การจัดการโลจิสติกส์ เครื่องมือที่สำคัญ ทางธุรกิจ ภายใต้สภาวะโควิด – 19

การแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัส โควิด – 19 นอกจากมีผลกระทบต่อสุขภาพ และการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วไปแล้ว ผลพวงที่ตามมาคือ ผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจ และธุรกิจ
การสั่งปิดธุรกิจหลายประเภท การขอความร่วมมือให้ประชาชนอาศัย และทำงานอยู่ในบ้าน การกำหนดการเคลื่อนย้ายของประชาชน รวมถึงการประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งผลดีทำให้การระบาดของเชื้อไวรัสไม่มากตามที่คาดไว้ แต่ผลพวงดังกล่าว ทำให้ธุรกิจหลายประเภท หยุดชะงัก และไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าปลีก และธุรกิจบริการต่างๆ ในขณะที่ความต้องการ สินค้าและบริการยังคงอยู่ การซื้อสินค้าและบริการผ่านทางร้านค้าแบบเดิมไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้เกิดการซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ และการจัดส่งสินค้าถึงที่พัก มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น
ผู้ประกอบการหลายรายพยายามปรับตัวให้อยู่รอดได้ในสถานการณ์ดังกล่าว การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ หรือการมีบริการจัดส่งสินค้าจากทางร้าน กลายเป็นหนึ่งในทางรอดที่มองเห็น แต่เพียงแค่การขนส่งสินค้า หรือการรับคำสั่งซื้อผ่านทางระบบออนไลน์ อาจจะไม่เพียงพอต่อการแข่งขันในอนาคต การประยุกต์ใช้ระบบการจัดการโลจิสติกส์ที่ครบวงจร กลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องพิจารณา
การจัดการโลจิสติกส์ หมายถึง กระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้า จากแหล่งผลิตไปยังลูกค้าเป้าหมาย ณ สถานที่ที่ลูกค้าต้องการ ด้วยต้นทุนที่คุ้มค่า โดยกิจกรรมทางการจัดการโลจิสติกส์ ประกอบด้วยกิจกรรม 5 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรมทางด้านการบริหารจัดการการผลิต 2) การตลาดและการบริการลูกค้า 3) การจัดหาวัตถุดิบและอุปกรณ์ต่างๆ 4) การกระจายและการจัดการสินค้าคงคลัง และ 5) กิจกรรมการจัดส่งสินค้า ดังนั้นการประยุกต์ใช้การจัดการโลจิสติกส์ จึงไม่ใช่แค่การผลิตและจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีการประยุกต์ใช้กิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย
การจัดส่งสินค้า กลายเป็นกิจกรรมหลักของผู้ประกอบการหลายราย โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่ต้องรีบปรับตัว เนื่องจาก ณ.เวลานี้ ผู้บริโภคไม่สามารถนั่งรับประทานในร้านได้แล้ว ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีก มีการปรับตัวมาสู่ระบบการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ และการบริการส่งสินค้า ก่อนหน้าการระบาดของไวรัสอยู่แล้ว แต่ในช่วงนี้ จำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนของการจำหน่ายและการจัดส่งให้เพิ่มมากขึ้น
เพียงแค่การจัดส่งสินค้า เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาวได้ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ กิจกรรมในการ จัดหาวัตถุดิบและอุปกรณ์ต่างๆ เช่นเดียวกัน อย่าลืมว่า ในวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงผู้บริโภคเท่านั้นที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบในการซื้อสินค้า แต่ตัวผู้ประกอบการเอง ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดหาวัตถุดิบด้วยเช่นกัน การเลือกซื้อวัตถุดิบของร้านอาหารจากผู้จำหน่ายในตลาดสด อาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นการซื้อแบบออนไลน์และใช้บริการการส่งสินค้ามาที่ร้านอาหาร กระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบด้วยตัวเองเหมือนที่เคยทำ ต้องเปลี่ยนเป็นการอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจให้ผู้จำหน่ายวัตถุดิบคัดเลือกให้แทน
การเปลี่ยนรูปแบบการจำหน่ายสินค้า จากหน้าร้านสู่ทางออนไลน์ สภาวะทางด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่เป็นปกติ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การตลาดและการบริการลูกค้า โดยการให้ข้อมูลผ่านทางระบบออนไลน์ให้ได้มากที่สุดเลยกลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมโลจิสติกส์ ที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องดำเนินการ การทำการตลาด รวมถึงการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ นอกจากจะช่วยประชาสัมพันธ์ร้านค้า และสินค้า ให้ถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างแล้ว ข้อมูลยอดการสั่งซื้อและปริมาณความต้องการสินค้า จากลูกค้า จะทำให้ผู้ประกอบการทราบความต้องการของลูกค้าที่แท้จริงด้วย
การกระจายและการจัดการสินค้าคงคลัง ให้มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดต้นทุนในการมีสินค้าคงคลังในจำนวนที่มากเกินความจำเป็น และช่วยลดการเสียโอกาสในการขายในกรณีที่มีสินค้าคงคลังน้อยเกินความจำเป็น การที่จะทำให้การกระจายสินค้าและการจัดการสินค้าคงคลังมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องทราบข้อมูลความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เพื่อนำมาพยากรณ์ความต้องการในอนาคต
กิจกรรมการบริหารการผลิต เป็นกิจกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงจากกระบวนการเดิมน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการต้องวางแผนการบริหารการผลิตอย่างยืดหยุ่น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น แนวคิดของการผลิตให้พอดีกับความต้องการ (Just In Time Production) เป็นการป้องกันความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการควรใช้ ในเวลาที่ไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตได้
การระบาดของไวรัส โควิด – 19 เป็นวิกฤตที่เกิดกับภาคธุรกิจอย่างที่ได้บอกไป แต่การปรับตัวที่เหมาะสม และการเตรียมความพร้อมที่ดี จะทำให้ผู้ประกอบการ สามารถขยายโอกาสจากวิกฤตครั้งนี้ได้ไม่มากก็น้อย

เรียบเรียงโดย: ดร.นพปฎล สุวรรณทรัพย์
อาจารย์สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน คณะบริหารธุรกิจ ม.รังสิต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *