5 เทคนิคช่วยให้แปลภาษาได้แบบมืออาชีพ

 

หนึ่งในทักษะที่คนที่เรียนภาษาควรจะฝึกฝนไว้เพราะมความสำคัญไม่แพ้การอ่าน การฟัง และการพูดนั่นก็คือ “การแปล” โดยเฉพาะในการแปลจากภาษาไทยไปเป็นภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างมีความยากและละเอียดอ่อน

และนอกจากนี้หากเรามีทักษะในการแปลที่ดีแล้วจะทำให้เราเขียนคล่องขึ้น และยังช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนภาษาในหัวของเราเวลาพูดได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย วันนี้เราจึงมี 5 เทคนิคดีๆ ในการแปลภาษาอังกฤษให้ได้แบบมืออาชีพมาฝากกันค่ะ

 

 

 

  1. ให้ความสำคัญกับเปลี่ยนระบบวันที่ หรือ หน่วยต่างๆ

เวลาที่เราแปลภาษาจากภาษาไทยไปเป็นอีกภาษาที่อยู่ปลายทาง เราควรคำนึงอยู่เสมอว่าผู้อ่านของเราไม่ได้คุ้นเคยกับระบบที่เราใช้ เช่น เราไม่สามารถใช้ปี พ.ศ.ได้ในภาษาอังกฤษ แต่ต้องใช้ค.ศ.แทน และนอกจากวันที่แล้วยังรวมถึงหน่วยต่างๆ อย่างเช่น อุณหภูมิ เพราะแม้ในประเทศไทยจะนิยมใช้องศาเซลเซียส แต่ในบางประเทศจะใช้ฟาเรนไฮต์

ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิในกรุงเทพฯ ร้อนที่สุดของปีอยู่ที่ 42 องศาเซลเซียสในวันที่ 8 เมษายน 2020 อาจแปลได้เป็น

“The highest temperature ever recorded in Bangkok this year was  107.6 °F on April 25, 2016.” เป็นต้น

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงหน่วยต่างๆ อย่างเช่น ความสูง ระยะทาง น้ำหนัก การเอาเดือนหรือวันที่ขึ้นก่อนก็แตกต่างกันในแต่ละประเทศ นอกจากนี้ การเขียนเรื่องตัวเลขก็ต้องระวัง เช่น ถ้าภาษาไทยบอกว่า 55,000,000 ล้านบาท ภาษาอังกฤษก็ต้องเป็น 55 billion baht เนื่องจากภาษาปลายทางมีคำเฉพาะให้เราใช้อยู่แล้ว เป็นต้น

 

 

  1. รู้จักแบ่งประโยคให้ถูกตำแหน่ง

ด้วยวิธีการแบ่งประโยคของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษนั้นแตกต่างกัน คนเขียนภาษาไทย บางทีก็จะติดการเขียนไปเรื่อยๆ แบบไม่มีจุดเริ่มหรือจบของประโยคและกลายเป็นประโยคยาวๆ ไม่เหมือนกับการเขียนในภาษาอังกฤษที่จะมีการใช้เครื่องหมายขั้นระหว่างประโยค ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำเวลาเจอประโยคยาวๆ ในภาษาไทย คือ การหาจุดเริ่มและจุดจบของประโยค เพื่อให้เขียนง่ายขึ้น และคนอ่านเข้าใจง่ายขึ้น พยายามใช้คำเชื่อมต่างๆ เข้ามาช่วยเพื่อให้เห็นความต่อเนื่องของประโยค แทนที่ใช้ comma คั่นไปเรื่อยๆ เช่น หากประโยคในภาษาไทยเป็น

“เด็กหญิงคนดังกล่าวได้ถูกรถชนและสลบไปบนถนนโดยไม่มีใครช่วยเหลือ รวมทั้งผู้ก่อเหตุก็ได้หลบหนีไปหลังเกิดเหตุอีกด้วย” อาจจะสามารถตัดเป็น

“The girl was hit by a car and lying unconscious on the road. No one stepped in to help her while the suspect fled the scene after the accident.” เพื่อให้ประโยคอ่านและเข้าใจได้ง่ายขึ้นนั่นเองค่ะ

 

 

