษาที่สนใจศึกษาต่อในวิชาชีพดังกล่าว สร้างความเข้าใจในกฎระเบียบของประเทศไทยและนานาชาติในการก้าวสู้วิศวกรซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่สำคัญเปิดโอกาสช่องทางในการทำงานทั้งในและต่างประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือมีโอกาสจัดงานสัมมนาหัวข้อ “CAREER PATH ของวิศวกรซ่อมบำรุงอากาศยาน” ภายใต้โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ประเภท Non-Degree โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กิจกรรมครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ให้แก่ผู้สนใจ โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา ที่สนใจจะศึกษาต่อในเส้นทางอาชีพของวิศวกรซ่อมบำรุงอากาศยาน มุ่งสร้างผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ไทยแลนด์4.0 ที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยฯ ได้มีส่วนผลิตบัณฑิตที่เป็นพันธุ์ใหม่จริงจัง เพราะ เป็นครั้งแรกที่นักศึกษาได้รับ Certificate จาก Singapore Airlines Engineering Company Training Academy และ EASA ซึ่งมีส่วนสามารถนำไปประกอบวิชาชีพจริงได้ทั่วโลกตามมาตรฐานสากล และมหาวิทยาลัยฯ จะยังคงพัฒนาความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ Thai Aerospace Industries เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนให้ทั้งคณาจารย์ นักศึกษา และอุตสาหกรรมไทย”
รองศาสตราจารย์ ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ คณบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า “หลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยาน เปิดการเรียนการสอนมาทั้งสิ้น 6 ปี โดยก่อนหน้านี้เราได้รับข้อมูลว่าจะมีการส่งเสริมหลักสูตรเกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงอากาศยาน มจพ.จึงดำเนินการวางโครงสร้างหลักสูตรดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันนี้มีเด็กสำเร็จหลักสูตรออกไปทำงานแล้ว 2 รุ่น แต่เมื่อมาเปรียบเทียบบัณฑิตที่จบการศึกษากับความต้องการในอุตสาหกรรมด้านนี้ยังถือว่าน้อยมาก เพราะในส่วนของความต้องการภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ขณะนี้มีความต้องการมากถึง 3 แสนคน และในส่วนอู่ตะเภาในปีนี้ต้องการมากถึง 3 หมื่นคน ส่วนหนึ่งเพราะจำนวนเครื่องบินเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และเครื่องยนต์ก็เพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่า ดังนั้นเวลายังเปิดกว้างรับ นักเรียนผู้สนใจศึกษาอีกจำนวนมากด้วยเช่นกัน ส่วนร่างหลักสูตรการเรียนการสอนดังกล่าวนี้ยืนยันว่า ถูกต้องไปตามกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ของนานาชาติ ทั้งของ เอฟเอเอ หรือ องค์การบริหารการบินแห่งชาติ ( Federal Aviation Administration – FAA) และ EASAหรือ องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป ( EASA ) ทั้งนี้เพื่อเวลานักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา จะได้เข้าสู่อุตสาหกรรมด้านการซ่อมอากาศยานได้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ อีกทั้งทุกคนจะได้รับความรู้ทางภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกด้าน คณะอาจารย์ที่มาให้ความรู้ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) นอกจากนี้ยังส่งอาจารย์ไปอบรมความรู้เพิ่มเติมที่ประเทศเยอรมัน และทุกคนได้รับlicense EASA – 147 และเพื่อเพิ่มความเข้มข้นเรายังได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากการบินไทยมาให้ความรู้ครอบคลุมทุกด้านอีกด้วย เพื่อให้เด็กที่จบการศึกษาได้ความรู้ความสามารถทุกด้าน ในทันทีที่เครื่องบินจอดสนิท ทุกคนสามารถต้องตรวจสอบทุกจุดเพื่อความปลอดภัยทางด้านการบิน ทั้งนี้เมื่อเด็กที่จบการศึกษาหลักสูตรนี้ นอกจากจะได้ทำงานที่มั่นคงทางวิชาชีพแล้ว ยังมี licenseในระดับหนึ่งติดตัวไปด้วย ทั้งยังนำความรู้ความสามารถไปศึกษาต่อในด้านอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจอื่นๆ ในระดับสูงต่อไปได้ หรือจะเดินเส้นทางนี้ และเพิ่มlicenseสะสมในชั้นสูงๆ ต่อไป อาทิเช่น เมื่อมีความรู้ซ่อมบำรุงเครื่องแอร์บัส 320 ได้ และเก็บlicense เพิ่มจนสามารถซ่อมเครื่องแอร์บัส 350 หรือ แอร์บัส 380 ได้ เหมือนการยกระดับความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยาน”
ดร.ธนกฤต อัศวลงกรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ จำกัด เปิดเผยว่า “สำหรับ Thai Aerospace Industries รู้สึกยินดีกับทางมหาวิทยาลัยฯ กับงานสัมมนาในครั้งนี้ สำหรับเรานั้นมาตรฐานสากลระดับโลกอย่าง EASA นั้นถือเป็นประตูสำคัญในการเปิดให้ประเทศไทยสู่อุตสาหกรรมการบินของโลก การร่วมมือระหว่างเรากับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ถือเป็นก้าวเดินที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในวงการศึกษาและพัฒนาบุคคลากรเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมการบินทั้งในและต่างประเทศ ด้วยมาตรฐานสากลจาก EASA ในด้านของมาตรฐานวิชาชีพช่างซ่อมอากาศยาน จะช่วยให้อุตสาหกรรมการบินในไทยสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดสู่แถวหน้าของอุตสาหกรรมการบินโลกในเวลาไม่นาน”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *