วิจัยและพัฒนาแผ่นกรองหน้ากากอนามัย “ย่อยสลายได้” ต่อยอดนำไปใช้กับโรงพยาบาลใกล้เคียง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า ด้วยวิกฤตการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางอากาศ ทั้งมาจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm 2.5) รวมทั้งความเสี่ยงอันเกิดจากการได้รับอนุภาคจากสารคัดหลักที่เกิดจากการไอหรือจาม ผู้คนจึงเกิดความตระหนักเป็นอย่างยิ่ง ถึงความจำเป็นในการสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน หรือลดความเสี่ยง ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ จะเห็นได้ว่า หน้ากากอนามัยชนิดใช้แล้วทิ้ง ถือเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งซึ่งเปรียบเสมือนผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงแต่ บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ผู้คนส่วนใหญ่ก็มีความต้องการ การใช้งานหน้ากากอนามัยชนิดนี้  โดยหน้ากากอนามัยชนิดมาตรฐานนี้  ประกอบด้วยโครงสร้างผ้าแบบนอนวูฟเวนจำนวน 3 ชั้น ได้แก่ สปันบอนด์/เมลท์โบรน/สปันบอนด์ โดยชั้นทีมีความสำคัญในการกรองคือชั้น เมลท์โบรน ซึ่งมีขนาดเส้นใยขนาดเล็ก และช่องว่างในโครงสร้างต่ำมาก หรือน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร ทำให้สามารถกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็ก หรือ หยดละอองของเหลวได้ (Droplets) ที่มีขนาดมากกว่าช่องว่างในโครงสร้างชั้นกรองได้

สำหรับการผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศไทยนั้น มักนำเข้าชั้นเมลท์โบรน จากต่างประเทศเนื่องจากต้องใช้พอเมอร์ชนิดพิเศษและเทคนิคพิเศษในการขึ้นรูปเพื่อให้ได้เส้นใยที่มีขนาดเล็กในระดับไมโครเมตร ถึงนาโนเมตร เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในกรองที่ต้องการ  ไม่เพียงเท่านั้นวัสดุพอลิเมอร์ตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตโครงสร้างดังกล่าว ได้มาจากพอลิพรอพิลีน (PP) หนึ่งในพลาสติกประเภทเทอร์โมพลาสติก ได้มาจากปิโตเลียมเบส เมื่อหน้ากากอนามัยเหล่านี้ถูกใช้งานแล้ว ถูกทิ้งในระบบฝังกลบนั้น  ไม่สามารถย่อยสลายได้ ( >400 ปี) อีกทั้งยังพบว่าช่วงวิกฤตการณ์นี้ ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากขยะหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เพื่อลดปริมาณขยะดังกล่าว ทางคณะผู้วิจัยอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาเอกคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว. คิดค้น แผ่นกรองชนิดเปลี่ยนได้และสามารถย่อยสลายได้ ใช้คู่กับหน้ากากอนามัยชนิดที่สามารถเปลี่ยนชั้นกรองและซักได้หลายครั้ง เพื่อเป็นหน้ากากอนามัยทางเลือกทดแทนหน้ากากอนามัยชนิดใช้แล้วทิ้ง โดยงานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นศึกษาและพัฒนาแผ่นกรองชั้นเมลท์โบรนที่มีขนาดละเอียดจากพอลิแลคติกแอซิด (Polylactic acid, PLA) หนึ่งในพอลิเมอร์ทางชีวภาพ สังเคราะห์ได้จากกรดแลคติกแอซิด ได้มาจากแหล่งทรัพยากรที่สามารถปลูกทดแทนได้ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง เมื่อใช้แล้วทิ้งในระบบฝังกลบที่มีสภาวะเหมาะสม สามารถย่อยสลายได้  ในระยะเวลา 4-6 เดือน ขึ้นรูปแผ่นกรอง ด้วยผ่านกระบวนการขึ้นรูปแบบพิเศษด้วยเครื่อง Cotton candy ซึ่งมีหลักการ การขึ้นรูปแบบเดียวกัน melt blown spinning หรือเรียกว่า กระบวนการปั่นหลอมแบบพ่น ลักษณะชิ้นงานที่ได้ เรียกว่า นอนวูฟเวนหรือผ้าไม่ถักไม่ทอ ได้เส้นใยขนาดเล็กระดับไมโครเมตร มีประสิทธิภาพในการกรองสูง ซึ่งเป็นงานวิจัยร่วมระหว่าง มทร ธัญบุรี และ Kyoto institute of technology สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 094-3866891

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *