มาติดตามความคืบหน้ากิจกรรมเพื่อสังคม Shield For Heroes นักศึกษา มจธ. ร่วมกับประชาชนจิตอาสาสมทบทุนจัดทำ Face Shield มอบ รพ.ทั่วไทย

สภาวะวิกฤตินี้ “มิใช่มีแต่เรื่องไม่ดีเสียทั้งหมด” ในความเดือดร้อนทุกข์ยากสิ่งที่คนไทย ไม่เคยขาดแคลนเลยคือ “น้ำใจและการแบ่งปัน” ผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียน
นายชนวีร์ เพชรประภัสสร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้ริเริ่มโครงการ Shield For Heroes เล่าว่า “ผมได้ยินข่าวบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 มียอดสะสมจำนวน 23 ราย โดยมากกว่า 50% ติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัญหาอุปกรณ์ป้องกันมีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยจำนวนมากและโรงพยาบาลขนาดเล็ก ผมจึงมีแนวคิดที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหานี้ จึงชักชวนกลุ่มเพื่อนทั้งภายในมหาวิทยาลัย เพื่อนต่างสถาบัน รวมทั้งญาติและคนที่สนใจ รวมตัวกันจึงเกิดเป็นโครงการ “Shield For Heroes” เพื่อร่วมสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จัดทำ Face Shied หรือกระจังป้องกันใบหน้า เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศไทย โดยกระบวนการจัดทำ Face Shied ทุกคนสามารถทำได้ง่าย ๆ จากที่บ้าน
ด้วยข้อจำกัดของเวลา ทำให้น้องๆ ทีมงานที่สามารถเข้าถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการ นำความคิด ผ่านการออกแบบ และสร้างชิ้นงานออกมาผ่านเครื่องพิมพ์ชิ้นงาน 3 มิติ (3D Printer) ที่ใช้กระบวนการเติมเนื้อวัสดุผ่านการควบคุมอย่างเที่ยงตรงด้วยระบบคอมพิวเตอร์เชิงตัวเลข เพื่อทำให้ได้เป็นชิ้นงานตามที่ออกแบบ ซึ่งการเติมเนื้อหรือพิมพ์วัสดุลงไปนั้นเรียกว่า Additive Process ซึ่งการพิมพ์นั้นจะค่อยเป็นไปทีละชั้น จึงสามารถผลิตชิ้นงานที่สามารถพิมพ์ออกมาได้อย่างรวดเร็ว และไม่ต้องรอ หรือเสียค่าใช้จ่ายในการเปิดแม่พิมพ์เพื่อการผลิตดังเช่นกระบวนการผลิตอื่น บางส่วนก็ใช้วัสดุ อุปกรณ์ที่หาได้โดยทั่วไปในท้องตลาดมาผลิตแทน นอกจากนั้นยังเป็นการฝึกทักษะทางสังคมอื่นๆ เช่น การสื่อสาร การบริหารจัดการ การฝึกภาวะผู้นำ เป็นต้น
โครงการ Shield For Heroes แม้เกิดจากจุดเล็ก ๆ แต่ปัจจุบันได้มีเพื่อน ๆ ทั้งที่รู้จัก และไม่รู้จักกันมาก่อน ได้เข้าร่วมขับเคลื่อนโครงการ โดยปัจจุบันจัดทำมากกว่า 1,000 ชิ้น มอบให้กับโรงพยาบาลแล้วทั้งสิ้น 20 แห่ง โดยวางแผนการผลิตอีกจำนวน 2,500 ชิ้น เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลที่มีความต้องการอีกจำนวน 50 แห่ง และพวกเรายังได้จัดทำฐานข้อมูลกว่า 100 โรงพยาบาลทั่วประเทศ จากการติดต่อเข้ามาขอรับบริจาคอุปกรณ์ป้องกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และได้ใช้ฐานข้อมูลนี้ในการจัดสรรอุปกรณ์ที่พวกเราจัดทำ และติดต่อประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งมอบอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลที่ขาดแคลนทั่วประเทศ
ผมอยากจะขอขอบคุณทีมงาน Shield For Heroes ทุกคนที่มีส่วนทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น และผมอยากจะขอเชิญชวนประชาชนจิตอาสาที่อยากช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยวิธีง่าย ๆ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Shield For Heroes เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *