มจธ. เร่งพัฒนาระบบฆ่าเชื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยมีแผนติดตั้งที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นแห่งแรก

ทีมอาจารย์และนักวิจัย มจธ. ได้ทำการออกแบบและทดสอบห้องฆ่าเชื้อที่ใช้ระบบพ่นไอระเหยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (HPV) ตามมาตรฐานที่รับรองโดย US.FDA พร้อมจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติการมาตรฐาน เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ในช่วงระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ดร.ขจรวุฒิ อุ่นใจ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้จัดการโครงการการพัฒนากระบวนการฆ่าเชื้อด้วยละอองฝอยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ สำหรับอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เปิดเผยว่า การรับมือกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ อันได้แก่ หน้ากากกรองอนุภาค N95 และชุดคลุมปฏิบัติการชนิด Coverall มีความสำคัญมากและจำเป็นต้องมีใช้อย่างต่อเนื่อง แต่จากการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสดังกล่าวไปทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ส่งผลให้อุปกรณ์เหล่านี้ขาดแคลนและมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้งาน

ทางมจธ. ทราบถึงปัญหานี้ จึงได้เร่งพัฒนาระบบฆ่าเชื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยได้รับความไว้วางใจจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นแห่งแรกให้นำระบบที่พัฒนาไปติดตั้งใช้งานที่โรงพยาบาล จากปัญหาในสถานการณ์ที่จำเป็นและเร่งด่วน มจธ. ตั้งเป้าหมายในการทำงานเร็วที่สุด คือ ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ จะต้องสามารถติดตั้งและทดสอบระบบจริงได้ที่โรงพยาบาล จึงทำการระดมทีมอาจารย์และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา อาทิเช่น วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมชีวภาพ จุลชีววิทยา และเทคโนโลยีวัสดุ ร่วมกันทำภารกิจที่ท้าทายนี้

โดยทีมงานเลือกใช้เทคโนโลยีการฆ่าเชื้อด้วยระบบพ่นไอระเหยของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide Vapor: HPV) เนื่องจากฆ่าเชื้อโรคได้ดีและเหมาะกับการฆ่าเชื้อจำนวนมาก ด้วยต้นทุนต่อการดำเนินงานต่อครั้งที่ต่ำ (ค่าสารเคมีต่ำกว่า 2 บาท/ชิ้น และสามารถฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 มากกว่า 1,000 ชิ้นต่อครั้ง) ในขณะที่ไม่ลดประสิทธิภาพการกรองของหน้ากาก(แตกต่างจากการใช้รังสี UVC) ทั้งยังเป็นระบบที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration : FDA) ได้อนุญาตให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่สหรัฐอเมริกามาแล้ว  โดยมีข้อมูลว่าหน้ากากที่ฆ่าเชื้อโดย HPV สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ถึง 20 ครั้ง

ห้องฆ่าเชื้อที่ออกแบบไว้เป็นห้องระบบความดันเป็นลบ (negative pressure) ขนาด 6×2.5×3.5 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่ภายนอก พื้นที่ในห้องประกอบด้วย 1.พื้นที่ฆ่าเชื้อขนาด 3×3 เมตร ซึ่งบรรจุเครื่องผลิตละออง HPV 2.พื้นที่สำหรับเปลี่ยนชุดของผู้ปฏิบัติงาน 3.พื้นที่ตั้งเครื่องควบคุมและจุดรับ-ส่งอุปกรณ์ที่นำมาฆ่าเชื้อ โดยจะอาศัยการปรับปรุงห้องภายในอาคารท่านผู้หญิง ประภาศรี กำลังเอก”(ตึกอุบัติเหตุ) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งจะสามารถรองรับการฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 สูงสุดต่อวันได้ถึง 2,000 ชิ้น หรือชุดคลุมฯ 150 ตัวต่อวัน  ดร.ขจรวุฒิ กล่าวเสริมว่า แม้จะมีการรับรองและใช้เทคโนโลยีนี้ในต่างประเทศแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากความชื้นในอากาศที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของระบบ HPV  ได้  ทีมงานจึงได้ดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของระบบ HPV  ณ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) ของ มจธ. ในห้องทดสอบที่มีการความคุมความชื้น อุณหภูมิ และมีขนาดเดียวกับห้องฆ่าเชื้อที่ออกแบบไว้สำหรับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จากความร่วมมือของ บริษัท ซิม จำกัด เพื่อศึกษาปริมาณไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ระยะเวลาการใช้งานและความเข้มข้นของ HPV ที่เหมาะสมที่สุดในการฆ่าเชื้อ

เพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของบุคลากรการแพทย์  ทีมงานมีแผนที่จะนำอุปกรณ์ป้องกันที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว เข้ารับการทดสอบประสิทธิภาพ ว่าอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อปลอดทั้งไวรัสและแบคทีเรีย รวมถึงมีการตรวจสอบโครงสร้างของเส้นใยของหน้ากาก N95 และประสิทธิภาพการกรองซ้ำ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหลังการฆ่าเชื้อแล้ว อุปกรณ์ไม่ได้รับความเสียหาย สามารถนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย นอกไปจากนี้ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านยางพาราของ มจธ. ยังได้เริ่มดำเนินการพัฒนาเส้นยางสำหรับคล้องศีรษะและกาวพิเศษสำหรับยึดติดหน้ากาก N95 เพื่อเตรียมไว้สำรองทดแทนหากหน้ากาก N95 บางรุ่นซึ่งอาจมีการชำรุดหรือมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไปหลังการฆ่าเชื้ออีกด้วย

ดร.ขจรวุฒิ เน้นย้ำว่าในส่วนของการดำเนินงานห้องฆ่าเชื้อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นสถานที่จริงนั้นจะต้องมีระบบการทำงานรัดกุม ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพทุกขั้นตอน ด้วยเหตุนี้ ทีมงานได้เตรียมจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติการมาตรฐาน (Standard Operating Principles: SOP) ของการบริหารจัดการอุปกรณ์แต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางให้กับโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน ครอบคลุมตั้งแต่ เริ่มการขนส่งอุปกรณ์จากผู้ใช้มาทำการฆ่าเชื้อ การฆ่าเชื้อในห้องฆ่าเชื้อ และการส่งกลับ โดยมีขั้นตอนระบุความเป็นเจ้าของเพื่อการส่งกลับที่ถูกต้องแม่นยำ เพราะอุปกรณ์ของแต่ละบุคคลนั้นมีขนาดเฉพาะตัว  รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพ  การระบุจำนวนครั้งของการฆ่าเชื้อซ้ำ และการส่งคืนหลังการฆ่าเชื้อที่มั่นใจได้ว่าอยู่ในสภาวะปลอดเชื้อแก่ผู้ใช้เดิมทุกครั้ง เป็นหัวใจสำคัญ ทั้งนี้ มจธ. พร้อมส่งมอบระบบฆ่าเชื้อและขั้นตอนการปฏิบัติการมาตรฐาน  รวมถึงให้การอบรมบุคลากรของโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถดำเนินการได้จริงภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ดังนั้นทีมงานทดสอบประสิทธิภาพของห้องฆ่าเชื้อกำลังตัวต้นแบบทำการทดสอบทุกวันที่ตึกสรบ. เขตพื้นที่การศึกษาบางขุนเทียน เพื่อให้สามารถใช้ระบบได้ทันกำหนด

โดยทีมคณะทำงานหลักประกอบด้วย ดร. อรรณพ นพรัตน์ ผอ.สรบ ผศ ดร บุณยภัต สุภานิช อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คุณทนงค์ ฉายาวัฒนะ สรบ. คุณสุดารัตน์ ดุลสวัสดิ สรบ. นายอภิสิทธิ์ ไทยประยูร นศ.วิศวกรรมชีวภาพ และ นายอรรถพล แกมทอง  นศ.วิศวกรรมชีวภาพ

หากหน่วยงานหรือโรงพยาบาลใด มีความสนใจในระบบฆ่าเชื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ที่ มจธ. พัฒนาขึ้นนี้ สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ ดร.ขจรวุฒิ อุ่นใจ ผู้จัดการโครงการฯ โทร. 0869722533

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *