9 อาชีพยอดฮิตของคนจบสถาปัตย์
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นคณะที่ศึกษาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่มีการผสมผสานทั้งศาสตร์ และวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ รวมถึงวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน เพื่อนำมาสร้างสรรค์สิ่งที่ตอบสนองต่อความต้องการในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งสภาพแวดล้อมการเป็นอยู่ ที่พักอาศัย เช่น การออกแบบอาคาร สิ่งก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่จะเข้าเรียนในคณะสถาปัตยกรรมนั้น จำเป็นต้องมีทั้งความคิดสร้างสรรค์ ทักษะในด้านทัศนศิลป์ และความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประกอบกัน เพราะในทุกการออกแบบจำเป็นต้องมีการคำนวณและวางแผนนั่นเอง
การเรียนในคณะสถาปัตยกรรมจะมีการแบ่งสาขาการเรียนออกเป็น สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมภายใน ภูมิสถาปัตยกรรม การออกแบบอุตสาหกรรม ซึ่งแต่ละสาขาก็จะมีรูปแบบการเรียนและจุดเน้นที่แตกต่างกันไป รวมถึงเมื่อเรียนจบการแล้วก็จะมีอาชีพที่แตกต่างกันไป ซึ่งอาชีพที่เป็นที่นิยมสำหรับบัณฑิตที่จบจากคณะสถาปัตยกรรมก็ ได้แก่
- สถาปนิกโครงการและการก่อสร้าง
สำหรับอาชีพสถาปนิก จะเป็นผู้ทำหน้าตั้งแต่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับงานก่อสร้าง การทำสัญญากับเจ้าของโครงการผ่านทางการออกแบบอาคารและการทำแบบก่อสร้าง ไปจนถึงควบคุมโครงการให้เป็นไปตามแผน โดยสถาปนิกจะมีวิศวกรเป็นคนที่ให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิคที่ซับซ้อน ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีความชำนาญในแต่ละแขนงเกี่ยวกับงานก่อสร้าง
- มัณฑนากร
สำหรับมัณฑนากร หรือนักออกแบบภายในจะทำหน้าที่ออกแบบตกแต่งพื้นที่ภายในทั้ง ที่พักอาศัย ร้านค้า สำนักงาน ออกแบบตกแต่งภายในเครื่องบิน รถยนต์ รถไฟ และยังรวมถึงการออกแบบตกแต่งเวที นิทรรศการต่าง ๆ อีกด้วย
- นักออกแบบและอนุรักษ์ภูมิสถาปัตยกรรม
นักออกแบบและอนุรักษ์ภูมิสถาปัตยกรรม มีหน้าที่ในการออกแบบและปรับปรุงตกแต่งสิ่งแวดล้อมของมนุษย์และธรรมชาติให้มีความสมดุลกัน เช่น การออกแบบสวนสาธารณะ ออกแบบสวนสัตว์ นักอนุรักษ์โบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ นักอนุรักษ์ชุมชนเมือง เป็นต้น
- นักออกแบบโฆษณาและสื่อสิ่งพิมพ์
อีกอาชีพที่บัณฑิตที่สถาปัตยกรรมศาสตร์ทำได้เช่นกัน และเป็นอาชีพที่หลายคนนิยมนั่นก็คือ นักออกแบบโฆษณาและสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะด้วยพื้นฐานการออกแบบที่เรียนมา รวมถึงการทำงานด้วยเทคโนโลยีและโปรแกรมต่างๆ ที่คนที่จบด้านสถาปัตยกรรมก็สามารถทำได้
- นักออกแบบนิทรรศการหรือจัดแสดงสินค้า
สำหรับงานนิทรรศการ การจัดแสดงสินค้า รวมไปถึงงานอีเว้นต์ต่างๆ ก็เป็นอีกอาชีพที่เด็กสถาปัตย์ทำได้และนิยมทำกัน เพราะในบางสาขาของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ก็มีการเรียนเพื่อออกแบบนิทรรศการเหล่านี้โดยเฉพาะ
- นักออกแบบผังเมือง
หน้าที่ของสถาปนิกผังเมืองก็คือ การออกแบบ การคุมภาพรวมของโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ ในเมือง การประสานงานกับผู้คนรอบๆ พื้นที่พัฒนาโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่ส่งผลต่อภาพรวมของเมือง เช่น ผังเมือง วิวของเมือง โดยจะคุมทั้งหมดตั้งแต่ การออกแบบอาคาร การออกแบบพื้นที่สาธารณะ การออกแบบระบบทางเดิน เพื่อเพิ่มมูลค่า (สังคมและเศรษฐกิจ) แก่พื้นที่บริเวณนั้นให้มากที่สุด หรือถ้าเป็นสถาปนิกผังเมืองที่ทำงานอยู่กับหน่วยงานรัฐก็จะมีเป้าหมายในการออกแบบและสร้างเมืองที่เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัย มีความสุขกับชุมชนที่อยู่
- นักผังเมือง
นักวางแผนเมืองนั้นต้องรู้ศาสตร์หลากหลายมากกว่าการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ เพราะเมืองไม่สวยแต่ต้องมี function ที่คนอยู่ได้ด้วย ดังนั้นทักษะของและการทำงานของนักวางแผนเมืองแตกต่างกับของสถาปนิกผังเมือง ที่ทำการออกแบบและควบคุมโครงการก่อสร้างนั่นเอง
- นักออกแบบอิสระ
ผู้ที่เรียนจบมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จะมีความสามารถในการออกแบบด้านต่าง ๆ ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบสิ่งทอ การออกแบบเครื่องเคลือบดินเผา เป็นต้น ซึ่งสามารถรับงานที่เกี่ยวกับการออกแบบเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันได้ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น ของประดับตกแต่ง เสื้อผ้า บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น
- อาจารย์
นอกจากเราจะเข้าทำงานในบริษัทเอกชนและรับราชการในกระทรวงต่างๆ หรือการเป็นนักออกแบบสิ่งต่างๆ แล้ว หลายคนก็นิยมนำความรู้ความสามารถในด้านการออกแบบมาถ่ายทอดให้กับผู้อื่น โดยการเป็นอาจารย์สอนทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบอีกด้วย
การประกอบอาชีพต่างๆ นั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบ ความถนัด รวมถึงความสามารถของแต่ละบุคคล และรายได้ของแต่ละอาชีพก็ขึ้นอยู่กับสายงานรวมไปถึงความสามารถของเราเช่นกันค่ะ ดังนั้นไม่ว่าเราสนใจจะทำอาชีพอะไรก็ควรหมั่นฝึกฝนทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับสายงานของเราอย่าสม่ำเสมอเพื่อที่จะเป็นประโยชน์และโอกาสที่ดีสำหรับอนาคตข้างหน้าของเรานั่นเองค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://campus.campus-star.com
ขอบคุณรูปภาพจาก