ทฤษฎีหมวก 6 ใบกับการประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาผู้เรียน

ในการเรียนการสอนนั้นมีองค์ความรู้ละทฤษฎีมากมายที่ถูกนำมาใช้ในการนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งหนึ่งในทฤษฎีที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศนั่นก็คือ “ทฤษฎีหมวก 6 ใบ” ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ช่วยส่งเสริมทักษะกระบวนการคิดและการตัดสินใจของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทฤษฎีหมวก 6 ใบหรือ Six Thinking Hat เกิดจาก ดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน ผู้ริเริ่มแนวความคิดเป็นวิธีคิดที่มีมุมมองแบบ “รอบด้าน” คือเน้นการคิดที่ครอบคลุมเพื่อไม่ให้เกิดการตกหล่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นการจัดระเบียบการคิด ทำให้การคิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้หมวก 6 ใบเป็นตัวนำเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ตามมุมมองต่างๆ ของปัญหา

 

โดยหมวกแต่ละใบจะแทนพลังของการคิดจะมุ่งเน้นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเป็นการเฉพาะ ทำให้เมื่อผู้ศึกษาเลือกสวมหมวกใบไหนก็ย่อมมีทิศทางและแนวทางในการคิดที่แตกต่างกันไป โดย

 

 

หมวกสีขาว คือ การตระตุ้นให้คิดในการตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริง

เป็นการให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับผลการศึกษาวิจัยหรือตัวเลขต่าง ๆ ดังนั้น การที่ผู้คิดสวมหมวกสีขาวนั่นหมายความว่าผู้คิดกำลังต้องการข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นกลางโดยปราศจากความรู้สึก ทัศนคติและความคิดเห็นต่าง ๆ

 

 

หมวกสีแดง คือ การตระตุ้นให้คิดในการตั้งคำถามเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก

รวมไปถึงสัญชาตญาณและลางสังหรณ์ต่าง ๆ  ดังนั้นเมื่อสวมหมวกใบนี้แล้ว จะเป็นการกำหนดให้ผู้คิดสามารถแสดงความรู้สึกกับเรื่องดังกล่าว ว่าชอบหรือไม่ชอบ ดีหรือไม่ดี โดยไม่ต้องคำนึงถึงเหตุผลต่าง ๆ

 

 

หมวกสีเขียว คือ การตระตุ้นให้คิดในการตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา

หมวกสีเขียวเป็นตัวแทนของความเจริญงอกงาม ความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบ โดยใช้ประสบการณ์ของตัวเอง  ดังนั้นผู้คิดที่สวมหมวกสีนี้ จะเป็นผู้คิดที่ดำเนินความคิดต่อเรื่องราวต่าง ๆ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

 

 

หมวกสีเหลือง คือ การตระตุ้นให้คิดในการตั้งคำถามเกี่ยวกับจุดเด่น จุดเน้น หรือจุดที่สำคัญ

เป็นการคิดถึงจุดเด่น โอกาส สิ่งที่เป็นประโยชน์ ในเชิงบวก ที่ผสมผสานความสงสัยใคร่รู้ ความสุข และความต้องการที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น อย่างมีความหวัง ดังนั้นผู้คิดที่สวมหมวกสีนี้ นั่นหมายความว่าผู้คิดต้องการข้อมูลที่เป็นความหวังในแง่ดี ที่เป็นจุดเด่นและโอกาสที่สามารถนำมาพัฒนาได้

 

 

หมวกสีดำ คือ การตระตุ้นให้คิดในการตั้งคำถามเกี่ยวกับการระบุปัญหา การหาสาเหตุของปัญหา

เป็นการบอกถึงสิ่งที่ไม่เหมาะสม สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ จุดด้อย อุปสรรคและข้อจำกัดต่าง ๆ โดยมีเหตุผลประกอบ ดังนั้น เมื่อผู้คิดใส่หมวกสีดำนั่นหมายความว่าผู้คิดจำเป็นต้องชี้ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดไม่สอดคล้องและสิ่งใดใช้ไม่ได้ หรือเป็นปัญหา เพื่อช่วยให้การปฏิบัติตามแนวคิดไม่เกิดควาสูญเปล่าหรือสูญเสียโดยไม่จำเป็น

 

 

หมวกสีฟ้า คือ การสรุปความคิดทั้งหมดให้มองเห็นภาพรวมของการคิด

เป็นการควบคุมและการบริหารกระบวนการคิดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของความคิดรวบยอด ข้อสรุป การยุติข้อขัดแย้ง การมองเห็นภาพและการดำเนินการที่มีขั้นตอนเป็นระบบ ดังนั้น เมื่อผู้คิดใช้หมวกสีฟ้านั่นหมายความว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน  หมวกสีน้ำเงินจึงมีบทบาทของหัวหน้า ทำหน้าที่ควบคุมบทบาทของสมาชิก ควบคุมการดำเนินการประชุม การอภิปราย รวมถึงควบคุมการใช้กระบวนการคิด การสรุปผล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

 

 

โดยทฤษฎีหมวก 6 ใบนี้ นอกจากจะมีการนำไปใช้ในองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปใช้แล้ว หลายประเทศทั่วโลกยังได้นำการคิดแบบหมวก 6 ใบ ไปฝึกทักษะการคิดของนักเรียนในโรงเรียน เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย อิสราเอล สวีเวน และสิงคโปร์ เป็นต้น ในบางประเทศ เช่น เวเนซูเอลา กฎหมายการศึกษาได้กำหนดให้ครูทุกคนต้องผ่านการฝึกหลักสูตรการคิดแบบหมวก 6 ใบ ก่อนจึงเข้าเป็นครูได้

 

 

 

สำหรับการนำทฤษฎีหมวก 6 ใบมาใช้ในการเรียนการสอนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสิรมทั้งการคิด วิเคราะห์และตัดสินใจแก่ผู้เรียนได้มากมาย อย่างเช่น

การนำทฤษฎีหมวก 6 ใบมาส่งเสริมการคิดของนักเรียน

การสร้าง Main Map

คือ นำทฤษฎีหมวก 6 ใบ มาประยุกต์ใช้เป็นแกนในการคิด Main Map เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ได้ครบถ้วน เช่น ในการเขียน Main Map เรื่องการเพาะปลูก สีน้ำเงินคือการกำหนดเป้าหมายของเรื่องว่าเราจะกล่าวถึงเรื่องการเพาะปลูกแบบใดและในลักษณะใด สีขาวคือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเพาะปลูก  สีแดงคือ ความรู้สึกอยากปลูกอะไรบ้าง สีดำคือ ข้อจำกัดและความเสี่ยงต่างๆ ในการปลูกพืช พืชใดปลูกได้ไม่ได้ สีเหลือง บอกถึงประโยชน์ของการเพาะปลูก สีเขียว แนวทางการเพาะปลูกที่สร้างสรรค์ต่างๆ เป็นต้น

การใช้บทบาทสมมุติ

ให้ผู้สอนลองสุ่มหรือเลือกให้นักเรียนแต่ละคนสวมหมวกด้วยสีแตกต่างกัน แล้วลองให้พวกขาแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่กำหนดนั้นตามสีของหมวก จากนั้นลองให้นักเรียนสลับหมวกกัน วิธีจะช่วยให้นักเรียนมีประสบการณ์ในการใช้กลไกความคิดที่แตกต่างๆ กัน ตามสีของหมวก ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียนให้แตกฉานและหลากหลายมากยิ่งขึ้น

 

การจัดลำดับความคิด

จากหลักของหมวกสีฟ้า เป็นการวางแผน และการจัดลำดับขั้นตอน โดยการที่ผู้คิดจะต้องมุ่งสังเกตกระบวนการคิดของตนโดยทั่วๆ ไป การคิดแบบหมวกสีฟ้าอาจครอบคลุม ประเด็นต่างๆ อาทิ ถึงตอนนี้เรากำลังคิดแบบใดอยู่ และคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว อะไรคือข้อสรุปที่ได้จากการทบทวนหลายรูปแบบ (หลายหมวกความคิด) และมีข้อน่าสังเกตหรือข้อท้วงติงใดบ้าง (เช่น กำลังหลงประเด็นอยู่หรือไม่ หรือใช้ความคิดแบบหมวกสีแดง มากไปหรือไม่)

โดยผู้สอนอาจแนะนำนักเรียนให้ตั้งข้อสังเกตว่า พวกเขากำลังใช้เวลามากเกินกับการโต้เถียงในจุดใดจุดหนึ่งหรือไม่ อย่างเช่นในการระดมความคิดในกลุ่ม นักเรียนได้โต้เถียงกันจนหลงประเด็นหรือไม่ หรือจนขณะนี้นักเรียนอภิปรายกันจนถึงแต่ทางเลือกเดียว นักเรียนควรพิจารณากันถึงทางเลือกอื่นๆ ด้วยหรือไม่ เป็นต้น

 

การนำทฤษฎีหมวก 6 ใบมาส่งเสริมการตั้งคำถามของนักเรียน

การคิดและตั้งคำถาม

โดยการนำหลักการของหมวกสีขาว คือการตระตุ้นให้คิดในการตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงมาช่วยส่งเสริมในการตั้งคำถามในชั้นเรียน โดยผู้สอนช่วยตั้งประเด็นคำถาม และมุ่งหาข้อมูลจริงที่ปรากฏในเนื้อหา และทั้งนี้จะต้องระวังมิให้ข้อคิดเห็นของตนปนเข้าไปในคำถาม

 

โดยครูอาจถามว่าข้อมูลหลักๆ ในข่าว/หัวข้อนี้มีอะไรบ้าง ให้นักเรียนใช้การคิดแบบหมวกสีขาว นักเรียนต้องตอบตามข้อมูลที่ปรากฏเช่น “ตำรวจทางหลวงจับพ่อค้ายาบ้า ได้ยาบ้าจำนวน 25,8700 เม็ด หรือ พ่อค้ายาบ้ารายใหญ่ หรือ ได้ยาบ้าจำนวนมหาศาล ถึง 25,800 เม็ด” จะเป็นข้อความที่เกินเลยความเป็นจริง เพราะบางข้อความ ที่ปรากฏคือ “รายใหญ่” และ “มหาศาล” นั้น เป็นความคิดเห็นเพิ่มเติมส่วนตัวไม่มีในเนื้อข่าว ผิดจุดประสงค์ของคิดแบบหมวกสีขาว ซึ่งครูต้องชี้แจงให้นักเรียนทราบถึงความแตกต่างดังกล่าว

 

 การนำทฤษฎีหมวก 6 ใบมาส่งเสริมการแสดงความคิดเห็นของนักเรียน

การแสดงความคิดและความรู้สึก

ผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความรู้สึกภายในออกมา เพราะอารมณ์ความรู้สึกเป็นส่วนสำคัญยิ่งของกระบวนการคิด และแม้จะพยายามคิดโดยปราศจากอารมณ์ หรืออคติแต่สุดท้ายทางเลือกหรือการตัดสินใจที่ได้ทักขึ้นอยู่กับอารมณ์ของคนอยู่มาก ดังนั้นจุดมุ่งหมาย ของการคิดแบบหมวกสีแดง ก็เพื่อเปิดโอกาสให้คนแต่ละคนได้เผยอารมณ์ความรู้สึกและข้อมูลเหตุผลมาปะปนกันจนเกิดความสับสนในการคิด

 

โดยเทียบกับการใช้หัวข้อเนื้อหาข่างพ่อค้ายา ถึงตอนนี้นักเรียนจะแสดงความคิดในบทบาทสวมหมวกสีแดง โดยครูอาจถามนำนักเรียนว่า นักเรียนรู้สึกอย่างไรต่อข่าวที่อ่าน เมื่อเด็กสวม หมวกแสดงความคิดสีแดงเด็กอาจใส่อารมณ์พูดออกมาว่า “พ่อค้าพวกนี้ไม่กลัวบาป” “พ่อค้าพวกนี้ใจร้ายฆ่าคนทั้งเป็น” หรือ “น่าจะยิงเป้าเสียให้รู้แล้วรู้รอด” เมื่อเด็กแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาแล้ว ครูจะได้สังเกตเห็นและชี้ให้เด็กมองเห็นว่านี่คืออารมณ์ที่มีอยู่ ในตัวมนุษย์ที่มักมีผลต่อกระบวนการคิดของคนเรา เมื่อเด็กรู้เท่าทันก็จะไม่นำอารมณ์ความรู้สึกไปปะปนกับข้อมูลความจริงส่วนอื่นนั่นเอง

 

 

การคิดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นกลไกของสมองอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นกลไกที่ดำเนินอยู่ตลอดเวลาและเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์  ซึ่งกลไกนี้มีผลต่อการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ การแปลความหมาย การสรุป การสร้างแนวความคิดรวบยอด การจำแนกความแตกต่าง การจัดกลุ่มและการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้รับ ตลอดจนนำไปสู่การประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์นั้น ๆ ได้

ซึ่งการคิดนั้นเป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้ฝึกฝน และพัฒนาได้ โดยการใช้วิธีคิดแบบสวมหมวกคิด 6 ใบ จะช่วยให้ผู้คิดสามารถคิดอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนในการคิดอย่างสร้างสรรค์ และสามารถแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ดังนั้นการที่ผู้สอนสามารถนำทฤษฎีนี้มาใช้ก็จะเป็นการช่วยพัฒนาหลักการคิดและตัดสินใจของผู้เรียนได้ดีมากขึ้นด้วยเช่นกันค่ะ

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

: http://www.trueplookpanya.com/education/content/72770/-teaartedu-teaart-?fbclid=IwAR1RdYdbKiQnnkhb50iipk-DvVHCSacn8_bZqN92mWf8SPUybiTFRB-bX9s

: http://6sixthinkinghats.blogspot.com/2012/01/6-six-thinking-hats.html

: https://www.tistr.or.th/tistrblog/?p=754

 

ขอบคุณรูปภาพจาก

: https://medium.com/@42courses/six-thinking-hats-10d0a0e9f31f

: https://studentreasures.com/blog/imaginative-ideas-for-how-to-teach-poetry-to-elementary-students/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *