7 สาขาวิศวกรรม ที่เรียนจบแล้วมีงานทำแน่นอน

 

สำหรับน้องๆ ที่สนใจอยากจะเรียนต่อด้านวิศวกรรม และมีความฝันอยากจะเป็น “วิศวกร” และกำลังสับสนว่าจะเลือกสาขาวิศวกรรมอะไรที่เหมาะกับตัวเอง ทาง “สภาวิศวกร” ได้หลักสูตรวิศวกรรมที่เรียนจบแล้วมี “ใบ ก.ว.” หรือ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” เป็นที่ต้องการของตลาด เรียนจบแล้วมีงานรองรับแน่นอน รวมถึงมีเงินเดือนสตาร์ทที่สูงทั้ง 7 สาขามาฝากกันค่ะ

 

 

 วิศวกรรมโยธา (Civil Engineering)

เป็นศาสตร์สาขาหนึ่งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการออกแบบ การก่อสร้าง และการบำรุงรักษา สิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์เป็นผู้ที่สร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น การสร้างตึก อาคาร สะพาน ถนน ระบบขนส่ง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ตลอดจนการทำรังวัดในงานสำรวจและแผนที่ รวมไปถึงการวิเคราะห์ทางธรณีและชลศาสตร์ นอกจากนี้ยังจะต้องเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการงานก่อสร้างอย่างถูกวิธีให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดอีกด้วย

สำหรับอาชีพที่สามารถทำได้ เช่น วิศวกรก่อสร้าง วิศวกรด้านผลิตภัณฑ์วัสดุ วิศวกรสำรวจเส้นทางในการสร้างถนนหรือระบบขนส่ง วิศวกรที่ปรึกษา ประจำบริษัทต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ วิศวกรประจำบริษัทรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น

 

 

วิศวกรรมเหมืองแร่ (Mining Engineering)

สำหรับคนที่เกี่ยวกับแร่ธาตุและการขุดเจาะ สาขานี้ถือว่าเหมาะอย่างมาก เพราะวิศวกรรมเหมืองแร่ เป็นสาขาวิชาที่มีการประยุกต์เอาความรู้ทางด้านวิศวกรรมหลาย ๆ อย่างเข้ามาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อค้นหา ขุดแยก และจัดการกับแร่ธาตุจากแหล่งธรรมชาติ สาขานี้น้องๆ จะได้รับรู้ถึงความสำคัญของแร่ในหลากหลายมิติ ทั้งเชิงอุตสาหกรรมก่อสร้าง พลังงาน เชื้อเพลิง และเครื่องประดับ พร้อมลงมือปฏิบัติจริง โดยแยกเป็นสาขาต่างๆ เช่น การแต่งแร่ การทำเหมืองเปิด การทำเหมืองใต้ดิน การจัดการสิ่งแวดล้อมในงานเหมืองแร่ และวิศวกรรมธรณี เป็นต้น

โดยน้องๆ สามารถต่อยอดอาชีพได้ในหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้ กรมทรัพยากรธรณี บริษัทเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ โรงงานปูนซีเมนต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น

 

 

วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering)

สาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับการออกแบบชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักร  การศึกษาการเคลื่อนไหวของชิ้นส่วนเครื่องจักร การถ่ายเทพลังงานความร้อน การวิเคราะห์การสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ หุ่นยนต์ พร้อมเปิดโอกาสให้ลงมือออกแบบ ผลิต และซ่อมบำรุงรักษาระบบเชิงกลด้วยตนเองทุกแขนง ซึ่งวิชาที่น้อง ๆ จะได้เรียนมีดังนี้ กลศาสตร์ พลศาสตร์ เมคคาทรอนิกส์ วัสดุวิศวกรรม การออกแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

สำหรับอาชีพที่สามารถทำได้ในอนาคต เช่น วิศวกรออกแบบชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ วิศวกรซ่อมบำรุงเครื่องจักรภายในโรงงาน วิศวกรควบคุมการผลิตและตรวจสอบคุณภาพ เป็นต้น

 

 

วิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering)

เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีและการประยุกต์ใช้ไฟฟ้า จะได้เรียนตั้งแต่วงจรไฟฟ้าตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน การวิเคราะห์-ออกแบบ-ผลิตระบบไฟฟ้าที่ใช้ตามครัวเรือน อาคารสำนักงาน และโรงงาน การควบคุมระบบการผลิตอัตโนมัติในโรงงาน การควบคุมวงจรไฟฟ้าในระบบการสื่อสารทุกรูปแบบ ทั้งดาวเทียม และอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อนำความรู้ทางด้านไฟฟ้ามาใช้ในการทำงานและใช้ในชีวิตประจำวัน

สำหรับเส้นทางสายอาชีพของอาชีพนี้ เช่น วิศวกรด้านไฟฟ้ากำลัง วิศวกรด้านโทรคมนาคม วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

 

 

วิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering)

ป็นวิศวกรรมศาสตร์สาขาที่เกี่ยวกับการออกแบบ พัฒนา วางแผน ควบคุม การวิจัยดำเนินงาน จัดการและประเมินผลระบบโดยรวมซึ่งครอบคลุมปัจจัยทุกๆ ด้านทั้ง บุคคล สารสนเทศ อุปกรณ์ พลังงาน วัสดุ รวมไปถึงการเงิน

โดยวิศวกรรมอุตสาหการเป็นงานทางด้านการประยุกต์ที่เกี่ยวกับการวิจัยดำเนินงาน ทรัพยากรต่างๆ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินงานและทรัพยากร เพื่อบรรลุจุดประสงค์การดำเนินงานตามทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้หลักการและวิธีการทางด้านการวิเคราะห์และสังเคราะห์ทางวิศวกรรมรวมถึงศาสตร์ต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ สถิติ ฟิสิกส์ การตลาด การบริหารการจัดการ สารสนเทศ เศรษฐศาสตร์ และ สังคมศาสตร์ จิตวิทยา เป็นต้น

ตัวอย่างอาชีพที่ทำได้ อาทิ ผู้จัดการโรงงาน วิศวกรวางระบบ วิศวกรในสถาบันการเงิน นักวิจัยในหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน เป็นต้น

 

 

วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering)

สำหรับน้องๆ ที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมสาขานี้ถือว่าเหมาะอย่างมาก  เป็นศาสตร์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และทางวิศวกรรมที่ผสมผสานเข้าด้วยกัน โดยสาขาเราจะได้เรียนรู้ตั้งแต่ประเภททรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงคุณภาพของของเสีย โดยรายวิชาที่จะได้เรียน เช่น เคมีของน้ำและน้ำเสีย การออกแบบระบบท่อระบายน้ำเสียและการสูบน้ำ มลพิษทางอากาศและการควบคุม รวมถึงการจัดการระบบสิ่งแวดล้อม ที่จะเข้ามาช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้มีความเหมาะสมกับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ มากที่สุด

สำหรับสาขาสิ่งแวดล้อมสามารถทำงานร่วมในหน่วยงานต่าง ๆ ได้ดังนี้ กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน การบริหารจัดการระบบมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

 

วิศวกรรมเคมี (Chemical ­Engineering)

เป็นสาขาวิชาที่ว่าด้วยการออกแบบและควบคุมการทำงานของกระบวนการทางเคมี รวมถึงหลักการของกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนส่วนผสม สถานะและลักษณะสมบัติของวัตถุดิบไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามความต้องการอย่างปลอดภัย ประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยวิชาที่ จะได้เรียน อาทิ เคมีพื้นฐาน กระบวนการทางวิศวกรรมเคมี เศรษฐศาสตร์จุลภาคเบื้องต้น การบำบัดของเสียจากอุตสาหกรรม เทคโนโลยีปิโตรเลียม เป็นต้น

ตัวอย่างอาชีพที่สามารถทำได้ อาทิ วิศวกรควบคุมกระบวนการผลิต วิศวกรความปลอดภัยกับงานสิ่งแวดล้อม วิศวกรออกแบบเครื่องมือ และอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และผู้ประกอบการธุรกิจ

 

 

ทั้ง 7 สาขาข้างต้น ยังพ่วงมากับ “ใบ ก.ว.” หรือ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” ซึ่งเป็นหมือนใบเบิกทางสู่โอกาสสำคัญในการทำงานด้านวิศวฯ ในรายได้ที่สูงขึ้น พร้อมสร้างความเชื่อมั่นด้านวิชาชีพแก่ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมได้มากขึ้นด้วย ปัจจุบัน “ประเทศไทย” มีวิศวกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ และถือใบ ก.ว. ในภาคอุตสาหกรรมเพียง 1.7 แสนคนเท่านั้น โดยเมื่อเทียบกับสัดส่วนของตลาดที่ต้องการอาชีพนี้นั้นถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ สำหรับคนที่สนใจจะมาประกอบอาชีพวิศวกรในทั้ง 7 สาขานี้

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

: https://www.thansettakij.com/content/418818

: https://campus.campus-star.com

 

ขอบคุณรูปภาพจาก

: https://www.unioncancun.mx/articulo/2017/08/30/educacion/ingenieros-quimicos-que-hacen

: https://www.unioncancun.mx/articulo/2017/08/30/educacion/ingenieros-quimicos-que-hacen

: https://www.faculdadearaguaia.edu.br/pos-graduacao-mba-pericia-auditoria-gestao-ambiental

: https://www.topuniversities.com

: https://worldscholarshipforum.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *