5 ทฤษฎีพัฒนากับการส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียน

หลังจากที่ทางเว็บไซต์ได้นำเสนอ 5 ทฤษฎี จาก 5 นักคิด เพื่อการนำมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนกันไปแล้ว วันนี้ทางเว็บไซต์ eduzones ก็ได้มีทฤษฎีที่สามารถนำมาส่งเสริมและใช้ในการพัฒนาผู้เรียนได้เช่นกันนั่นก็คือ “ทฤษฎีการพัฒนา”  วันนี้เราจึงได้นำทฤษฎีพัฒนาจาก 5 นักคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเหมาะสมให้แก่ผู้เรียนสำหรับครูผู้สอนทุกท่านมาฝากกันค่ะ

 

 

 

ทฤษฎีจิตสังคมของอีริกสัน

นักคิดคนแรกสำหรับทฤษฎีพัฒนา ได้แก่ อิริคสัน นักจิตวิเคราะห์ที่มีชื่อของอเมริกา  เป็นผู้วิเคราะห์เกี่ยวกับเด็กเป็นคนแรกในนครบอสตัน เขาเห็นว่าการจะทำความเข้าใจพฤติกรรมเด็ก จะต้องศึกษาจากการอบรมเลี้ยงดู สภาพสังคม และความเป็นอยู่ของเด็ก ปัญหาที่นำมาวิเคราะห์นั้นจะอธิบายเชื่อมโยงระหว่างจิตวิทยากับสังคมวิทยาใน รูปแบบของมนุษย์วิทยาซึ่งมีแนวความคิดว่ามนุษย์ต้องพึ่งสังคมและสังคมก็ต้องพึ่งมนุษย์มนุษย์มีวิวัฒนาการที่สลับซับซ้อนและผ่านขั้นตอนต่างๆ ของธรรมชาติหลายขั้นตอน

โดยอีริกสันได้ แบ่งพัฒนาการด้านจิตสังคมของบุคคลเป็น 8 ขั้น ตามช่วงอายุดังนี้

ขั้นที่ 1 ระยะทารก (Infancy period) อายุ 0-2 ปี  ในระยะขวบปีแรกทารกจะต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นในการดูแลเอาใจใส่ทุกด้าน ตลอดจนความรัก และสอนให้ทารกพบกับสิ่งเร้าใหม่ๆ

ขั้นที่ 2 วัยเริ่มต้น (Toddler period) อายุ 2-3 ปี  ขั้นนี้เด็กเริ่มเรียนรู้ที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง หากได้รับการสนับสนุนและกระตุ้นให้เด็กได้กระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองตามสมควร

ขั้นที่ 3 ระยะก่อนไปโรงเรียน (Preschool period) อายุ 3-6 ปี  เป็นระยะที่เด็กมีการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง มีความสัมพันธ์กับเพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบลองอะไรใหม่ๆ

ขั้นที่ 4 ระยะเข้าโรงเรียน (School period) อายุ 6-12 ปี  ระยะนี้เด็กเรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์ มีความคิดและพยายามทำกิจกรรมด้วยตัวเอง หากได้รับการสนับสนุนก็ย่อมทำให้เด็กมีการพัฒนาที่ดี

ขั้นที่ 5 ระยะวัยรุ่น (Adolescent period) อายุ 12-20 ปี  เป็นระยะที่เริ่มสนใจเรื่องเพศ เข้าไปผูกพันกับสังคมและต้องการตำแหน่งทางสังคม ความรู้สึกเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง

ขั้นที่ 6 ระยะต้นของวัยผู้ใหญ่ (Early adult period) อายุ 20-40 ระยะนี้จะเริ่มมีการนัดหมาย การแต่งงาน และชีวิตครอบครัว หรือทำงานกับผู้อื่นได้ หากสามารถบรรลุอัตลักษณ์ของตนเอง ก็จะสามารถสร้างและแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์อย่างสนิทสนมกับบุคคลอื่นได้

ขั้นที่ 7 ระยะผู้ใหญ่ (Adult period) อายุ 40-60 ปี เป็นระยะที่บุคคลหันมาสนใจกับโลกภายนอก ริเริ่มสร้างสรรค์งานต่างๆ เพื่อสังคม และคิดถึงผู้อื่น