  1. พยายามรักษาโทนของภาษาต้นฉบับไว้

ก่อนจะเริ่มทำการแปลนั้นเราต้องวิเคราะห์ก่อนเลยว่า บทความที่เราต้องการแปลนั้น เป็นบทความประเภทไหน เป็นบทความวิชาการ บทความมีสาระ ที่ต้องการความจริงจัง  หรือบทความเบาสมอง เพื่อความเพลิดเพลิน อย่าง ข่าวกอสซิป เรื่องสั้นสำหรับอ่านเล่น เพื่อที่เวลาแปลว่าเราจะได้สามารถแปลออกมาให้เป็นโทนเดียวกับบทความต้นฉบับ และไม่หลุดจากแนวของบทความเดิมไป ซึ่งการที่เราจะสามารถแปลว่าได้ตรงตามโทนของบทความในประเทศต่างๆ ได้นั้น เราจะต้องคุ้นเคยกับสไตล์ของภาษา อ่านและคลุกคลีกับภาษาปลายทางแบบที่เราต้องใช้ให้บ่อย ต้องสังเกตวิธีการใช้ภาษา คำ วิธีการจัดเรียงประโยคและบทความ เพื่อให้มีโทนที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับ และคนอ่านเข้าถึงได้มากที่สุดนั่นเอง

 

 

  1. เลือกใช้คำให้เหมาะสมกับเนื้อหา

ในการแปลภาษาสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เราแปลได้อย่างมืออาชีพก็คือ การเลือกใช้คำให้เหมาะสม กับทั้งเนื้อหา บริบทของเนื้อหา ประเภทของเนื้อหา รวมไปถึงความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยถ้าเราเริ่มแปลบทความเป็นภาษาอังกฤษในช่วงแรกๆ บทความประเภทที่ง่ายที่ไม่ได้มีศัพท์เฉพาะมากมาย ก็อาจเริ่มจากการแปลบทความเรื่อง lifestyle ทั่วไป

แล้วค่อยๆ ขยับไปแปลในสิ่งที่ท้าทายตัวเองด้วยการเลือกแปลหมวดที่มีความท้าทายมากขึ้น เช่น บทความด้านสุขภาพ กฎหมาย หรือบทความวิชาการต่างๆ อย่างเช่นการแปลสัญญาต่างๆ ที่เป็นภาษากฎหมาย ซึ่งเนื้อหาด้านกฎหมายนี้แม้จะมีความยากมากขึ้น แต่เราก็สามารถเลือกเข้าไปดู template ต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีมากมายให้เราได้ศึกษาได้อีกด้วย

 

 

  1. อย่าติดใช้สำนวนของภาษาต้นฉบับมากจนเกินไป

ในภาษาแต่ละภาษานั้น ย่อมแฝงวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ มาด้วย ดังนั้นสำนวนการใช้ประโยค หรือการใช้คำ อาจจะไม่สามารถแปลมาเป็นภาษาปลายทางได้ตรงทั้งหมด เพราะถ้าแปลตรงเกินไป คนอ่านก็จะไม่เข้าใจเลยในวัฒนธรรมหรือบริบทนั้นๆ เช่น ในข่าวของต้นฉับบภาษาไทยเขียนว่า

สารวัตรหึงโหด “เจอภาพบาดตาของภรรยากับเพื่อน” เราจะแปลภาพบาดตานี้ว่าอะไร การจัดการกับโจทย์แบบนี้ เราอาจจะต้องวิเคราะห์กันสักหน่อย และอาจจะเขียนออกมาว่า

“angered by his wife and friend’s intimacy” ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ มากกว่าพยายามมาคิดคำว่าภาพบาดตาแล้วแปลตรงตัวจนคนอ่านสับสน เป็นต้น

 

 

นอกจากกฎในการช่วยแปลทั้ง 5 ข้อที่จะสามารถช่วยให้เราแปลภาษาได้อย่างสมบูรณ์แบบมืออาชีพได้แล้วนั้น สิ่งที่สำคัญกว่ากฎเหล่านี้ก็คือ “การฝึกฝน” ยิ่งเราได้ฝึก ได้คลุกคลีกับมันมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเพิ่มทักษะในการแปลได้ดีมากขึ้นเท่านั้น เพราะการจะเก่งภาษาได้นั้นไม่มีทางลัดหรือสูตรพิเศษค่ะ

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

: https://www.wallstreetenglish.in.th

 

ขอบคุณรูปภาพจาก

: https://www.unyp.cz/news/obstacles-translation

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *