สวนสุนันทาร่วมมือกรมการพัฒนาชุมชน ขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม U-OTOP บุกตลาดออนไลน์

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน นำร่องโครงการ U-OTOP หวังส่งเสริมสินค้าชุมชนผ่านนักศึกษาที่สนใจหารายได้พิเศษ รุกสู่ตลาดออนไลน์ สู้ภัย โควิด – 19

รองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) เปิดเผยว่า มร.สส. ได้ร่วมมิอกับกรมการพัฒนาชุมชน โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในการสร้างนักศึกษารุ่นใหม่เพื่อสังคม ภายใต้ชื่อโครงการ U-OTOP

โดยมอบให้ มหาวิทยาลัยฯดำเนินการนำร่องการพัฒนานักศึกษาและคณาจารย์ที่จะเป็นที่ปรึกษา พร้อมลงภาคสนามร่วมกับพัฒนาจังหวัด โดยนำร่องที่จังหวัดสมุทรสงคราม ตลอดเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลตอบรับดี

ทั้งนี้นักศึกษาได้ประสบการณ์จากการนำสินค้า otop มาขายบนโลกออนไลน์ในช่วงเกิดปัญหาโควิด – 19 ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนพอสมควร แบ่งเบาความเดือดร้อนของครอบครัวได้ส่วนผู้ประกอบการ otop ในแต่ละชุมชนก็จะได้ขยายตลาดบน online และได้ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น นับว่าเป็นโครงการที่ดีที่ มหาวิทยาลัยได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้นักศึกษา และร่วมสนับสนุนสินค้าชุมชนได้ออกสู่ตลาดยุคใหม่ 4.0 ที่สำคัญจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการพัฒนาต่อยอดในลำดับต่อไปอย่างยั่งยืน

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กล่าวแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ว่า ข้อตกลงความร่วมมือนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสานต่อนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและครัวเรือน ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อน เพื่อให้ประชาชนและครัวเรือนมีความสุข ก้าวไปสู่เศรษฐกิจครัวเรือนอย่างมั่นคง ขณะเดียวกันยังสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตัวชี้วัดที่สำคัญคือการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยการพัฒนาสินค้า otop ควบคู่ไปกับงานชุมชนท่องเที่ยว otop นวัตวิถี

อธิบดีกรมการพัฒนชุมชนกล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นสินค้า otop และชุมชนท่องเที่ยว otop นวัตวิถีได้ ” เราคาดหวังว่าโครงการนี้จะส่งผลให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเกิดการกระจายรายได้ให้ชุมชนตรงตามเป้าหมายของการสร้างชุมชนเข้มแข็งภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจครัวเรือนที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในที่สุด”

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการกล่าวเสริมว่า โจทย์นี้ท้าทายอย่างยิ่ง ต้องวางแผนระบบคิดและแก้ปัญหาต่าง ๆในระหว่างการดำเนินการ ตั้งแต่การคัดเลือก คัดกรองนักศึกษา ต้องสร้างความเข้าใจในการดำเนินการ ทั้ง พัฒนาคู่มือ พัฒนาหลักสูตรและอบรมนักศึกษา รวมถึงอบรมในระบบการขายสินค้าออนไลน์ การสร้างความเข้าใจสินค้า พฤติกรรมผู้บริโภคแนวใหม่ ชุมชนสัมพันธ์ หรือแม้แต่การสร้างการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต

ส่วนการคัดกรองตำแหน่งที่ปรึกษา จะมีการคัดสรรคณาจารย์ ที่มีความรู้ประสบการณ์ด้านธุรกิจ ด้านการตลาด ด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้แก่นักศึกษา และ พัฒนาแพลตฟอร์มของเราเองที่มีการพัฒนาร่วมระหว่าง กรมการพัฒนาชุมชนและมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

“วันนี้นักศึกษา ที่ปรึกษาและมหาวิทยาลัยฯพร้อมจึงเริ่มดำเนินการตามที่วางแผน แรกๆเรามีปัญหาการขายของนักศึกษาเช่นกัน ตั้งแต่เฟซบุ๊คที่นักศึกษาใช้ เบื้องต้นไม่จูงใจการขาย บางครั้งผู้ประกอบการไม่มีสต็อค หรือ ค่าขนส่งแพง ซึ่งเป็นจุดอ่อน แต่ตอนนี้เราช่วยกันแก้ไขจนผ่านมาได้แล้ว ทำให้นักศึกษาเริ่มมั่นใจว่าทำได้ ขณะเดียวกันแพลตฟอร์มของ มร.สส. กับ พช. เสร็จสมบูรณ์ จึงเชื่อมงานได้อย่างลงตัว

จากนี้ไป มร.สส. จะเป็นคู่สัญญาและดูความเชื่อมั่นระหว่างผู้ประกอบการ otop และ นักศึกษา ทั้งการดูแลการขนส่ง การเงิน บัญชี การจ่ายเงิน การรับประกันสินค้า ตอบได้เลยว่าเราพร้อมแล้ว” รองศาสตราจารย์ ดร.ธนสุวิทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การผลักดันโครงการ U-OTOP ที่กำลังขับเคลื่อนครั้งนี้ได้เดินมาถูกทาง ยิ่งช่วงนี้ ครอบครัวนักศึกษา ต้องแบกภาระ ค่าเทอม ค่าที่พัก ค่ากินอยู่ ของลูกหลานตัวเอง หรือ ผู้ประกอบการ otop อยู่ในชุมชนต้องการขยายตลาดอยู่ บางแห่งขายไม่ได้เลยก็มี ด้วยผลกระทบจากโควิด-19 เราจึงมีความมุ่งมั่นร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างเต็มความสามารถ และจะเป็นโครงการนำร่องที่มีความชัดเจนที่จะช่วยชุมชนและ นักศึกษา รวมถึงผู้ประกอบการ ยืนอยู่ได้อย่างมั่นใจในการใช้ชีวิตท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้

……………………………………….

www.ssru.ac.th
รวีโรจน์ สิงห์ลำพอง : รายงาน
อรวรรณ สุขมา : ภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *