ม.หอการค้าไทยย้ำจุดแข็งระบบ Hybrid Learning สู้วิกฤตโควิด – 19

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัย และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการเรียนตั้งแต่ปี 2547 ภายใต้ระบบการเรียนรู้แบบ Hybrid และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบบ UTCC Hybrid Learning System เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และการดำเนินการเพื่อพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในรูปแบบใหม่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่นำ iTunes U มาช่วยในการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจาก iPad ซึ่งเป็นอุปกรณ์การเรียนที่นักศึกษาทุกคนได้รับเมื่อแรกเข้า โดยระบบ นี้ช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และค้นคว้าข้อมูลทุกที่ ทุกเวลา แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ส่งผลให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยฯ ได้รับการฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนทำให้สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปีพ.ศ. 2558 – พ.ศ.2562 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้รับการยอมรับจากบริษัท แอปเปิ้ล ในฐานะสถาบันการศึกษาที่โดดเด่น ในด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับการเรียนการสอน (Apple Distinguished School)  และได้ร่วมกับบริษัท แอปเปิ้ล ตั้งศูนย์อบรม Apple Regional Training Center จัดหลักสูตรอบรมและให้คำปรึกษา เพื่อช่วยให้ครู อาจารย์ และนักการศึกษาสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เข้ากับการเรียนการสอนและกับหลักสูตรได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังคงเดินหน้าผลักดันและพัฒนาระบบการเรียนรู้ให้ก้าวไปสู่ Digital Hybrid Learning System เพื่อการพัฒนาการศึกษาของไทยในศตวรรษที่ 21 ที่เป็นยุคเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ

นายปรเมศ ส่งแสงเติม รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า “ จากวิกฆติโควิด – 19 ครั้งส่งผลให้ระบบการศึกษาทั่วทุกมุมโลกต้องปรับตัวเองโดยอัตโนมัติ แต่ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีความเชี่ยวชาญด้านนี้ เนื่องจากเราได้ใช้ระบบการเรียนแบบ Hybrid Learning System มาตั้งแต่แรกจึงทำให้นักศึกษาของเรานั้นได้คุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์มาก่อนแล้วเพราะฉะนั้นการที่เราต้องปรับตัวย้ายมาเรียนออนไลน์ทั้งหมดนั้น ก็ไม่มีความยากลำบากมากนัก เนื่องจากนักศึกษาของเรานั้นเริ่มชินกับการเรียนในรูปแบบนี้ รวมถึงตอนสอบมหาวิทยาลัยก็มีการให้สอบโดยการใช้ iPad เป็นหลักมากกว่าสอบในกระดาษ เพราะฉะนั้นนักศึกษาเองก็ถือว่ามีความสามารถเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์อย่างดี ส่วนของอาจารย์ผู้สอนนั้นเดิมก็มีการอัพโหลดไฟล์บนเรียนเข้าไปในสื่อออนไลน์อยู่แล้วก่อนที่จะมาสอนในห้อง แต่การที่สอนในระบบการเรียนแบบ Hybrid Learning System กับการเรียนออนไลน์นั้นมีความแตกต่างกันนิดหนึ่งตรงที่ว่า การเรียนแบบ Hybrid นั้นคือการผสมผสานระหว่างการเรียนออนไลน์กับการเรียนในห้องเรียนไม่สามารถเรียนอย่างใดอย่างหนึ่งได้เพราะทั้งสองอย่างต้องเรียนไปอย่างควบคู่กัน แต่ถ้าต้องทำการเรียนออนไลน์ 100% เราก็ต้องมีการประชุมกันว่าเราจะออกแบบรูปแบบการสอนออนไลน์ยังไงให้เด็กรู้สึกว่าเขานั้นได้เรียนเหมือนกับตอนที่เรียนในห้องเรียนไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ ความรู้สึก การจัดกลุ่ม การทำกิจกรรม โดยเราต้องจำลองทั้งหมดนี้ให้อยู่ในการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ให้ได้ทั้งหมดเพราะการเรียนแบบออนไลน์ของเรานั้นจะไม่ใช้เพียงแค่อาจารย์อัดวีดีโอที่ทำการสอนไว้แล้วอัพโหลดขึ้นระบบเพื่อให้นักศึกษาเข้ามาเปิดและฟังตามแค่นั้น เพราะการที่ทำแบบนั้นไม่สามารถที่จะวัดผลการตั้งใจเรียนของนักศึกษาได้ และเราก็จะไม่ทราบปฏิกิริยาตอบกลับของเด็กแต่ละครั้งระหว่างการเรียนอีกทั้งยังไม่สามารถเช็คได้ว่าเด็กเข้าเรียนครบทุกคนหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเราจะต้องหาวิธีที่จะทำยังไงให้จำลองห้องเรียนปกติให้อยู่ในระบบออนไลน์ได้ ตอนนี้เทคโนโลยีมีเยอะการใช้ Application ที่เกี่ยวกับการจัดการประชุมออนไลน์ก็มีเยอะแยะไปหมดสามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวกไม่ว่าจะเป็น Google hangout หรือ Zoom แต่ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยของเรานั้นจะใช้ Cisco Webex Meetings ซึ่งเป็นระบบของ Cisco การที่เลือกใช้ระบบนี้นั้น เพราะสามารถปล่อยให้เรามีอิสระสามารถที่จะดีไซน์ห้องเรียนของตนเองที่เป็นออนไลน์ให้เหมือนกับห้องเรียนที่ใช้ในการเรียนการสอนปกติได้เลย”
“ในการที่เป็นออนไลน์นั้น โปรแกรม Cisco Webx นี้ก็สามารถที่จะแบ่งกลุ่มได้เหมือนกับในห้องเรียนจริง ๆ เช่นกัน โดยอาจารย์สามารถแบ่งกลุ่มให้นักศึกษาออกไปทำงานตามกลุ่มตามห้องที่อาจารย์จัดไว้ สามารถให้โจทย์นักศึกษาเพื่อช่วยกันนำเสนอไอเดียที่ดีที่สุดและนำความคิดนั้น ๆ มานำเสนอในกลุ่มใหญ่ และระหว่างการนำเสนออาจารย์ก็จะสามารถที่จะให้คำแนะนำได้ตลอดเวลาว่าความคิดกลุ่มไหนถูก ความคิดกลุ่มไหนผิด และความคิดของกลุ่มนี้ดีกว่ากลุ่มนั้นยังไงรวมไปถึงเห็นว่าความคิดของนักศึกษานั้นเก่งสุดก็จะชนะไป อันนี้ถือว่าเป็นวิธีการเรียนการสอนของศตวรรษที่ 21 เราไม่ได้สอนให้นักศึกษาท่องจำเราสอนให้คิดเพราะกิจกรรมพวกนี้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่ทำกิจกรรมพวกนี้นักศึกษาจะกลายเป็นเด็กที่ท่องตำราทั้งหมด เราจึงจำเป็นที่จะต้องสอนให้เขาคิดละทำงานร่วมกัน จากนั้นก็นำความคิดมาแข่งขันกันเองซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่เมื่อนักศึกษาไปทำงานข้างนอกเป็นสิ่งที่ต้องเจอ เราไม่อยากให้นักศึกษาต้องมานั่งอ่านหนังสือ นั่งจำ นั่งท่อง เพื่อนำไปสอบเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นการเรียนออนไลน์ ถ้าสามารถที่จะทำอย่างนี้ได้ก็ถือว่าคุณประสบความสำเร็จ การเรียนออนไลน์ทั่วไปในปัจจุบันนั้นนักศึกษาเก่งอยู่แล้วเวลาอยากที่จะรู้อะไรสามารถที่จะค้นหาข้อมูลจาก Youtube และ google ได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นออนไลน์ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวสำหรับเด็ก ๆ แถมยังเป็นเรื่องที่พวกเขาถนัดมากกว่าอีกด้วย” รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *