สจล. ยืนหยัดเคียงข้างบุคลากรทางการแพทย์ เปิดตัว KMITL GO FIGHT COVID-19 ศูนย์รวมนวัตกรรมสู้ภัยโควิด-19 พร้อมเผยมาตรการเยียวยานักศึกษาท่ามกลางการเรียนยุคโควิด
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัวศูนย์ KMITL GO FIGHT COVID-19 ศูนย์รวมองค์ความรู้ และนวัตกรรมในด้านการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคโควิด-19 บริหารงานโดยสำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) เพื่อตอบสนองความต้องการความช่วยเหลือของโรงพยาบาล และหน่วยงานทุกภาคส่วนในด้านการพัฒนานวัตกรรม และองค์ความรู้ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยศูนย์รวมนวัตกรรมดังกล่าวจะทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ และส่งต่อนวัตกรรมให้แก่โรงพยาบาล และหน่วยงานที่สนใจ โดยมีนวัตกรรม อาทิ ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative pressure room) โมเดลเครื่องช่วยหายใจ (GO RES) ประตูสแกนอุณหภูมิระบบ AI พร้อมระบบพ่นละอองน้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น ทั้งนี้ ศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 จัดตั้งขึ้นภายใต้โครงการ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ไร้ขีดจำกัด (KMITL 60th Year: Go Beyond the Limit) นอกจากนี้ สจล. ยังเผยมาตรการช่วยเหลือนักศึกษาท่ามกลางการเรียนในยุคโควิด-19 เพื่ออำนวยความสะดวกให้การเรียนรูปแบบออนไลน์เป็นไปอย่างราบรื่น
สำหรับโรงพยาบาลและหน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อสอบถาม และรับคำแนะนำด้านการพัฒนานวัตกรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ที่สำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) โทร. 091-812-0416 หรืออีเมล kannika.li@kmitl.ac.th
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ทำให้โรงพยาบาล และหน่วยงานต่างๆ ต้องรับมือกับผู้ป่วย และผู้ที่มีอาการเฝ้าระวังโรคจำนวนมาก นำมาซึ่งความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนนวัตกรรมด้านการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคโควิด-19 ที่สามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที สจล. จึงออกมาตรการเชิงรุกในการเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางด้านนวัตกรรม โดยการเดินหน้าเปิดตัว KMITL GO FIGHT COVID-19 โดยสำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือโรงพยาบาล และหน่วยงานต่างๆ ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยศูนย์ดังกล่าวเตรียมส่งมอบองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมที่พร้อมส่งต่อให้โรงพยาบาล และหน่วยงานที่สนใจจำนวนมาก
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มว่า ศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 ภายใต้สำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) ถูกจัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจ เพื่อสนองมาตรการเชิงรุกของ สจล. ในการเป็นผู้ช่วยเหลือด้านนวัตกรรม ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีทีมนักพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม สจล. ที่พร้อมให้คำปรึกษาด้านองค์ความรู้การนำนวัตกรรมต่างๆ ไปใช้ รวมถึงการผลิตเพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาล และหน่วยงานที่มีความต้องการ โดยศูนย์ KMITL GO FIGHT COVID-19 มีนวัตกรรมที่พร้อมใช้งาน ได้แก่ ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative pressure room) โมเดลเครื่องช่วยหายใจ (GO RES) และประตูสแกนอุณหภูมิระบบ AI พร้อมระบบพ่นละอองน้ำยาฆ่าเชื้ออัตโนมัติ
· ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative pressure room)
สำหรับนวัตกรรมห้อง Negative pressure เป็นนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้เป็นห้องคัดกรองเชื้อโรค โดยหลักการทำงานของห้องดังกล่าว จะปรับความดันภายในห้องให้เป็น Negative หรือมีแรงดันต่ำกว่าห้องข้างเคียง เพื่อไม่ให้อากาศซึ่งอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนภายใน ไหลออกมาสู่ห้องภายนอก ซึ่งโดยปกติ ห้อง Negative pressure มีต้นทุนการสร้างอยู่ที่ห้องละไม่ต่ำกว่า 800,000 บาท แต่นวัตกรรม Negative Pressure โดยความร่วมมือของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และศิษย์เก่า รวมถึงได้รับคำปรึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ สจล. สามารถสร้างห้องดังกล่าวได้ในต้นทุนที่ต่ำลง เพียงประมาณ 150,000 – 200,000 บาทต่อห้อง โดยเบื้องต้น สจล. ร่วมกับกรุงเทพมหานคร อยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการสร้างห้อง Negative pressure เพื่อใช้คัดกรองเชื้อโรค ให้แก่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลจำนวน 5 ห้อง พร้อมใช้งานได้ทันที และโรงพยาบาลสิรินธรจำนวน 3 ห้อง โดยคาดว่าจะพร้อมใช้งานภายในต้นเดือนเมษายน 2563
· โมเดลนวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจ (GO RES)
นวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจ GO RES (Respirator) ของ สจล. มีแนวคิดการผลิตในปริมาณมาก เพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลที่มีความต้องการใช้งานกับผู้ป่วยโควิด-19 ในระดับที่มีอาการติดเชื้อในปอด ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจดังกล่าว อีกทั้งจำลองคุณสมบัติของเครื่องช่วยหายใจขนาดใหญ่ในโรงพยาบาล ให้อยู่ในขนาดที่พกพาได้ เพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาล และผู้ที่มีความจำเป็นในการใช้งาน สามารถนำไปใช้เองได้ที่บ้าน อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนการผลิต โดยนวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจที่ผลิตขึ้นโดย หลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5,000 – 10,000 บาท ในขณะที่เครื่องช่วยหายใจขนาดใหญ่ที่ใช้ในโรงพยาบาลมีต้นทุนการผลิตถึงเครื่องละเกือบ 1 ล้านบาท
· ประตูสแกนอุณหภูมิระบบ AI คัดกรองแม่นยำ พร้อมระบบพ่นละอองน้ำยาฆ่าเชื้ออัตโนมัติ
นวัตกรรมประตูสแกนอุณหภูมิระบบ AI พร้อมด้วยระบบพ่นละอองน้ำยาฆ่าเชื้ออัตโนมัติ โดย สจล. พัฒนาเครื่องมือดังกล่าวขึ้นเพื่อคัดกรองบุคคลและพ่นละอองน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าหรือออกจากสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก เช่น สนามบิน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น อีกทั้งการคัดกรองด้วยระบบ AI จะช่วยลดความเสี่ยงในการใช้คนตรวจ ซึ่งอาจเกิดการแพร่เชื้อระหว่างผู้ใช้งานและผู้คัดกรองได้ ทั้งนี้ วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบิน สจล. ได้นำร่องใช้งานนวัตกรรมดังกล่าวเพื่อคัดกรองบุคคลก่อนเข้าอาคาร และพร้อมต่อยอดนวัตกรรมดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ในวงกว้าง
“นอกจากนี้ ในด้านของการเรียนการสอนที่มีมาตรการปรับรูปแบบเป็นออนไลน์ทั้งหมด เพื่อสอดรับกับมาตรการลดระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ของกระทรวงสาธารณสุข โดย สจล. ได้ดำเนินการติดตามผลการเรียนในรูปแบบออนไลน์ และรับฟังปัญหาของนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง และได้ออกมาตรการช่วยเหลือนักศึกษา อาทิ ประกันสุขภาพ ฯลฯ ที่จะทยอยประกาศเพื่อเป็นการช่วยนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 พร้อมเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมต่างๆ และส่งต่อองค์ความรู้ด้านการพัฒนานวัตกรรม เพื่อช่วยสังคมก้าวผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้โครงการ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ไร้ขีดจำกัด (KMITL 60th Year: Go Beyond the Limit) สำหรับโรงพยาบาลและหน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อสอบถาม และรับคำแนะนำด้านการพัฒนานวัตกรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ที่สำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) โทร. 091-812-0416 หรืออีเมล kannika.li@kmitl.ac.th