ขั้นที่ 8 ระยะวัยสูงอายุ (Aging period) อายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป  วัยนี้เป็นวัยสุขุม รอบคอบ บุคคลจะยอมรับความเป็นจริงของชีวิต ระลึกถึงความทรงจำในอดีต ถ้าหากประสบความสำเร็จในอดีตก็จะรู้สึกไว้วางใจผู้อื่นและตนเอง และมีความมั่นคงทางจิตใจ

 

 

การนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอน

สำหรับการประยุกต์ใช้ทฤษฎีพัฒนาการทางจิต สังคมของอีริกสันนั้น แนวคิดนี้ส่งผลให้วงการศึกษาตื่นตัวอย่างน้อยที่สุด 2 เรื่องคือ สัมพันธภาพระหว่างบุคคลและการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการพัฒนาแต่ละช่วงวัยของผู้เรียน โดยครูสามารถนำขั้นพัฒนาการตาม 8 ระยะข้างต้น มาส่งเสริมนักเรียนในแต่ละช่วงวัย โดยในการจัดการเรียนการสอนครูควรให้จัดให้มีกิจกรรมให้เด็กได้แสดงออกทั้งในด้านของความคิด ด้านสติปัญญา ด้านความสามารถ ให้อิสระทางความคิดต่อเด็ก ให้เด็กได้สร้างผลงานต่างๆ ด้วยตนเอง ให้เด็กเกิดความภูมิใจในตัวเอง ครูต้องให้ความเชื่อใจและไว้วางใจในตัวเด็ก เพื่อให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง มีความเชื่อว่าตัวเองสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ โดยการได้ทดลองได้เรียนรู้จะทำให้เด็กได้รู้จักตนเองว่าตนมีความชอบหรือมีความสนใจในด้านไหน และครูควรคอยส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาในสิ่งที่ตนชอบ ในการอยู่ร่วมกันในสังคมครูควรมีการจัดให้เด็กใช้กิจกรรมกลุ่มโดยให้เด็กแต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบของตนเอง เพื่อให้เด็กรู้สึกมีส่วนร่วมในสังคม

 

 

 

ทฤษฎีพัฒนาการตามวัยของโรเบิร์ต เจ ฮาวิกเฮิร์ต

โรเบิร์ต ฮาวิกเฮิร์ส  เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องทำงานตามวัย โดยเรียกสิ่งนี้ว่า “งานพัฒนาการ” หมายถึง งานที่ทุกคนจะต้องทำในแต่ละวัยของชีวิต ซึ่งสัมฤทธิ์ผลของงานพัฒนาการของงานแต่ละวัย มีความสำคัญมากเพราะเป็นของการเรียนรู้งานพัฒนาขั้นต่อไป

 

โดยได้การแบ่งพัฒนาการของมนุษย์ ออกเป็น 4 ด้านใหญ่ๆ ได้แก่

  1. พัฒนาการทางกาย เป็นการแบ่งพัฒนาการของมนุษย์ตามขั้นตอนในแต่ละวัน
  2. พัฒนาการทางด้านความคิดหรือสติปัญญา
  3. พัฒนาการทางด้านจิตใจ ซึ่งแบ่งย่อยเป็น

3.1 พัฒนาการทางด้านจิตใจ-เพศ (Psychosexual Development)

3.2 พัฒนาการทางด้านจิตใจ-สังคม (Psychosocial Development)

  1. พัฒนาการด้านจริยธรรม (Moral Development)

ซึ่งพัฒนาการของมนุษย์นั้น แบ่งได้เป็น 6 ช่วงอายุ คือ

  1. วัยเด็กเล็ก-วัยเด็กตอนต้น (แรกเกิด- 6 ปี)
  2. วัยเด็กตอนกลาง (6-18 ปี)
  3. วัยรุ่น (12-18 ปี)
  4. วัยผู้ใหญ่ตอนต้น (18-35 ปี)
  5. วัยกลางคน (35-60 ปี)
  6. วัยชรา (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป)

 

การนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอน

เพราะการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยนั้นมีความสำคัญอย่างมากสำหรับแนวคิดของโรเบิร์ตดังนั้น การจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยจึงสำคัญ ซึ่งหนึ่งในผู้ที่จะทำให้เด็กมองเห็นพฤติกรรมที่เหมาะได้หนึ่งในนั้นก็คือ “ครูผู้สอน”

 

-โดยในห้องเรียนครูจะเป็นตัวแบบที่มีอิทธิพลมากที่สุด ครูควรคำนึงอยู่เสมอว่า การเรียนรู้โดยการสังเกตและเลียนแบบจะเกิดขึ้นได้เสมอ แม้ว่าครูจะไม่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ก็ตาม

– การสอนแบบสาธิตปฏิบัติเป็นการสอนโดยใช้หลักการและขั้นตอนตามทฤษฎี ครูต้องแสดงตัวอย่างพฤติกรรมที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการแสดงพฤติกรรมเลียนแบบที่มีประสิทธิภาพ เพราะหากครูเกิดความผิดพลาดแล้วบอกให้ผู้เรียนไม่ต้องทำตาม แต่การกระทำเหล่านั้นก็ผ่านการสังเกตและการรับรู้ของผู้เรียนไปแล้ว

 

-นอกจากครูแล้ว ควรใช้ผู้เรียนด้วยกันเป็นตัวแบบได้ในบางกรณี โดยธรรมชาติเพื่อนในชั้นเรียนย่อมมีอิทธิพลต่อการเลียนแบบสูงอยู่แล้ว ครูควรพยายามใช้ทักษะจูงใจให้ผู้เรียนสนใจและเลียนแบบเพื่อนที่มีพฤติกรรมที่ดี โดยอาจเป็นการชี้ทางด้วยการชื่นชมนักเรียนที่มีพฤติกรรมต้นแบบที่ดีเพื่อให้นักเรียนคนอื่นๆได้มองเห็นได้อีกด้วย

 

 

ทฤษฎีพัฒนาจริยธรรมของโคลเบิร์ก (Kolberg)

โคลเบิร์ก (Kolberg) เป็นนักจิตวิทยากลุ่มปัญญานิยม (cognitivism) ซึ่งมีความเชื่อพื้นฐานว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีสมอง สามารถเกิดการเรียนรู้ เพื่อการปรับตัวให้ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมได้ เชื่อว่า จริยธรรมนั้นมีพัฒนาการตามระดับวุฒิภาวะ เพราะจริยธรรมของมนุษย์เกิดจากกระบวนการทางปัญญา เมื่อมนุษย์มีการเรียนรู้มากขึ้น โครงสร้างทางปัญญาเพิ่มพูนขึ้น จริยธรรมก็พัฒนาตามวุฒิภาวะนั่นเอง

โดยโคลเบิร์ก ได้ศึกษาการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของเยาวชนอเมริกัน อายุ 10 -16 ปี และได้แบ่งพัฒนาการทางจริยธรรมออกเป็น 3 ระดับ (Levels) แต่ละระดับแบ่งออกเป็น 2 ขั้น (Stages) ดังนั้น พัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์กมีทั้งหมด 6 ขั้น ได้แก่

 

ระดับที่  1 ระดับก่อนกฏเกณฑ์สังคม จะพบในเด็ก 2-10 ปี

-ขั้นที่ 1  การถูกลงโทษและการเชื่อฟัง

-ขั้นที่ 2  กฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของตน

 

ระดับที่ 2 ระดับจริยธรรมตามกฎเกณฑ์สังคม จะพบในวัยรุ่นอายุ 10 -16 ปี

-ขั้นที่ 3 การยอมรับของกลุ่มหรือสังคม

-ขั้นที่ 4  กฎและระเบียบของสังคม

 

ระดับที่ 3 ระดับจริยธรรมอย่างมีวิจารณญาณ

-ขั้นที่ 5  สัญญาสังคมหรือหลักการทำตามคำมั่นสัญญา

-ขั้นที่ 6  หลักการคุณธรรมสากล

 

โคลเบิร์ก ได้ทำการวิเคราะห์เหตุผลเชิงจริยธรรม โดยทำการวิเคราะห์คำตอบของเยาวชนอเมริกันอายุ 10-16 ปี และแบ่งประเภทเหตุผลเชิงจริยธรรมไว้ 6 ประเภทคือ

 

ขั้นที่ 1 การถูกลงโทษและการเชื่อฟัง

ในขั้นนี้เด็กจะใช้ผลตามของพฤติกรรมเป็นเครื่องชี้ว่า  พฤติกรรมของตน “ถูก” หรือ “ผิด” ถ้าเด็กถูกทำโทษก็จะคิดว่าสิ่งที่ตนทำ  “ผิด” พฤติกรรมใดที่มีผลตามด้วยรางวัลหรือคำชม เด็กก็จะคิดว่าสิ่งที่ตนทำ “ถูก”

ขั้นที่ 2  กฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของตน ในขั้นนี้เด็กจะสนใจทำตามกฎข้อบังคับ  เพื่อประโยชน์หรือความพอใจของตนเอง

ขั้นที่ 3 การยอมรับของกลุ่มหรือสังคม   ใช้เหตุผลเลือกทำในสิ่งที่กลุ่มยอมรับโดยเฉพาะเพื่อน เพื่อเป็นที่ชื่นชอบและยอมรับของเพื่อน  ไม่เป็นตัวของตัวเอง  คล้อยตามการชักจูงของผู้อื่น  เพื่อต้องการรักษาสัมพันธภาพที่ดี

ขั้นที่ 4  กฎและระเบียบของสังคม  จะใช้หลักทำตามหน้าที่ของสังคม โดยปฏิบัติตามระเบียบของสังคมอย่างเคร่งครัด  เรียนรู้การเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม  ปฏิบัติตามหน้าที่ของสังคมเพื่อดำรงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ในสังคม

ขั้นที่ 5  สัญญาสังคมหรือหลักการทำตามคำมั่นสัญญา ขั้นนี้เน้นถึงความสำคัญของมาตรฐานทางจริยธรรมที่ทุกคนหรือคนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกสมควรที่จะปฏิบัติตาม

ขั้นที่ 6  หลักการคุณธรรมสากล ในขั้นนี้สิ่งที่ “ถูก” และ  “ผิด”  เป็นสิ่งที่ขึ้นมโนธรรมของแต่ละบุคคลที่เลือกยึดถือ

 

ดังนั้น พัฒนาการทางจริยธรรมจะมีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางด้านความคิดเป็นเหตุเป็นผล บุคคลจะมีพัฒนาการทางจริยธรรมเป็นไปตามลำดับ และไม่มีการข้ามขั้น

 

 การนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอน

ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก ทำให้ผู้สอนรู้ว่าการรับรู้ของเด็กในแต่ละวัยนั้นแตกต่างกัน เด็กเล็กจะมีการตอบสนองข้อขัดแย้งในเรื่องจริยธรรมแตกต่างจากเด็กโต ซึ่งในการจัดการเรียนรู้นั้นผู้สอนควรกระตุ้นให้เด็กได้สื่อแนวคิดนั้นๆ ออก มาโดยสร้างบรรยากาศที่สามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนอภิปรายได้อย่างอิสระ และใช้สถานการณ์ตัวอย่างหรือเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในห้องเรียนมากระตุ้น ให้ผู้เรียนตระหนักถึงการมีจริยธรรมภายในห้องเรียนให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการยกตัวอย่าง การใช้สื่อเข้ามาช่วย รวมไปถึงการเปิดให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น

 

 

 

ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจท์

ทฤษฎีของเพียเจต์เชื่อว่า การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปตามพัฒนาการทางสติปัญญาซึ่งจะมีพัฒนาการไปตามวัยต่างๆ เป็นลำดับขั้น พัฒนาการเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติไม่ควรที่จะเร่งเด็กให้ข้ามจากพัฒนาการจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดผลเสียแก่เด็ก แต่การจัดประสบการณ์ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในช่วงที่เด็กกำลังจะพัฒนาไปสู่ขั้นที่สูงกว่าสามารถช่วยให้เด็กพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

 

พัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคลเป็นไปตามวัยต่างๆเป็นลำดับขั้น ดังนี้

  1. ขั้นประสาทรับรู้และการเคลื่อนไหว (Sensori-Motor Stage) เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 2 ปี พฤติกรรมของเด็กในวัยนี้ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวเป็นส่วนใหญ่
  2. ขั้นก่อนปฏิบัติการคิด (Preoperational Stage) เริ่มตั้งแต่อายุ 2-7 ปี
  3. ขั้นปฏิบัติการคิดด้านรูปธรรม (Concrete Operation Stage) เริ่มจากอายุ 7-11 ปี พัฒนาการทางด้านสติปัญญาและความคิดของเด็กวัยนี้สามารถสร้างกฎเกณฑ์และตั้งเกณฑ์ในการแบ่งสิ่งแวดล้อมออกเป็นหมวดหมู่ได้
  4. ขั้นปฏิบัติการคิดด้วยนามธรรม (Formal Operational Stage) เริ่มจากอายุ 11-15 ปี ในขั้นนี้พัฒนาการทางสติปัญญาและความคิดของเด็กวัยนี้เป็นขั้นสุดยอด คือเด็กในวัยนี้จะเริ่มคิดแบบผู้ใหญ่ ความคิดแบบเด็กจะสิ้นสุดลง เด็กจะสามารถที่จะคิดหาเหตุผลนอกเหนือไปจากข้อมูลที่มีอยู่

พัฒนาการทางการรู้คิดของเด็กในช่วงอายุ 6 ปีแรกของชีวิต ซึ่งเพียเจต์ ได้ศึกษาไว้เป็นประสบการณ์สำคัญที่เด็กควรได้รับการส่งเสริม มี 6 ขั้น ได้แก่

  1. ขั้นความรู้แตกต่าง (Absolute Differences) เด็กเริ่มรับรู้ในความแตกต่างของสิ่งของที่มองเห็น
  2. ขั้นรู้สิ่งตรงกันข้าม (Opposition) ขั้นนี้เด็กรู้ว่าของต่างๆ มีลักษณะตรงกันข้ามเป็น 2 ด้าน เช่น มี-ไม่มี หรือ เล็ก-ใหญ่
  3. ขั้นรู้หลายระดับ (Discrete Degree) เด็กเริ่มรู้จักคิดสิ่งที่เกี่ยวกับลักษณะที่อยู่ตรงกลางระหว่างปลายสุดสอง ปลาย เช่น ปานกลาง น้อย
  4. ขั้นความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง (Variation) เด็กสามารถเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ เช่น บอกถึงความเจริญเติบโตของต้นไม้
  5. ขั้นรู้ผลของการกระทำ (Function) ในขั้นนี้เด็กจะเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลง
  6. ขั้นการทดแทนอย่างลงตัว (Exact Compensation) เด็กจะรู้ว่าการกระทำให้ของสิ่งหนึ่งเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลต่ออีกสิ่งหนึ่งอย่างทัดเทียมกัน

 

การนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอน

เมื่อทำงานกับนักเรียน ผู้สอนควรคำนึงถึงพัฒนาการทางสติปัญญาของนักเรียนว่า นักเรียนที่มีอายุเท่ากันอาจมีขั้นพัฒนาการทางสติปัญญาที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่ควรเปรียบเทียบเด็ก ควรให้เด็กมีอิสระที่จะเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของเขาไปตามระดับพัฒนาการของเขา  ให้เน้นพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนโดยต้องเน้นให้นักเรียนใช้ศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด

สำหรับแนวทางการสอนที่ส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียน เช่น

-การหัดให้นักเรียนถามคำถามมากกว่าการให้คำตอบ

– ครูผู้สอนควรจะพูดให้น้อยลง และฟังนักเรียนให้มากขึ้น

– ควรให้เสรีภาพแก่นักเรียนที่จะเลือกเรียนกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองมากขึ้น

ทั้งนี้ผู้สอนต้องเข้าใจว่าระดับความสามารถของนักเรียนแต่ละคนนั้นแตกต่าง และนักเรียนจะมีความสามารถเพิ่มขึ้นในระดับความคิดขั้นต่อไป ดังนั้นการให้เวลาและความสนใจกับพวกเขาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 

 

 

 

ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของบรุนเนอร์

บรุนเนอร์ (Bruner) เชื่อว่ามนุษย์เลือกที่จะรับรู้สิ่งที่ตนเองสนใจและการเรียนรู้เกิดจากกระบวนการค้นพบด้วยตัวเอง (discovery learning) แนวคิดที่สำคัญ ๆ ของบรุนเนอร์ ได้แก่

 

1) การจัดโครงสร้างของความรู้ให้มีความสัมพันธ์ และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก

2) การจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระดับความพร้อมของผู้เรียน และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนจะช่วยให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพ

3) การคิดแบบหยั่งรู้ (intuition) เป็นการคิดหาเหตุผลอย่างอิสระที่สามารถช่วยพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้

4) แรงจูงใจภายในเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้

5) ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์แบ่งได้เป็น 3 ขั้นใหญ่ ๆ คือ

-ขั้นการเรียนรู้จากการกระทำ (Enactive Stage) คือ ขั้นของการเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสรับรู้สิ่งต่าง ๆ การลงมือกระทำช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ดี การเรียนรู้เกิดจากการกระทำ

-ขั้นการเรียนรู้จากความคิด (Iconic Stage) เป็นขั้นที่เด็กสามารถสร้างมโนภาพในใจได้ และสามารถเรียนรู้จากภาพแทนของจริงได้

-ขั้นการเรียนรู้สัญลักษณ์และนามธรรม (Symbolic Stage) เป็นขั้นการเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนและเป็นนามธรรมได้

6) การเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากการที่คนเราสามารถสร้างความคิดรวบยอด หรือสามารถจัดประเภทของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

7) การเรียนรู้ที่ได้ผลดีที่สุด คือ การให้ผู้เรียนค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง (discovery learning)

 

 

การนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอน

-ส่งเสริมกระบวนการค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเองกับผู้เรียน เพราะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีมีความหมายสำหรับผู้เรียน

-การวิเคราะห์และจัดโครงสร้างเนื้อหาสาระการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องทำก่อนการสอน

-ในการเรียนการสอนควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิดอย่างอิสระให้มากเพื่อช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน

-การสร้างแรงจูงใจภายในให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน เป็นสิ่งจำเป็นในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียน

-การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับขั้นพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียน จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น

-การจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้ค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี เช่นการทำกิจกรรมนอกตำรา หรือนอกห้องเรียน ให้เด็กได้ทดลองทำกิจกรรมใหม่ๆ เพื่ค้นหาในสิ่งที่ตัวเองชอบหรือถนัด เป็นต้น

 

 

นอกจากทฤษฎีทั้ง 5 ที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างเพื่อการพัฒนาผู้เรียนแต่ละคนได้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็ยังมีอีกหลายทฤษฎีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้เรียนได้ เช่น ทฤษฎีหมวก6 ใบ ที่เป็นหนึ่งในทฤษฎีที่สามารถช่วยพัฒนาการคิดและตัดสินใจของผู้เรียน  >>> ทฤษฎีหมวก 6 ใบกับการประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาผู้เรียน

 

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

: http://yru58.blogspot.com/p/blog-page_5.html

: http://oknation.nationtv.tv/blog/shitako/2009/09/14/entry-1

: https://sites.google.com/site/psychologybkf1/home/citwithya-phathnakar/thvsdi-cit-sangkhm-khxng-xi-rik-san

: http://nattavut40.blogspot.com/p/kolberg-kolberg-cognitivism-piaget.html

: http://gamlovenew.blogspot.com/2015/11/blog-post_11.html

: https://www.baanjomyut.com/library_2/intellectual_development_theory/02.html

 

 

ขอบคุณรูปภาพจาก

: https://blog.sharetolearn.com/classroom-resources/five-aspects-of-classroom-management/

: https://www.roscommonchildcare.ie/category/aim/

: https://www.gettingsmart.com/2016/03/shift-to-digital-classroom-look-fors/

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *