มช. พัฒนา Application พยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาแอพลิเคชัน “Thai Air Quality” สามารถพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้าสูงสุดได้ 3 วัน ครอบคลุมทั่วประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่าบางส่วน ใช้เป็นข้อมูลช่วยในการตัดสินใจ เตรียมตัว เตรียมการป้องกันล่วงหน้า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชาคริต โชติอมรศักดิ์ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และ คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวถึง การสร้าง Application พยากรณ์คุณภาพอากาศ Thai Air Quality ว่า การตรวจวัดข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพนับว่ามีความสำคัญมากในการวางแผนป้องกัน แก้ไข และควบคุมปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อย่างไรก็ตามจำนวนสถานีตรวจวัดที่มีอยู่ในปัจจุบันถือว่ายังมีจำกัดและเพิ่งเริ่มมีการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปริมาณความเข้มขั้นของ PM2.5 ถือว่ามีความเสี่ยงอย่างมากต่อสุขภาพของประชนโดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ  การติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบถาวรและหน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนที่มีข้อจำกัดในด้านการลงทุนและดำเนินการสูงและต้องใช้เวลาในการดำเนินการ อีกทั้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดแบบถาวรและแบบเคลื่อนที่สามารถประเมินคุณภาพอากาศได้เฉพาะจุดที่ตั้งสถานีและรายงานคุณภาพอากาศในเวลาปัจจุบันซึ่งทำให้เป็นข้อจำกัดในการแจ้งเตือนประชาชน  จากปัญหาและข้อจำกัดดังกล่าว สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยในการพัฒนาแบบจำลองควบคู่อุตุนิยมวิทยา-เคมี WRF-Chem เพื่อให้เป็นระบบแบบจำลองการพยากรณ์คุณภาพอากาศแบบเวลาจริง (real-time forecast) ล่วงหน้า 3 วัน ซึ่งเป็นวิธีที่ประหยัดผลการพยากรณ์สามารถใช้เป็นข้อมูลในการประเมินสภาพปัญหาในพื้นที่ซึ่งไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศและสามารถใช้ในการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควันและเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยในการตัดสินใจแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ ผลการพยากรณ์คุณภาพอากาศถูกนำเสนอผ่านแอพพลิเคชั่น Thai Air Quality ทั้งบนระบบ iOS  และ Android ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และผ่านทางเว็บไซต์ของศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม https://rcces.soc.cmu.ac.th/airquality และ Facebook Page ตาม QR code ข่างล่าง ซึ่งผลการพยากรณ์ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอื่น ๆ  ประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนามและพม่าบางส่วน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาและช่วยกันหรือให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *