วิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต ปฏิวัติการสอนระบบใหม่ ใช้วิกฤต COVID–19 Model เป็นโจทย์พัฒนาบัณฑิตในทุกมิติ

คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เผยใช้วิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นโจทย์ในการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนระบบใหม่ พัฒนาบัณฑิตในทุกมิติทั้งการวัดผลและประเมินผล
รองศาสตราจารย์นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยนั้น ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้มองเห็นว่าระบบการผลิตบัณฑิตหลังจากนี้จะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป จึงจำเป็นต้องปฏิวัติระบบการเรียนการสอน การวัดผล และประเมินผลทั้งระบบ

โดยใช้ COVID-19 Model เป็นโจทย์ปัญหาในการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน จากการเรียนในห้องเป็นระบบ Online และProject Based Learning รวมทั้งรูปแบบอื่นๆ ในหลากหลายมิติโดยในทุกรูปแบบ ที่ไม่เน้นการสอนหนังสือ แต่จะเน้นการบูรณาการร่วมกันกับการวิจัยและพัฒนา และการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมทางด้านเครื่องมือแพทย์ โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ ในการร่วมแก้ปัญหาทางด้านวิศวกรรมทางการแพทย์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศในมิติต่างๆ ได้แก่

1. งานวิศวกรรมคลินิกในโรงพยาบาล
เตรียมความพร้อมโดยการสำรองเครื่องมือแพทย์ให้พร้อมใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องช่วยหายใจสำหรับในกรณีฉุกเฉินที่โรงพยาบาลต่างๆ ขาดแคลน เนื่องจากผู้ป่วยมีปริมาณมาก สามารถให้ยืมใช้งานและให้บริการดูแลบำรุงรักษา รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแนวทางในการบริหารจัดการการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ถูกต้องกับโรงพยาบาลในเขตจังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศที่ร้องขอ

2. งานวิจัยและพัฒนาในรูปแบบ Instant Research and Development
วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลอื่นๆ ในการพัฒนาเครื่องมือแพทย์สำหรับบุคลากรทางด้านการแพทย์ สำหรับไว้ใช้ในยามฉุกเฉินให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาฯ สถาบันบำราศนราดูร เป็นต้น

3. การจัดตั้ง BMERSU Medical AI Center
เพื่อพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ ในเบื้องต้นได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับการอ่านฟิล์มเอ็กซเรย์เพื่อทำนายอาการปอดบวม การพัฒนาระบบทำนายแนวโน้มของผู้ป่วยที่จะติดเชื้อโรค COVID-19 เป็นรายวันโดยใช้หลักการของ Machine Learning เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ ระมัดระวังและปฏิบัติตัวเองตามคำแนะนำของภาครัฐ

“ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติรูปแบบของเรียนการสอนที่ไม่เน้นการสอนหนังสือ แต่เน้นการพัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ตามแนวทาง Outcome Based Education ที่เน้นการทำให้โลกของการเรียนรู้ โลกแห่งการทำงานและโลกแห่งอนาคต เป็นโลกเดียวกันจริงๆ ตามดำริของดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต” คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเพิ่มเติม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *